ทำเนียบรัฐบาล 4 พ.ค. – รัฐบาลเร่งพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ลดต้นทุนขนส่งสินค้า มอบหมายกรมศุลฯ เป็นแม่งานเชื่อมโยงข้อมูลช่องทางเดียวตรวจปล่อยสินค้า
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการและขนส่งสินค้า (กบส.) เห็นชอบหลักการร่างแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564) เพื่อยกระดับระบบโลจิสติกส์ของประเทศสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางทางการค้า การบริการและการลงทุนในภูมิภาค และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการในการเก็บเกี่ยวมูลค่าเพิ่มจากโซ่อุปทานและการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการบริหารจัดการโลจิสติกส์ การยกระดับการอำนวยความสะดวกทางการค้าให้ได้มาตรฐานสากล และการพัฒนาปัจจัยสนับสนุน อาทิ การพัฒนาบุคลากร การสร้างเครือข่ายความร่วมมือภาคเอกชน การติดตามประเมินผลการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นำความเห็นที่ประชุมไปปรับปรุงร่างแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ฯ ฉบับที่ 3 เพิ่ม ได้แก่ การสร้างความเชื่อมโยงทางการค้าเส้นทางสำคัญในภูมิภาคโดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV และความเชื่อมโยงกับจีน รวมทั้งเน้นการใช้ประโยชน์ของระบบ E-Commerce ให้มากขึ้น
นอกจากนี้ เห็นชอบแนวทางการจัดตั้งหน่วยงานบริหารจัดการและพัฒนาระบบ National Single Window (NSW) โดยมีกลไกการบริหารงานภายใต้คณะกรรมการ กบส. ในรูปแบบคณะอนุกรรมการพัฒนานโยบายและกำกับดูแลระบบ NSW และมอบหมายให้กรมศุลกากรเป็นเจ้าภาพรับไปดำเนินการปรับโครงสร้างองค์กรรองรับตามภารกิจที่เพิ่มขึ้นของการพัฒนาระบบงานแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเพื่อให้การพัฒนาระบบ NSW มีความต่อเนื่อง เพื่อเป็นแกนกลางเชื่อมโยงข้อมูลการตรวจปล่อยสินค้า มีประสิทธิภาพเป็นมาตรฐานสากลรองรับการพัฒนาสอดคล้องกับเงื่อนไขและการจัดอันดับมาตรฐานทางการค้าระหว่างประเทศ และมั่นใจว่าเมื่อธนาคารโลกเข้ามาตรวจสอบจะทำให้การจัดอันดับการอำนวยความสะดวกของภาคธุรกิจดีขึ้น
ที่ประชุมยังรับทราบผลการดำเนินงานการพัฒนาระบบโลจิสติส์ (1) ด้านการเกษตรปี 2559 สามารถสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างสหกรณ์จังหวัด 10,458 แห่ง พัฒนาด่านสินค้า 7 แห่ง และพัฒนาความรู้การใช้เครื่องจักรกล 3,000 คน ปี 2560 มีแผนการดำเนินงานการพัฒนาโครงสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวก การพัฒนาเครือข่ายและสร้างโซ่คุณค่าและการเชื่อมโยงข้อมูลทางการค้าและบริการสินค้าเกษตร รวมทั้งอยู่ระหว่างการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ภาคการเกษตร ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2560-2564) (2) ด้านอุตสาหกรรม ปี 2559 สามารถพัฒนาสถานประกอบการ 319 ราย ลดต้นทุนโลจิสติกส์อุตสาหกรรม 2,940 ล้านบาท และพัฒนาบุคลากร 6,075 คน ปี 2560 มีแผนการดำเนินการพัฒนาสถานประกอบการ บุคลากร และการลดต้นทุนโลจิสติกส์ รวมทั้งอยู่ระหว่างการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์อุตสาหกรรม ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2560-2564) และ (3) การเชื่อมโยงข้อมูลแบบบูรณาการสำหรับการนำเข้า ส่งออก และโลจิสติกส์ (NSW) สามารถเชื่อมโยงข้อมูลผ่านพิธีการศุลกากรระหว่างกรมศุลกากรและผู้ประกอบการได้ 100 % รวม 36 หน่วยงาน และสามารถดำเนินการโครงการนำร่อง ASW เชื่อมโยงข้อมูลรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าอาเซียน (ATIGA FORM D) .-สำนักข่าวไทย