ธนาคารโลกยังไม่มีแผนเสนอความช่วยเหลือใหม่ให้ศรีลังกา

วอชิงตัน 29 ก.ค.- ธนาคารโลกยังไม่มีแผนการเสนอความช่วยเหลือทางการเงินครั้งใหม่ให้แก่ศรีลังกาที่กำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อ 74 ปีก่อน ธนาคารโลกแถลงว่า ศรีลังกาจำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างที่เน้นเรื่องการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และแก้ไขที่รากเหง้าของวิกฤตที่ทำให้ประเทศขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ อาหาร เชื้อเพลิง และยา ธนาคารโลกกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์เศรษฐกิจเลวร้ายและผลกระทบต่อประชาชนของศรีลังกา จึงได้กำลังปรับเปลี่ยนความช่วยเหลือภายใต้สินเชื่อปัจจุบันไปช่วยบรรเทาการขาดแคลนสิ่งจำเป็น เช่น ยา ก๊าซหุงต้ม และอาหารสำหรับเด็ก ๆ และเงินสดสำหรับครัวเรือนเปราะบาง และได้กำหนดวิธีการกำกับดูแลเพื่อให้มีการแจกจ่ายทรัพยากรเหล่านี้อย่างเป็นธรรม อดีตประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษาของศรีลังกาเผยขณะยังอยู่ในตำแหน่งเมื่อเดือนมิถุนายนว่า ธนาคารโลกจะปรับปรุงโครงสร้างของโครงการปัจจุบัน 17 โครงการ และจะจัดสรรความช่วยเหลือเพิ่มเติม หลังจากสามารถสรุปการเจรจาเรื่องสินเชื่อกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ (IMF) อย่างไรก็ดี นายราชปักษาได้หนีออกนอกประเทศและลาออกที่สิงคโปร์ หลังจากประชาชนบุกบ้านพักและทำเนียบประธานาธิบดี ปัจจุบันศรีลังกายังอยู่ภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ใช้มาตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม.-สำนักข่าวไทย

หลายประเทศอาจเผชิญชะตากรรมเดียวกับศรีลังกา

วอชิงตัน 18 ก.ค.- กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ (IMF) เตือนว่า หลายประเทศอาจเผชิญชะตากรรมเดียวกับศรีลังกาที่ตกอยู่ในวิกฤติเศรษฐกิจร้ายแรงที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งจุดชนวนให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ และผู้นำต้องหนีออกนอกประเทศ เว็บไซต์บรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงแห่งอังกฤษหรือบีบีซี (BBC) อ้างคำกล่าวของนางคริสตาลินา จอร์เจียวา กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟเมื่อวันเสาร์ว่า ประเทศที่มีหนี้สินสูงและมีความจำกัดในการดำเนินนโยบายจะเผชิญกับความตึงตัวเพิ่มเติม เธอยกศรีลังกาขึ้นเป็นตัวอย่างว่า มีปัญหาในการชำระค่าสินค้านำเข้าจำเป็น เพราะเผชิญวิกฤติอัตราแลกเปลี่ยน เงินเฟ้อสูงถึงร้อยละ 50 ราคาอาหารแพงขึ้นจากปีก่อนถึงร้อยละ 80 เงินรูปีศรีลังกาอ่อนค่าอย่างมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐและสกุลเงินหลักอื่น ๆ ศรีลังกามีหนี้พอกพูนจนกลายเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศในรอบ 20 ปีเมื่อเดือนมิถุนายน บีบีซีวิเคราะห์สภาพเศรษฐกิจของ สปป.ลาว ปากีสถาน มัลดีฟส์ และบังกลาเทศว่ามีแนวโน้มจะเดินตามรอยศรีลังกา สปป.ลาวมีประชากรมากกว่า 7 ล้าน 5 แสนคน เป็นคนยากจนถึง 1 ใน 3 สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ทำให้น้ำมันแพงทำให้ค่าครองชีพสูงยิ่งขึ้นไปอีก เงินกีบลาวเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงกว่า 1 ใน 3 แล้วในปีนี้ การที่สหรัฐขึ้นอัตราดอกเบี้ยทำให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่ายิ่งขึ้น เป็นเหตุให้เงินกีบอ่อนค่าลงอีก และสินค้านำเข้ามีราคาสูงขึ้น ธนาคารโลกระบุว่า สปป.ลาวมีทุนสำรอง 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว […]

ศรีลังกากลับเข้าสู่ความสงบในวันนี้

โคลัมโบ 10 ก.ค.- ศรีลังกากลับเข้าสู่ความสงบแล้วในวันนี้ หลังจากประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีประกาศลาออก ชาวศรีลังกาบางส่วนถือโอกาสเข้าไปเดินดูในทำเนียบประธานาธิบดีที่ถูกผู้ประท้วงเข้าบุกไปเมื่อวานนี้ ชาวศรีลังกาจำนวนหนึ่งเดินเข้าไปสำรวจในตัวอาคารทำเนียบประธานาธิบดีที่ก่อสร้างสมัยที่อังกฤษยังเป็นเจ้าอาณานิคม โดยมีเจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงยืนถือปืนยาวรักษาความเรียบร้อยอยู่ ด้านข้างบันไดหลักซึ่งเสียหายบางส่วนมีป้ายเขียนด้วยลายมือติดไว้ว่า ดูได้เต็มที่ แต่อย่าขโมย แม่ขายขายผ้าเช็ดหน้าวัย 61 ปีกล่าวขณะพาบุตรสาวและหลาน ๆ เดินดูห้องนอนชั้นล่างของอาคารว่า ในชีวิตไม่เคยเห็นสถานที่แบบนี้มาก่อน ผู้บริหารประเทศใช้ชีวิตสุดหรูหราในขณะที่ชาวบ้านเดือดร้อน ชาวบ้านถูกหลอกลวง เธออยากให้ลูกหลานได้มาเห็นด้วยตาตัวเอง ชายศรีลังกาที่นอนเหยียดยาวบนโซฟาไม้ที่แกะสลักอย่างหรูหราเผยว่า นอนค้างในทำเนียบประธานาธิบดีตั้งแต่บุกเข้ามาพร้อมกับผู้ประท้วงเมื่อวันเสาร์ ส่วนสระว่ายน้ำที่ผู้ประท้วงพากันกระโดดลงไปเล่น วันนี้ไม่มีใครเล่นแล้ว เหลือแต่น้ำขุ่นสกปรก ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ (IMF) ที่กำลังเจรจากับรัฐบาลศรีลังกาเรื่องความช่วยเหลือมูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 107,556 ล้านบาท) แถลงวันนี้ว่า กำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หวังว่าศรีลังกาจะมีหนทางแก้ไขสถานการณ์ปัจจุบันที่เอื้อให้สามารถฟื้นการเจรจาได้อีกครั้ง.-สำนักข่าวไทย

IMF ชี้สหรัฐรอดจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ยาก

ผอ.ไอเอ็มเอฟ ระบุการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวลดลง และสหรัฐจะรอดจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ยากมาก เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐยังไม่มั่นคง

ศรีลังกาเริ่มชัตดาวน์ 2 สัปดาห์ตั้งแต่วันนี้

โคลัมโบ 20 มิ.ย.- ศรีลังกาปิดโรงเรียนและบริการของรัฐบาลที่ไม่จำเป็นทั้งหมดเป็นเวลา 2 สัปดาห์ เริ่มตั้งแต่วันนี้ เพื่อสงวนเชื้อเพลิงที่มีปริมาณลดลงอย่างรวดเร็ว ควบคู่ไปกับเปิดเจรจาขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ (IMF) ศรีลังกาที่มีประชากร 22 ล้านคนกำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงที่สุด หลังจากไม่มีเงินชำระค่าสินค้านำเข้าที่จำเป็น รวมทั้งน้ำมัน รัฐบาลหาทางลดการเดินทางและลดการใช้น้ำมันด้วยการสั่งให้โรงเรียนหยุดการเรียนการสอน และหน่วยงานรัฐบาลที่ไม่จำเป็นหยุดงานเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ขณะที่ผู้ขับขี่ยวดยานยังคงเข้าแถวยาวเหยียดหน้าสถานีบริการน้ำมัน แม้กระทรวงพลังงานแจ้งว่า จะไม่มีน้ำมันใหม่เข้ามาอย่างน้อย 3 วัน ขณะเดียวกันศรีลังกาได้เปิดการหารือกับไอเอ็มเอฟแบบพบหน้าที่กรุงโคลัมโบในวันนี้เพื่อขอความช่วยเหลือทางการเงิน คาดว่าจะหารือจะดำเนินไปเป็นเวลา 10 วัน ศรีลังกาผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศ 51,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.8 ล้านล้านบาท) ในเดือนเมษายน มีอัตราเงินเฟ้อสูงเป็นประวัติการณ์ และต้องหมุนเวียนดับไฟหลายชั่วโมง นำมาซึ่งการประท้วงนานหลายเดือน เรียกร้องให้ประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษาลาออก และบางครั้งเกิดความรุนแรง ด้านสหประชาชาติหรือยูเอ็นได้เริ่มโครงการช่วยเหลือฉุกเฉินสตรีมีครรภ์จำนวนมากที่กำลังเผชิญภาวะขาดแคลนอาหาร หลังจากพบว่าชาวศรีลังกา 4 ใน 5 คนต้องอดมื้อกินมื้อแล้ว และเสี่ยงจะเกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรม.-สำนักข่าวไทย

IMF ชี้รัฐบาลควรอุดหนุนราคาอาหาร-พลังงานให้คนจน

กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ (IMF) ชี้ว่า รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ควรอุดหนุนราคาอาหารและพลังงานให้แก่กลุ่มคนที่ยากจนที่สุดในสังคม ในยามที่คนทั่วโลกกำลังประสบปัญหาค่าครองชีพสูงขึ้น

IMF ชี้เยนอ่อนค่าเร็วอาจกระทบเศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัว

วอชิงตัน 25 เม.ย.- กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ (IMF) เตือนว่า เงินเยนญี่ปุ่นที่อ่อนค่าอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ อาจเป็นอุปสรรคต่อการที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะฟื้นตัวอย่างมั่นคงจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 นายรานิล ซัลกาโด หัวหน้าคณะทำงานด้านญี่ปุ่นของไอเอ็มเอฟให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเกียวโดนิวส์ของญี่ปุ่นเมื่อไม่นานมานี้ว่า เยนที่อ่อนค่าที่สุดในรอบ 20 ปีเมื่อสัปดาห์ที่แล้วสะท้อนภาพธนาคารกลางญี่ปุ่นหรือบีโอเจ (BOJ) ที่ยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย สวนทางกับธนาคารกลางเศรษฐกิจใหญ่อื่น ๆ ที่พากันดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด เขามองว่า บีโอเจควรคงนโยบายนี้ต่อไปจนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะบรรลุเป้าหมายที่ร้อยละ 2 เพราะอัตราเงินเฟ้อจะลดลงทันทีที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์นำเข้าเริ่มลดลง อัตราเงินฟ้อญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 จากปีก่อน เร็วที่สุดในช่วง 2 ปี แต่ยังคงห่างจากเป้าหมายอยู่มาก อย่างไรก็ดี เยนที่อ่อนค่าอย่างรวดเร็วอาจทำให้ความต้องการในประเทศลดลง และสินค้านำเข้ามีราคาแพงขึ้น เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เยนเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงแล้วเกือบร้อยละ 15 ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม โดยหลุดแนวรับที่ 129 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐไปเมื่อวันพุธที่แล้ว ปกติแล้วเยนที่อ่อนค่าจะเป็นผลดีต่อการส่งออก เพราะจะทำให้ได้กำไรมากขึ้นเมื่อแลกเงินต่างประเทศกลับเป็นเงินเยน และทำให้สินค้าญี่ปุ่นมีราคาถูกเมื่อเทียบกับสินค้าประเทศอื่น แต่ขณะเดียวกันจะเป็นผลเสียต่อญี่ปุ่นที่ต้องนำเข้าพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ เพราะต้องจ่ายแพงขึ้น คาดว่าบีโอเจจะคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปในการประชุมวันพุธและวันพฤหัสบดีนี้.-สำนักข่าวไทย

ตลาดหุ้นศรีลังกาพักการซื้อขายอีกหลังหยุดไป 2 สัปดาห์

โคลัมโบ 25 เม.ย.- ตลาดหลักทรัพย์ศรีลังกาพักการซื้อขายในวันนี้ เนื่องจากดัชนีร่วงไปเกือบร้อยละ 13 ทั้งที่เพิ่งเปิดการซื้อขายในวันนี้ ตลาดหลักทรัพย์โคลัมโบเปิดการซื้อขายวันนี้เป็นวันแรก หลังจากหยุดยาว 1 สัปดาห์เนื่องในวันปีใหม่ศรีลังกา ตามด้วยการหยุดซื้อขายอีก 5 วัน หลังจากรัฐบาลประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย และผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศ 51,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.73 ล้านล้านบาท) ดัชนีเอสแอนด์พีของศรีลังการ่วงลงทันทีร้อยละ 7 ในนาทีแรกที่เปิดการซื้อขายวันนี้ เกินเกณฑ์ที่ต้องพักการซื้อขายอัตโนมัติ 30 นาที เมื่อดัชนีลดลงมากกว่าร้อยละ 5 และเมื่อเปิดการซื้อขายอีกครั้งดัชนีก็ลดลงอย่างรวดเร็ว จนตลาดต้องประกาศพักการซื้อขายตลอดทั้งวันนี้ ศรีลังกากำลังเชิญวิกฤตเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงที่สุดตั้งแต่ได้รับเอกราชในปี 2491 เกิดภาวะขาดแคลนอาหารและเชื้อเพลิงอย่างหนัก จนต้องดับไฟหลายชั่วโมงตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา มูลค่าหลักทรัพย์ลดลงเกือบร้อยละ 40 แล้วตั้งแต่เดือนมกราคม เช่นเดียวกับรูปีศรีลังกาเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลงเกือบร้อยละ 40 ในเดือนที่ผ่านมา คณะเจ้าหน้าที่ศรีลังกาเดินทางไปเจรจาขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ (IMF) ที่สหรัฐเมื่อสัปดาห์ก่อน แต่ยังไม่มีวี่แววว่าจะได้รับความช่วยเหลือฉุกเฉิน ขณะนี้ศรีลังกาจึงต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากอินเดีย จีน และญี่ปุ่น เพื่อประคองเศรษฐกิจที่พังทลายเพราะโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทำให้สูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวและเงินส่งกลับประเทศจากแรงงานในต่างประเทศ จนไม่มีเงินนำเข้าสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน.-สำนักข่าวไทย

เซี่ยงไฮ้ผ่อนคลายล็อกดาวน์ต่อเนื่อง

นครเซี่ยงไฮ้ของจีนเดินหน้าผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ด้วยการให้ชาวเมืองออกจากบ้านได้เพิ่มอีก 4 ล้านคน ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ (IMF) ปรับลดประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนปีนี้

ศรีลังกาเผยไอเอ็มเอฟจะพิจารณาคำขอเร่งช่วยเหลือ

โคลัมโบ 19 เม.ย.- กระทรวงคลังศรีลังกาเผยวันนี้ว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ (IMF) จะพิจารณาเรื่องเร่งจัดสรรความช่วยเหลือทางการเงินให้แก่ศรีลังกาที่มีภาระหนี้สินต่างประเทศ หลังจากอินเดียร้องขอให้ คณะผู้แทนศรีลังกาที่นำโดยนายอาลี ซาบรี รัฐมนตรีคลังศรีลังกาเริ่มการเจรจาอย่างเป็นทางการกับไอเอ็มเอฟที่กรุงวอชิงตันของสหรัฐเมื่อวันจันทร์ตามเวลาสหรัฐ เรื่องโครงการความช่วยเหลือที่รัฐบาลศรีลังกาหวังว่าจะช่วยให้มีทุนสำรองเพิ่มขึ้นและมีเงินชำระการนำเข้าเชื้อเพลิง อาหารและยาที่จำเป็น คนสนิทของนายซาบรีทวีตว่า ศรีลังกาได้ขอเงินกู้จากไอเอ็มเอฟภายใต้เครื่องมือทางการเงินแบบรวดเร็วหรืออาร์เอฟไอ (RFI) สำหรับประเทศที่ต้องการความช่วยเหลือเรื่องดุลการชำระเงินแบบเร่งด่วน ไอเอ็มเอฟแสดงท่าทีในเบื้องต้นว่าจะไม่ให้เงินกู้ดังกล่าว อย่างไรก็ดี กระทรวงคลังศรีลังกาแถลงว่า ไอเอ็มเอฟได้แจ้งรัฐมนตรีซาบรีในเวลาต่อมาว่า อินเดียได้ร้องขอเงินกู้นี้ในนามของศรีลังกา และไอเอ็มเอฟจะพิจารณาคำขอพิเศษดังกล่าว แม้ว่าอยู่นอกเหนือเงื่อนไขมาตรฐานของการออกอาร์เอฟไอก็ตาม รัฐมนตรีคลังศรีลังกาเคยเผยว่า ศรีลังกาต้องการเงิน 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 101,143 ล้านบาท) ในช่วงหลายเดือนข้างหน้าจากหลายแหล่ง ทั้งไอเอ็มเอฟ ธนาคารกลางโลกและอินเดียเพื่อขจัดวิกฤตเศรษฐกิจร้ายแรงที่สุดของประเทศ.-สำนักข่าวไทย

ศรีลังกาตั้ง ครม.ใหม่แก้วิกฤตเศรษฐกิจ

โคลัมโบ 18 เม.ย.- ประธานาธิบดีศรีลังกาแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จำนวน 17 คนในวันนี้ หวังหาทางแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจร้ายแรงของประเทศ ด้านราคาขายปลีกน้ำมันได้ทะยานขึ้นอีกร้อยละ 35 ก่อนที่รัฐบาลจะเจรจาขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ (IMF) ประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษาแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ แทนชุดเก่าที่ลาออกทั้งคณะเมื่อวันที่ 3 เมษายน ยกเว้นนายกรัฐมนตรีมหินดา ราชปักษา ผู้เป็นพี่ชายของเขาที่ไม่ลาออก คณะรัฐมนตรีชุดใหม่มีคนหนุ่มสาวเข้ามาแทนที่ผู้มีอายุและผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริตรับสินบน หวังบรรเทาความไม่พอใจของผู้ประท้วงที่ชุมนุมมาหลายสัปดาห์ เรียกร้องให้ประธานาธิบดีและรัฐบาลลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบเรื่องอาหารและเชื้อเพลิงขาดแคลน ผู้ชุมนุมยึดทางเข้าทำเนียบประธานาธิบดีเป็นวันที่ 10 แล้วในวันนี้ ด้านพรรคฝ่ายค้านยืนยันไม่เข้าร่วมการตั้งรัฐบาลแห่งชาติตามคำเชิญของประธานาธิบดี หากเขาและพี่ชายยังอยู่ในอำนาจ ศรีลังกาไม่มีเงินนำเข้าสินค้าเพราะขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ เนื่องจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทำให้สูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวและเงินส่งกลับของแรงงานในต่างประเทศ ขณะเดียวกันยังเสี่ยงเข้าสู่ภาวะล้มละลาย เพราะหนี้ต่างประเทศเกือบ 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เกือบ 235,690 ล้านบาท) จากทั้งหมด 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 841,750 ล้านบาท) มีกำหนดชำระคืนในปีนี้ รัฐบาลประกาศพักการชำระหนี้ต่างประเทศระหว่างที่รัฐมนตรีคลังและคณะเดินทางไปเจรจาขอความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟที่จะประชุมประจำปีกับธนาคารโลกที่กรุงวอชิงตันของสหรัฐในสัปดาห์นี้ นอกจากนี้ศรีลังกายังได้ขอเงินกู้ฉุกเฉินจากจีนและอินเดียเพื่อนำมาซื้ออาหารและเชื้อเพลิงด้วย ขณะเดียวกันลังกา ไอโอซี ผู้ค้าปลีกน้ำมันที่ครองตลาดศรีลังกา 1 ใน 3 ประกาศปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลอีก […]

สงครามยูเครนอาจเปลี่ยนเศรษฐกิจ-การเมืองโลกครั้งใหญ่

วอชิงตัน 16 มี.ค.- กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ (IMF) ชี้ว่า สงครามในยูเครนจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลกทั้งหมด และอาจทำให้เศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์โลกเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นฐาน ไอเอ็มเอฟโพสต์บทความในไอเอ็มเอฟบล็อกเมื่อวันอังคารว่า นอกเหนือจากความทุกข์ยากของผู้คนและการมีคลื่นผู้ลี้ภัยมากเป็นประวัติการณ์แล้ว สงครามนี้ยังทำให้ราคาอาหารและพลังงานแพงขึ้น ภาวะเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น มูลค่าของรายได้ลดลง การค้า ห่วงโซ่อุปทาน และการส่งเงินกลับประเทศของประเทศเพื่อนบ้านยูเครนถูกกระทบ ความมั่นใจของภาคธุรกิจลดลงทำให้นักลงทุนเกิดความไม่แน่ใจ ส่งผลกดดันต่อราคาสินทรัพย์ ภาวะการเงิน และอาจทำให้เงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวลดลง สินค้าและบริการมีราคาสูงขึ้น ในระยะยาวแล้วสงครามยูเครนอาจทำให้พื้นฐานเศรษฐกิจโลกและระเบียบภูมิรัฐศาสตร์โลกเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หากมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการค้าพลังงาน ห่วงโซ่อุปทาน เครือข่ายการชำระเงิน และการถือครองสกุลเงินสำรอง ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นทั่วโลกว่า เศรษฐกิจรัสเซียและยูเครนจะถดถอยหนัก ยุโรปจะติดขัดเรื่องการนำเข้าก๊าซธรรมชาติและห่วงโซ่อุปทาน ยุโรปตะวันออกที่รับผู้ลี้ภัยชาวยูเครนส่วนใหญ่จากทั้งหมด 3 ล้านคนจะแบกรับค่าจ่ายมากขึ้น ดินแดนคอเคซัสและเอเชียกลางที่มีการค้าและระบบชำระเงินเชื่อมโยงกับรัสเซียจะได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย ตะวันออกกลางและแอฟริกาที่พึ่งพาภาวะการเงินภายนอกอาจมีเงินทุนไหลออกและมีภาระเพิ่มขึ้นสำหรับประเทศที่มีหนี้สูง ซีกโลกตะวันตกจะต้องซื้ออาหารและพลังงานแพงขึ้น ลาตินอเมริกา แคริบเบียนและสหรัฐจะมีเงินเฟ้อสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะสินค้าโภคภัณฑ์แพงขึ้น ขณะที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย และประเทศเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกที่นำเข้าน้ำมันจะได้รับผลกระทบหนักที่สุดในเอเชีย.-สำนักข่าวไทย

1 2 3 4 5 10
...