กทม. 1 พ.ค. – วันนี้เป็นวันแรงงาน แต่เชื่อว่าคนทำงานทุกคนอยากทราบทิศทางการจ้างงานในประเทศที่มีผลต่ออาชีพ ความมั่นคงของรายได้ในอนาคต ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มีข้อมูลน่าสนใจ
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการศึกษาสภาพการจ้างงานของไทยในปัจจุบัน พบว่าอัตราการจ้างงานในไทยแม้จะเพิ่มขึ้นไม่มาก โดยค่อยๆปรับตัวดีขึ้นตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ไทยก็เป็นประเทศที่มีอัตราการว่างงานต่ำ โดยในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา มีอัตราว่างงานเพียงร้อยละ 1 จุด 3 และหากเศรษฐกิจฟื้นตัวเต็มที่ก็จะอยู่ต่ำกว่าร้อยละ 1 ถือว่าเป็นอัตราต่ำในระดับต้นๆ ของโลก
สภาวะปัจจุบันไทยอยู่ในภาวะขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะในประเภทงานรับจ้างที่คนไทยไม่อยากทำ ส่งผลให้ต้องนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทดแทนกว่า 3 ล้านคน แต่หากพิจารณาลงลึกแบ่งกลุ่มแรงงานที่มีโอกาสถูกเลิกจ้าง กับกลุ่มที่จะยังมีความมั่นคงในการจ้างต่อไปนั้น กลุ่มอาจถูกเลิกจ้างอยู่ในอุตสาหกรรมผลิตที่ไม่ดี จากการปรับตัวรองรับการแข่งขันไม่ได้ และทำให้แรงงานเสี่ยงตกงานไปด้วย เช่น อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าที่ไม่ใช่งานดีไซน์ หรือใช้ฝีมือ งานกลุ่มเกษตรกรรมที่รอการปรับตัวของราคาผลผลิตปลายปี และร้านโชห่วย ส่วนธุรกิจดาวรุ่งที่มีความต้องการแรงงานเติบโต คือ ธุรกิจก่อสร้าง ตามทิศทางการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ งานบริการท่องเที่ยว และไอที
อย่างไรก็ตาม แม้สภาพการจ้างงานในไทย ผู้ทำงานยังมีความเสี่ยงต่ำในการถูกเลิกจ้าง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ใช้แรงงานจะไม่ต้องปรับตัว เพราะในอนาคต งานทุกประเภทจำเป็นต้องได้แรงงานที่มีทักษะสูงขึ้น
ส่วนการใช้แรงงานต่างด้าว ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจประเมินว่า ยังจำเป็นต้องมีต่อไป ตามทิศทางความต้องการแรงงาน เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวเต็มที่ ขณะที่ไทยก็ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้การจ้างงานจะขยายฐานสู่ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60-70 ปีมากขึ้นด้วย .- สำนักข่าวไทย