จีน 8 พ.ค. – ซีไอเอ็มบีไทยชี้สินเชื่อไตรมาส 1/60 ยังขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ เหตุเอกชนลงทุนน้อย ขณะเดียวกันเตรียมปรับประมาณการเศรษฐกิจปีนี้
นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวประมาณร้อยละ 3 ฟื้นตัวจากปีก่อนเล็กน้อย แต่ยังห่วงการลงทุนภาคเอกชนที่ฟื้นตัวได้ช้า ซึ่งจะมีผลต่อการปล่อยสินเชื่อใหม่ของธนาคารพาณิชย์ คาดภาพรวมการขยายตัวของสินเชื่อปีนี้จะเติบโตร้อยละ 3 ซึ่งเติบโตต่ำกว่าศักยภาพที่ตามปกติสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ควรจะขยายตัว 1.5 เท่าของจีดีพี โดยสินเชื่อที่ยังเติบโตดีอยู่ในกลุ่มก่อสร้าง เชื่อมโยงกับการลงทุนภาครัฐ การลงทุนสาธารณูปโภค การท่องเที่ยวและอสังหาริมทรัพย์ ส่วนภาพรวมสินเชื่อของธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย คาดว่าขยายตัวร้อยละ 5-10
นายกิตติพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลกระทบจากเศรษฐกิจไทยเติบโตไม่มาก ลูกค้าของธนาคารบางส่วนมีการขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งธนาคารได้ติดตามอย่างใกล้ชิด โดยไตรมาส 1 ที่ผ่านมาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของธนาคารซีไอเอ็มบีไทยอยู่ที่ร้อยละ 5.1 สูงกว่าเอ็นพีแอลทั้งระบบที่อยู่ที่ร้อยละ 3 โดยธนาคารจะติดตามพอร์ตสินเชื่อของลูกค้าเพื่อรักษาระดับเอ็นพีแอลให้ต่ำกว่าร้อยละ 5 พร้อมกับมีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 95 จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 80 แต่ยังยืนยันว่าเอ็นพีแอลไม่ใช่ปัจจัยเสี่ยงที่กระทบต่อผลการดำเนินงานของธนาคาร เพราะธนาคารมีการเพิ่มทุน 5,500 ล้านบาทเมื่อต้นปี ทำให้มีฐานเงินทุนที่ใหญ่พอ เพื่อให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจ
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มไทย กล่าวว่า ธนาคารเตรียมปรับประมาณอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปีนี้ใหม่จากเดิมคาดการณ์ว่าโตร้อยละ 3.2 โดยจะรอการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 1/60 อย่างเป็นทางการของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่จะประกาศเศรษฐกิจ วันที่ 15 พฤษภาคมนี้ ซึ่งเดิมคาดว่าจีดีพีไตรมาส 1 จะขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 3 แต่ปัญหาภัยแล้งคลี่คลาย รายได้ของเกษตรกรดีขึ้น การส่งออกปรับตัวดีขึ้น ดังนั้น จีดีพีไตรมาสแรกอาจจะออกมาดีกว่าคาด
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่น่ากังวลมากที่สุดปีนี้ คือ การลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอตัวลงถึง 4 ปีซ้อนและมีความเสี่ยงจะชะลอตัวเป็นปีที่ 5 โดยเอกชนรายใหญ่ที่ฐานเงินทุนเข้มแข็งหันไปลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 7-8 สูงกว่าการลงทุนในไทยที่ขยายตัวแค่ร้อยละ 3 เท่านั้น ดังนั้นภาครัฐต้องเร่งเดินหน้าการลงทุนกระตุ้นความเชื่อมั่นโดยเฉพาะตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และการลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี จะต้องเกิดขึ้นต่อเนื่อง และได้รับการสานต่อไปจนถึงช่วงหลังการเลือกตั้งด้วย.-สำนักข่าวไทย