กรุงเทพฯ 9 พ.ค. – บีโอไอเผย 3 ปีรัฐบาลประยุทธ์มีการลงทุนแล้ว 1.7 ล้านล้านบาท ไตรมาสแรกปีนี้ลงทุนจริง 80,000 ล้านบาท
นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แถลงภาพรวมการลงทุนจริงของโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่ปี 2559 ถึงไตรมาสแรกปี 2560 หรือตั้งแต่รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บริหารประเทศ 3 ปี พบว่า เกิดการลงทุนจากโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจนถึงไตรมาสแรกปีนี้รวม 1.7 ล้านล้านบาท ส่วนการลงทุนจริงเฉพาะไตรมาสแรก 80,000 ล้านบาท และเมื่อรวมลงทุนจริงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2559 ถึงไตรมาสแรกปีนี้มียอดรวม 570,000 ล้านบาท บีโอไอคาดว่าจะเกิดการลงทุนจริงจากโครงการอื่น ๆ ในช่วง 1-3 ปีจากนี้ไปอีกไม่น้อยกว่า 1 ล้านล้านบาท
สำหรับการยื่นโครงการขอรับส่งเสริมการลงทุนไตรมาสแรกปี 2560 (ม.ค.-มี.ค.) มียอดรวม 61,980 ล้านบาท จำนวน 293 โครงการ ตลอดปีนี้ตั้งเป้าหมายว่าจะมีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนรวม 600,000 ล้านบาท อันดับ 1 คือ ญี่ปุ่น รองลงมา คือ ฮ่องกง สิงคโปร์ และมาเลเซีย นักลงทุนฮ่องกงสนใจเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นหลังการสัมมนานักลงทุนฮ่องกงเมื่อเร็ว ๆ นี้ ส่วนยอดอนุมัติส่งเสริมการลงทุนโครงการนั้น ไตรมาสแรกปีนี้มียอดรวม 239,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ยอดยื่นโครงการขอรับส่งเสริมการลงทุนไม่สามารถเทียบกับไตรมาสสุดท้ายปี 2559 ได้เนื่องจากจะสิ้นสุดนโยบายคลัสเตอร์ของบีโอไอ ทำให้นักลงทุนยื่นโครงการขอรับส่งเสริมการลงทุนรวมกันสูงถึง 100,000 ล้านบาท ส่งผลให้ตลอดปี 2559 มียอดโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งปีรวม 580,000 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 450,000 ล้านบาท ยอดอนุมัติ 800,000 ล้านบาท
สำหรับบริษัทชั้นนำรายเดิมที่มีการลงทุนในประเทศไทยได้ขยายการลงทุนเพิ่มในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ปัจจุบันไทยเป็นฐานการผลิตของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์เกือบทุกค่าย บริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่ทุกรายของโลกได้เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยแล้ว โดยบริษัท สยามมิชลิน จำกัด ขยายการผลิตยางเรเดียลสำหรับยานพาหนะ บริษัท คอนติเนทอล ไทร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ขยายกิจการผลิตยางเรเดียล ยาง อิเล็กทรอนิกส์ เช่น มินิแบขยายการลงทุนผลิตชิ้ส่วนอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ยังขยายการลงทุนไปสู่การผลิตชิ้นส่วนอากาศยานด้วย ด้านโซนี่ ขยายการลงทุนไปผลิตสมาร์ทโฟนและชิ้นส่วน แนวโน้มจากการติดตามตัวเลขเหมือนว่าจะลดลง แต่ขณะนี้แนวโน้มเริ่มดีขึ้นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนเริ่มกลับเข้ามาในช่วงครึ่งปีหลังแสดงว่าการส่งออกของไทยมีแนวโน้มดี
สำหรับกลุ่มเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นักลงทุนญี่ปุ่น ยุโรป ชั้นนำในโลกก็เข้ามาลงทุนในไทยแล้วเช่นกัน เช่น บริษัท ชิน-เอทสุ ซิลิโคนส์ ผู้ผลิตซิลิโคนส์อันดับ 1 จากญี่ปุ่น มีการขยายการลงทุนครั้งที่ 3 ของบริษัท และบีโอไอชักชวนให้ย้ายการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนามาประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการต่อยอดอุตสาหกรรมเหล่านี้ให้ขยายกำลังการผลิตที่ต่อเนื่องไปได้
ทั้งนี้ บีโอไอจะประชาสัมพันธ์เพื่อเข้าถึงนักลงทุนกลุ่มเป้าหมายต่อไป ปีนี้จะมีการยื่นคำขอรับส่งเสริมการลงทุนในรถโดยสารไฟฟ้าขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) การลงทุนสถานีชาร์ทไฟสำหรับรถไฟฟ้าก็จะมีแนวโน้มเข้ามาขอรับส่งเสริมการลงทุนด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ นับเป็นผลสืบเนื่องจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอที่ให้สิทธิประโยชน์การลงทุน 8 ปีที่จะเริ่มเห็นผล และเข้มงวดมากขึ้นในการให้มีความร่วมมือภาคการศึกษาและสถาบันวิจัยในประเทศ โดยร่วมกับสถาบันการศึกษาตามนโยบายคลัสเตอร์ที่สิ้นสุดปี 2559 ปี 2560 ยังคงนโยบายเข้มข้นถ่ายทอดเทคโนโลยีลักษณะดังกล่าวต่อเนื่องไป.-สำนักข่าวไทย