กทม.2 พ.ค.-สถาบันมะเร็งฯ จัดอบรมการทำทะเบียนมะเร็งขั้นพื้นฐาน มุ่งพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์สาขาโรคมะเร็ง เพื่อประโยชน์ในการรักษาและดูแลผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวหลังเป็นประธานเปิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “การทำทะเบียนมะเร็งขั้นพื้นฐาน” ว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของผู้คนทั่วโลก และมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น องค์การอนามัยโลก พบว่า ในปี 2551 มีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งประมาณ 7.6 ล้านคนและเพิ่มเป็น 8.2 ล้านคนในปี 2555 และคาดการณ์ว่าปี 2573 จะมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 13 ล้านคน โดยประเทศไทยจากข้อมูลพบว่า คนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งประมาณ 60,000 คนต่อปีหรือเฉลี่ยชั่วโมงละเกือบ 7 ราย โดย 5 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และมะเร็งปากมดลูก กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดแผนการจัดระบบสุขภาพโดยแบ่งเป็นเขตสุขภาพ 13 เขต มีการพัฒนาระบบบริการที่ตอบสนองต่อปัญหาสาธารณสุขทั้งหมด 10 สาขา รวมถึงสาขาโรคมะเร็ง กรมการแพทย์ จึงจัดทำแผนการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งให้เหมาะสมกับโครงสร้างและทรัพยากรของประเทศ
ทั้งนี้ หลักการสำคัญคือการป้องกัน คัดกรองและค้นหาโรคในระยะเริ่มแรก มีการรักษาและดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง รวมถึงเฝ้าระวังติดตาม การจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับโรคมะเร็งไว้เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลโรค มะเร็งชนิดต่างๆในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนอุบัติการณ์การเกิดโรค และการเสียชีวิต ซึ่งข้อมูลดังกล่าวมีความสำคัญในการประเมินปัญหาเพื่อนำไปสู่การวางนโยบายและยุทธศาสตร์การป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งต่อไป
นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดทำทะเบียนมะเร็ง เป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานที่ทำให้ทราบถึงอัตราการเกิดโรค อัตราการเสียชีวิตและแนวโน้มการเกิดโรค เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนป้องกันควบคุมโรค ตลอดจนใช้ติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ รับผิดชอบการจัดทำทะเบียนมะเร็งของประเทศไทย และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้บุคลากรหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงจัดอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “การทำทะเบียนมะเร็งขั้นพื้นฐาน” ระหว่างวันนี้ (2พ.ค.) และวันพรุ่งนี้ (3พ.ค.)เพื่อให้บุคลากรที่รับผิดชอบด้านจัดทำทะเบียนมะเร็ง อาทิ พยาบาล เจ้าหน้าที่เวชสถิติ เจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์จากโรงพยาบาลต่างๆในเขตพื้นที่บริการสุขภาพที่ 13 กรุงเทพมหานคร สามารถเรียนรู้และสร้างทีมเครือข่าย รวมถึงฝึกทักษะต่าง ๆ ในการจัดทำข้อมูลทะเบียนมะเร็ง เช่น การเรียนรู้วิธีใช้โปรแกรม Thai Cancer Base ซึ่งจะรวบรวมข้อมูลการวินิจฉัย ข้อมูลทางพยาธิวิทยาและข้อมูลการรักษาผู้ป่วยแต่ละคนไว้อย่างครบถ้วน เพื่อประโยชน์ต่อการรักษาและดูแลผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและได้ทะเบียนมะเร็งตรงตามมาตรฐานของสถาบัน IARC (International Agency for Research on Cancer/WHO) ซึ่งเป็นที่ยอมรับใช้อ้างอิงได้ทั้งในและต่างประเทศ .-สำนักข่าวไทย