กรุงเทพฯ 10 พ.ค.-กลุ่ม ปตท. โดย จีพีเอสซี เตรียมพร้อมลงทุน ระบบสำรองพลังงาน Energy Storage ปี2561หลังได้ลงได้สิทธิ์ จาก 24M สหรัฐอมริกา นำเทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน มาผลิตและจำหน่ายในภูมิภาคอาเซียน
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ ปตท. เปิดเผยว่า เปิดเผยว่า เมื่อเร็วนี้ คณะกรรมการ ปตท. และผู้บริหาร ได้ ไปดูงานที่สหรัฐอเมริกา และเป็นสักขีพยาน การลงนามข้อตกลงระหว่างบริษัท ในเครือคือบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด(มหาชน) หรือ จีพีเอสซี และบริษัท 24M Technologies ประเทศสหรัฐอเมริกา ในการนำเทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนของ 24M มาผลิตและจำหน่ายในภูมิภาคอาเซียน พร้อมต่อยอดธุรกิจที่จะนำไปสู่การพัฒนาโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน โดยมีแผนนำเทคโนโลยีมาผลิตและจำหน่ายในภูมิภาคอาเซียน
“เทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน เป็นเทรนด์และโอกาสของธุรกิจใหม่ ซึ่งเป็นการพัฒนาแบตเตอรี่ทั้งการใช้ในอุตสาหกรรมไฟฟ้าพลังงานทดแทน และรถยนต์ไฟฟ้า โดย ในส่วนของจีพีเอสซีที่จะลงทุนจะเน้นเรื่องการจำหน่ายในอุตสาหกรรมไฟฟ้า ปีนี้จะศึกษาแนวโน้ม ความเป็นไปได้ทางการตลาด และศักยภาพทั้งหมด โดยจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี2561 นับเป็นก้าวสำคัญของกลุ่ม ปตท. ในการพัฒนาธุรกิจใหม่ ควบคู่กับสร้างความมั่นคงทางพลังงาน” นายเทวินทร์ กล่าว
นายเทวินทร์ คาดว่า การก่อสร้างโรงงานดังกล่าวจะเกิดได้เร็วสุดในปี 2561 หากภายในปีนี้ มีความชัดเจนเกี่ยวกับการประเมินสภาพตลาดที่จะมารองรับความต้องการใช้งานแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนและการออกแบบเชิงวิศวกรรม ปัจจุบัน จีพีเอสซี ถือหุ้นใน บริษัท 24M Technologies ประมาณ 18% โดยเทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ของ 24M เป็นการเปลี่ยน Electrolyte จากของเหลวเป็น Semi-Solid State ทำให้สามารถลดขนาดและขั้นตอนการผลิตได้เร็วขึ้น และช่วยให้ต้นทุนการผลิตถูกลง ทำให้มีแบตเตอรี่ที่จะมารองรับการใช้งานในรูปแบบต่างๆในอนาคต เช่น ระบบสำรองในระบบไฟฟ้า (Energy Storage) ซึ่งจะช่วยให้การผลิตไฟฟ้าจากโรงงานไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ยังไม่เสถียรในการผลิตไฟฟ้า สามารถวางแผนเดินเครื่องโรงไฟฟ้าหลักได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดกำลังการผลิตสำรองสำหรับช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค)ได้
นอกจากนี้ คณะกรรมการ ปตท.ยังได้ดูงานรถยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี 2 แห่ง ในสหรัฐ คือ บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส หรือ จีเอ็ม และบริษัท เทสลา มอเตอร์ คาดว่า ในอนาคตเทคโนโลยีรถยนตไฟฟ้าจะเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น และจำเป็นต้องมีแบตเตอรี่สำรองเพื่อใช้งานในรถยนต์ไฟฟ้าด้วย
สำหรับเทคโนโลยีรถอีวี ในปัจจุบัน พบว่า ยังมีข้อจำกัด คือวิ่งได้น้อย และราคาแพง แต่บริษัทรถอีวี ได้พยายามแก้ปัญหาเหล่านี้ เช่น Chevrolet Bolt สามารถวิ่งได้ไกล 238 ไมล์ (380 กิโลเมตร) และ Tesla Model 3 ที่จะนำออกตลาดเร็วๆนี้ วิ่งได้ 210 ไมล์ (330 กิโลเมตร) หลังจากชารจ์แบตเตอรี่เต็มประสิทธิภาพ รถอีวีทั้ง 2 รุ่นนี้ ราคาประมาณ 35,000 ดอลลาร์ หรือ ราวกว่า 1 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลสหรัฐสนับสนุน โดยผู้ซื้อสามารถขอคืนภาษีเงินได้อีก 7,500 ดอลลาร์ ทำให้ราคาแข่งขันได้กับรถใช้น้ำมัน ส่วนการชาร์จไฟฟ้าเต็มแต่ละครั้งจะมีค่าใช้จ่ายไม่เกิน 200 บาท ภายใต้อัตราค่าไฟฟ้าปัจจุบันกว่า 3 บาทต่อหน่วย โดยชาร์จได้ทั้งแบบเสียบปลั๊กชาร์จที่บ้าน หรือที่ทำงาน ใช้เวลา 4-8 ชั่วโมง หรือแบบ Super Charger ที่รวดเร็วมากตามสถานี ที่กระจายทั่วสหรัฐใช้เวลาเพียง 20 นาที
ทั้ง 2 บริษัท ยังพัฒนาระบบเขื่อมต่อข้อมูล (Connectivity) ของรถกับโทรศัพท์ของผู้ขับ และระบบของบริษัทเอง ที่จะช่วยตรวจสอบสภาพรถ สื่อสารกับเจ้าของรถว่าต้องทำอะไรบ้างเวลาเกิดเหตุฉุกเฉินเช่น ให้ขับไปยังสถานีบริการที่ใกล้ที่สุด หรือให้ลงจากรถทันที ส่วนในกรณีเกิดอุบัติเหตุจนเจ้าของรถหมดสติสามารถระบุตำแหน่งรถ และส่งคนไปช่วยเหลือได้ทันที ทั้งนี้ 2 บริษัทดังกล่าวอยู่ระหว่างการขยายกำลังการผลิต โดย ปตท.ได้เชิญชวนให้พิจารณามาร่วมลงทุนสร้างโรงงานในประเทศไทยตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่รัฐบาลมีมาตรการสนับสนุนพลังงานสะอาด เพื่อพิ่มแรงจูงใจในการลงทุน
“รถอีวี จะเป็นที่นิยมมากขึ้น และจะเปลี่ยน life style ของคนใช้รถในหลายรูปแบบ ทาง กลุ่ม ปตท.จึงต้องศึกษางานรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่า พลังงานฟอสซิลยังเป็นพลังงานหลักไปอีกนาน เนื่องจากมีความสะดวกในการใช้งานมากกว่า ” นายเทวินทร์ กล่าว-สำนักข่าวไทย