ลำปาง 29 เม.ย. – ชาวบ้านร่วมแสดงความเห็นการสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนแม่เมาะ 4 – 7 กฟผ.พร้อมนำข้อเสนอแนะกำหนดมาตรการลดข้อกังวลของชาวแม่เมาะ
นางเบญจภรณ์ บุญยพุกกณะ ผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด จัดเวทีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Public Scoping หรือ ค.1) เป็นหนึ่งในขั้นตอนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4 – 7 ณ วิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการ กฟผ. แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.00 น. นับว่าได้มีชาวแม่เมาะ เข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นทุกภาคส่วน จำนวน 2,647 คน มีผู้แสดงความคิดเห็นด้วยวาจา จำนวน 59 คน
สำหรับสิ่งที่ประชาชนมีความกังวล เช่น ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การบริหารงบประมาณของกองทุนพัฒนารอบโรงไฟฟ้า การดูแลด้านสุขภาพและสาธารณูปโภคให้ทั่วถึงยิ่งขึ้น เป็นต้น โดยข้อคิดเห็นของประชาชนทั้งหมด บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด เตรียมนำไปกำหนดขอบเขตและหามาตรการเพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุมข้อห่วงกังวลของประชาชนในพื้นที่ทั้ง 5 ตำบล ได้แก่ ต.สบป้าด ต.จางเหนือ ต.นาสัก ต.บ้านดง และ ต.แม่เมาะ ต่อไป และหลังจากนี้จะเป็นการทำ ค.2 (Public Screening) โดยการลงพื้นที่เพื่อสัมภาษณ์และพูดคุยกับกลุ่มประชาชนในพื้นที่ศึกษาอย่างใกล้ชิด หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนการทบทวนและรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรายงาน EHIA หรือ ค.3 (Public Review) ต่อไป
ว่าที่พันตรี ดร. อนุชาต ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการชุมชนสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อมโครงการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ชาวแม่เมาะให้ความร่วมมือมารับฟังและแสดงความคิดเห็นกันอย่างเนืองแน่น จึงเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดกรอบการจัดทำแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในขั้นตอนต่อไป โดย กฟผ. และบริษัท ทีมฯ จะดำเนินการให้ครอบคลุมทุกข้อห่วงกังวล เพื่อให้การจัดทำ ค.2 และ ค.3 เป็นไปอย่างสมบูรณ์ที่สุด โดยประชาชนได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ส่วนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ขนาด 655 เมกกะวัตต์ ที่ได้มีการขนย้ายมายัง กฟผ.แล้วนั้น จะยังไม่สามารถเปิดใช้งานได้จนกว่าขบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน( EHIA) จะผ่านความเห็นชอบ และนำไปประกอบการขออนุญาตในการผลิตไฟฟ้าได้ก่อนเท่านั้น
ทั้งนี้ ประชาชนยังสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมสามารถแสดงความคิดเห็นผ่านช่องอื่นๆ ที่ได้จัดเตรียมไว้ เช่น ส่งไปรษณียบัตร โทรศัพท์ และโทรสาร ภายใน 15 วัน หลังจากวันที่รับฟังความคิดเห็นฯ ถึงวันที่ 14 พฤษภาคม 2560 สำหรับประชาชนที่ต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ คุณวีณิฐฐา วรเกียรติธนากร และ คุณรัตติยา งามประดิษฐ์ บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด 151 อาคารทีม ถนนนวลจันทร์ แขวงนวลจันทร์ เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ 10230 โทรศัพท์ 0-2509-9000 กด 3201-5 ต่อ 104, 106 โทรสาร 0-2509-9109
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเวลา 15.00 น.เศษวันที่ 29 เมษายน เวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ค1) โครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่4-7 ส่วนขยายกำลังการผลิตจาก 600 เมกะวัตต์ และเพิ่มเป็น 655 เมกะวัตต์ ครั้งที่2 จบสิ้นลงด้วยดี แม้เริ่มต้นดูจะวุ่นวาย เนื่องจากผู้แสดงความคิดเห็นไม่พอใจที่เปิดโอกาสให้พูดน้อย.-สำนักข่าวไทย