กรุงเทพฯ 17 เม.ย. – ธพ.เล็งเพิ่มสำรองแอลพีจีจาก 3 วันครึ่ง เป็น 10 วัน และห้ามผู้นำเข้าใช้คลังลอยน้ำหลังใช้ครบ 3 ปี เพื่อความปลอดภัย หวังเพิ่มความมั่นคงพลังงานรองรับก๊าซธรรมชาติอ่าวไทยลดลงใน 4-5 ปีข้างหน้า
นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานเตรียมแผนรองรับปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ลดลง เพราะไม่ใช่เพียงต้องนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีวีมาผลิตไฟฟ้าเท่านั้น การนำเข้าก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ต้องเพิ่มขึ้นด้วย โดยจะเริ่มเห็นชัดเจนใน 4-5 ปีข้างหน้า การนำเข้าแอลพีจีจะมากกว่า 100,000 ตันต่อเดือน จากที่ขณะนี้อยู่ที่ประมาณกว่า 20,000 ตันต่อเดือน โดยที่ผ่านมากระทรวงฯ ดำเนินการเปิดเสรีธุรกิจแอลพีจีและเตรียมแผนเพิ่มสำรองก๊าซแอลพีจี โดยจะกำหนดให้ผู้ค้ามาตรา 7 ต้องสำรองแอลพีจีจากปัจจุบันร้อยละ 1 (3วันครึ่ง) เป็นร้อยละ 2.5 (10วัน) โดยจะมีผลบังคับวันที่ 1 มกราคม 2564
“ตลาดแอลพีจีคล้ายกับน้ำมัน ต้องมีการสั่งนำเข้า ดังนั้น เพื่อความมั่นคงต้องมีสำรองเพิ่มขึ้น โดยที่คิดเป็น 10 วันมาจากไทยต้องนำเข้าแอลพีจีจากตะวันออกกลางจะเดินทางถึงไทย 15 วัน ซึ่งขณะนี้มีผู้ประกอบการหลายรายสามารถซื้อแอลพีจีได้มากขึ้น ดังนั้น สำรองจึงควรเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 10 วัน และการที่กำหนดล่วงหน้า 3-4 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการมีระยะเวลาสร้างคลังถึง 3 -4 ปี” นายวิฑูรย์ กล่าว
นอกจากนี้ ธพ.ทำหนังสือแจ้งไปยังกรมเจ้าท่า เพื่อให้เรือลอยน้ำที่ใช้เป็นคลังชั่วคราวในการนำเข้าแอลพีจี(Ship to Ship )ของผู้ประกอบการทุกราย เช่ย บมจ.สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ ซึ่งปัจุบันเป็นเอกชนที่นำเข้าจำหน่ายในประเทศเป็นรายแรกให้ใช้ระบบคลังลอยน้ำได้ไม่เกิน 3 ปี เนื่องจากต้องการให้เกิดการสร้างคลังบนบกแทน เพื่อความปลอดภัย
สำหรับการเปิดเสรีนำเข้าแอลพีจี ทางกระทรวงพลังงานเริ่มเปิดให้ยื่นนำเข้า เพื่อจำหน่ายในประเทศตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2560 เพื่อนำเข้าจริงเดือนมีนาคม โดยให้ทำแผนนำเข้าล่วงหน้า 3 เดือน แต่ล่าสุดปรับเป็น 6 เดือน เพื่อเกิดความยืดหยุ่นให้กับเอกชนได้ไปทำสัญญาซื้อขายที่มีโอกาสจะเป็นระยะยาวได้มากขึ้นซึ่งอาจจะเป็นผลดีในแง่ของราคาต่ำลง ซึ่งพบว่าเดือนมกราคมที่ผ่านมามีเพียงสยามแก๊สฯ นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศเพียงรายเดียว แต่ขณะนี้ยังมีเอกชน 1-2 รายใหม่แสดงความสนใจที่จะนำเข้าแอลพีจีเพื่อจำหน่ายประเทศไทยส่วนหนึ่งและจะส่งออกส่วนหนึ่ง โดยใช้ไทยเป็นฐานการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน แต่ยังไม่ได้ยื่นขออย่างเป็นทางการ ขณะที่เครือซิเมนต์ไทยยื่นขอเป็นผู้ค้า ม.7 มาจำนวน 2 บริษัท เพื่อนำเข้าแอลพีจีเฉพาะการใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเท่านั้น
“การนำเข้านั้นไม่ใช่ว่าเอกชนจะเสียเปรียบ บมจ.ปตท. เพราะกรณีของสยามแก๊สฯ สามารถทำราคาถูกกว่า.ปตท.ถึง 10 เหรียญฯ ต่อตัน เพราะสามารถนำเข้ายืดหยุ่นกว่า เช่น การนำเข้าจากอิหร่าน ที่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) บอยคอต ส่งผลให้ ปตท.ในฐานะหน่วยงานของรัฐไม่สามารถซื้อได้ เรื่องนี้ก็นับว่าเกิดการแข่งขันที่เป็นผลดีต่อประชาชน” นายวิฑูรย์ กล่าว
สำหรับภาพรวมสถานีบริการจำหน่ายแอลพีจีเพื่อยานยนต์ขณะนี้มี 2,070 แห่ง โดยไม่มีการขอเปิดเพิ่ม เนื่องจากราคาน้ำมันต่ำลงและราคาแอลพีจีกึ่งลอยตัว ทำให้ผู้ใช้รถยนต์หันไปใช้น้ำมันทดแทน อย่างไรก็ตาม ปั๊มแอลพีจีส่วนหนึ่งปรับปรุงปั๊มจำหน่ายน้ำมันด้วย ส่วนปั๊มจำหน่ายเอ็นจีวีขณะนี้มีอยู่ 490 แห่งการใช้ยังคงทรงตัว. -สำนักข่าวไทย