อู่ฮั่น, 27 ธ.ค. (ซินหัว) — เมื่อวันจันทร์ (26 ธ.ค.) สำนักวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวมณฑลหูเป่ยทางตอนกลางของจีน ประกาศความสำเร็จในการขุดฟอสซิล “กะโหลกของมนุษย์อวิ๋นเซี่ยน หมายเลข 3” และคณะนักวิจัยได้เริ่มซ่อมแซมและทำการวิจัยกะโหลกดังกล่าวแล้ว
กะโหลกชิ้นนี้ถูกเชื่อว่าเป็นตัวอย่างมนุษย์โบราณโฮโม อีเร็กตัส (Homo erectus) สภาพสมบูรณ์ที่สุดจากยุคเดียวกันที่พบในแผ่นดินทวีปยูเรเชีย โดยถูกพบเมื่อวันที่ 18 พ.ค. บริเวณซากโบราณยุคหินเก่าตอนต้นในมณฑลหูเป่ย ซึ่งเป็นบริเวณเดียวกับที่มีการค้นพบกะโหลกชิ้นแรกและชิ้นที่สอง อายุระหว่าง 800,000-1.1 ล้านปี ในปี 1989 และ 1990 ตามลำดับ
รายงานระบุว่าการขุดค้นเผชิญอุปสรรคหลายประการ เนื่องจากกะโหลกชิ้นที่ 3 ถูกล้อมรอบไปด้วยฟอสซิลสัตว์หลายชิ้น ซึ่งนักโบราณคดีต้องใช้เวลา 6 เดือน เพื่อกำจัดหินที่อยู่รอบกะโหลกและแยกฟอสซิลมนุษย์ออกจากฟอสซิลสัตว์และวัตถุหิน
ลู่เฉิงชิว ผู้อำนวยการโครงการขุดค้น ระบุว่าทีมวิจัยทำการสร้างแบบจำลองสามมิติมากกว่า 20 ครั้ง ถ่ายภาพมากกว่า 200,000 ภาพ ถ่ายวิดีโอกระบวนการขุดค้นทั้งหมด และเก็บตัวอย่างตะกอนมากกว่า 1,400 รายการ
ด้านเกาซิง นักวิจัยสถาบันบรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลังและมานุษยวิทยาบรรพกาล (IVPP) สังกัดสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน (CAS) กล่าวว่ากะโหลกชิ้นที่ 3 สภาพสมบูรณ์นี้จะช่วยเติมเต็มช่องว่างการวิจัยที่ขาดหายไปจากลักษณะผิดรูปของกะโหลก 2 ชิ้นแรก อีกทั้งจะยังเป็นหลักฐานสำคัญสำหรับวิวัฒนาการของมนุษย์โฮโม อีเร็กตัส ตลอดจนต้นกำเนิดและพัฒนาการของมนุษย์สายพันธุ์นี้ในเอเชียตะวันออก
อนึ่ง เครื่องมือหินจำนวนมากที่พบบริเวณซากโบราณยังพิสูจน์ว่ามนุษย์อวิ๋นเซี่ยนสามารถล่าสัตว์ รวมถึงผลิตและใช้เครื่องมือเมื่อหลายล้านปีก่อน โดยยังมีการขุดพบฟอสซิลของสัตว์กินพืชหลายชนิดในบริเวณเดียวกัน เช่น ช้าง ม้า และวัวควาย ซึ่งนักวิจัยสันนิษฐานว่าเป็นซากอาหารของมนุษย์อวิ๋นเซี่ยน – สำนักข่าวซินหัว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง https://www.xinhuathai.com/vdo/328883_20221227
ขอบคุณภาพจาก Xinhua