ผู้นำศรีลังกาเตือนประเทศเตรียมตัวรับความลำบาก

โคลัมโบ 22 มี.ค.- ประธานาธิบดีศรีลังกาเตือนว่า ศรีลังกาจะต้องพบกับความเจ็บปวดทางเศรษฐกิจมากขึ้นอีกจากการดำเนินมาตรการรัดเข็มขัดอย่างเคร่งครัดเพื่อกอบกู้ฐานะการคลัง หลังจากบรรลุข้อตกลงรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ (IMF) ประธานาธิบดีรานิล วิกรมสิงเห แถลงต่อรัฐสภาในวันนี้ว่า ข้อตกลงกับไอเอ็มเอฟเป็นจุดเริ่มต้นการฟื้นฟูประเทศที่เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเมื่อปี 2565 อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงนี้เป็นเพียงก้าวแรกของการปฏิรูปโครงสร้างที่จะเป็นการเดินทางที่ยาวนานและยากลำบากมากยิ่งขึ้น ศรีลังกาจะต้องก้าวข้ามด้วยความรอบคอบและกล้าหาญ โดยมีเป้าหมายเดียวคือการกอบกู้เศรษฐกิจประเทศ ประธานาธิบดีวิกรมสิงเหกล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลจะดำเนินการหลังจากนี้คือ การขึ้นภาษี เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขของไอเอ็มเอฟที่กำหนดให้ต้องลดภาระการชำระหนี้ต่างประเทศลงให้ได้ครึ่งหนึ่งจากปี 2565 ที่สูงเป็นประวัติการณ์ถึงร้อยละ 9 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี (GDP) และจะรับภาระหนี้ต่างประเทศของรัฐวิสาหกิจสำคัญเพื่อให้เป็นที่สนใจของนักลงทุน ตามที่ไอเอ็มเอฟต้องการให้ศรีลังกาจำหน่ายรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุน รวมถึงศรีลังกาแอร์ไลน์ที่เป็นสายการบินแห่งชาติ และออกกฎหมายปราบปรามการทุจริตอย่างเข้มงวด ด้านสหภาพแรงงานในศรีลังกาคัดค้านการใช้มาตรการรัดเข็มขัดด้วยการนัดหยุดงานในภาคสาธารณสุขและการขนส่งเมื่อสัปดาห์ก่อน และเตือนว่าจะมีการเคลื่อนไหวต่อไปอีก.-สำนักข่าวไทย

ไอเอ็มเอฟ-ยูเครนบรรลุข้อตกลงเงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ

วอชิงตัน 22 มี.ค. – กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ (IMF) บรรลุข้อตกลงกับยูเครนแล้ว เรื่องสินเชื่อมูลค่า 15,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 538,566 ล้านบาท) เพื่อนำไปช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจยูเครนที่ตกอยูในภาวะสงครามมานานกว่า 1 ปี นายแกวิน เกรย์ หัวหน้าทีมภารกิจยูเครนของไอเอ็มเอฟ แถลงว่า นอกเหนือจากความสูญเสียด้านมนุษยธรรมอย่างน่ากลัวแล้ว การที่รัสเซียรุกรานยูเครนยังคงส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของยูเครน สินเชื่อระยะ 4 ปีนี้จะช่วยการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่กำลังดำเนินอยู่อย่างช้าๆ และส่งเสริมการเติบโตระยะยาวในการบูรณะประเทศหลังสงคราม รวมถึงการที่ยูเครนกำลังเดินหน้าเข้าสู่การเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป หรืออียู (EU) คณะกรรมการไอเอ็มเอฟจะพิจารณาอนุมัติสินเชื่อดังกล่าวในอีกไม่กี่สัปดาห์ นายเกรย์ระบุว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของยูเครนลดลงถึงร้อยละ 30 ในปี 2565 มีคนยากจนเพิ่มขึ้น และสูญเสียเงินทุนจำนวนมาก ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจยูเครนจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ ใน 2-3 ไตรมาสนี้ เนื่องจากมีการดำเนินกิจกรรมอีกครั้งหลังจากโครงสร้างพื้นฐานสำคัญเสียหายหนัก แต่ความท้าทายฉับพลันด้านเศรษฐกิจมหภาคยังคงมีอยู่ เนื่องจากมียอดขาดดุลการคลังที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันและกินวงกว้าง.-สำนักข่าวไทย

ไอเอ็มเอฟไฟเขียวให้เงินช่วยเหลือ 2,900 ล้านดอลลาร์แก่ศรีลังกา

ประธานาธิบดีศรีลังกา กล่าววานนี้ว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ให้ความเห็นชอบตามคำขอของรัฐบาลศรีลังกาในการขอความช่วยเหลือเป็นเงิน 2,900 ล้านดอลลาร์ ทำให้ศรีลังกามีความหวังในการผ่อนคลายวิกฤตทางเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้

ผู้นำศรีลังกาเผยจีนยอมปรับโครงสร้างหนี้ให้

โคลัมโบ 7 มี.ค.- ประธานาธิบดีรานิล วิกรมสิงเหของศรีลังกาเผยว่า จีนตกลงที่จะปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ศรีลังกา ซึ่งเป็นเงื่อนไขสุดท้ายที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ (IMF) จะให้เงินช่วยเหลือแก่ศรีลังกา ประธานาธิบดีวิกรมสิงเหแถลงต่อรัฐสภาว่า ธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกของจีนได้ส่งจดหมายถึงไอเอ็มเอฟเมื่อคืนวันจันทร์ แสดงความพร้อมที่จะปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ศรีลังกา เขาจึงได้รีบลงนามจดหมายแสดงเจตนาจำนงที่จะเข้าร่วมโครงการของไอเอ็มเอฟทันที และคาดหวังว่า ไอเอ็มเอฟจะปล่อยเงินช่วยเหลืองวดแรกให้แก่ศรีลังกาได้ภายในเดือนนี้ ศรีลังกาผิดนัดชำระหนี้จำนวน 46,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.58 ล้านล้านบาท) เมื่อเดือนเมษายน ปี 2565 ช่วงที่กำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนขาดแคลนอาหารและเชื้อเพลิงนานหลายเดือน หนี้ที่ผิดนัดชำระจำนวน 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 483,483 ล้านบาท) เป็นหนี้ทวิภาคีกับรัฐบาลต่างชาติ และในจำนวนนี้ร้อยละ 52 เป็นหนี้ของรัฐบาลจีน รัฐบาลศรีลังกากำลังหาทางขอเงินช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟจำนวน 2,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 100,150 ล้านบาท) เพื่อกอบกู้ฐานะการคลังที่ย่ำแย่ และได้ประกาศใช้มาตรการหลายอย่างเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขของไอเอ็มเอฟ เช่น ขึ้นภาษี ยกเลิกการให้เงินอุดหนุนราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้า ขายกิจการของรัฐที่ขาดทุน.-สำนักข่าวไทย

ชาวศรีลังกานัดหยุดงานท้าทายคำสั่งห้ามประท้วง

โคลัมโบ 1 มี.ค.- คนทำงานชาวศรีลังกาพากันนัดหยุดงานในวันนี้ ท้าทายคำสั่งของรัฐบาลที่ห้ามการประท้วงต่อต้านแผนการกอบกู้ประเทศที่อยู่ในภาวะล้มละลาย การนัดหยุดงานทำให้โรงพยาบาล ธนาคารและท่าเรือต้องปิดทำการ สหภาพแรงงานประมาณ 40 แห่ง เรียกร้องให้สมาชิกนัดหยุดงานในวันนี้ โดยอ้างว่าได้รับแจ้งจากประธานาธิบดีรานิล วิกรมสิงเห เมื่อวันเสาร์ว่า ไม่สามารถลดภาษีรายได้ให้ประชาชน เนื่องจากเป็นเงื่อนไขของกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ (IMF) ที่จะให้เงินช่วยเหลือศรีลังกา แพทย์โรงพยาบาลแห่งชาติศรีลังกาในกรุงโคลัมโบเผยว่า จะรักษาเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินเท่านั้น ส่วนการนัดตรวจผู้ป่วยตามคลินิกและโรงพยาบาลเอกชนถูกยกเลิกทั้งหมด ประธานสมาคมบุคคลากรทางการแพทย์ของรัฐบาลเผยว่า จะเดินหน้าเคลื่อนไหวให้หนักขึ้นเพราะคิดว่าการนัดหยุดงานเพียงวันเดียวจะไม่สามารถเปลี่ยนใจทางการได้ ขณะที่คนทำงานด้านการไฟฟ้า พนักงานธนาคารและคนงานท่าเรือก็นัดหยุดงานในวันนี้เช่นเดียวกัน แม้ว่าประธานาธิบดีวิกรมสิงเหใช้อำนาจบริหารเมื่อวันอังคารสั่งห้ามการนัดหยุดงาน และบังคับให้คนทำงานในภาคบริการจำเป็นต้องทำงาน ไม่เช่นนั้นจะถูกไล่ออก ชาวศรีลังกากำลังไม่พอใจประธานาธิบดีวิกรมสิงเหที่ขึ้นภาษีและตัดลดงบประมาณรายจ่าย เพื่อให้ได้เงินช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟ หลังจากศรีลังกาผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศ 46,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.6 ล้านล้านบาท) เมื่อเดือนเมษายน 2565 และกำลังรอความช่วยเหลือทางการเงินจากจีน ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ระดับทวิภาคีรายใหญ่ที่สุด ศรีลังกาเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจร้ายแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเมื่อปลายปี 2564 ส่งผลให้ขาดแคลนอาหาร เชื้อเพลิง ยา ประชาชนออกมาประท้วงหลายเดือนจนกระทั่งขับไล่ประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษาในเดือนกรกฎาคม ส่วนประธานาธิบดีวิกรมสิงเหที่ได้รับเลือกจากรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งเผยว่า เศรษฐกิจศรีลังกาปี 2565 หดตัวร้อยละ 11 และจะอยู่ในภาวะล้มละลายไปจนถึงปี 2569 เป็นอย่างน้อย.-สำนักข่าวไทย

ศรีลังกาขึ้นค่าไฟอีกตามเงื่อนไขขอเงินกู้จากไอเอ็มเอฟ

โคลัมโบ 16 ก.พ.- ศรีลังกาประกาศขึ้นค่าไฟฟ้าอีกเกือบ 3 เท่า เป็นการขึ้นครั้งที่ 2 ในรอบไม่กี่เดือน ตามเงื่อนไขการขอเงินช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ (IMF) เนื่องจากประเทศอยู่ในฐานะล้มละลาย นายกันชนะ วิเยสเกรา รัฐมนตรีพลังงานศรีลังกาเผยหลังจากคณะกรรมการการไฟฟ้าประกาศขึ้นค่าไฟฟ้าอีกร้อยละ 275 ในวันนี้ว่า รัฐบาลจำเป็นต้องขึ้นค่าไฟฟ้าตามเงื่อนไขของไอเอ็มเอฟ เพื่อให้มีรายได้มาใช้จ่าย การขึ้นค่าไฟฟ้าครั้งล่าสุดจะทำให้ครัวเรือนในศรีลังกาต้องจ่ายค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ 30 รูปี (ราว 2.81 บาท) ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง หลังจากจ่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 264 มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 ขณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่จะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 60 หลังจากจ่ายเพิ่มขึ้นมาแล้วร้อยละ 80 รัฐมนตรีพลังงานศรีลังการะบุว่า การขึ้นค่าไฟฟ้าจะทำให้การไฟฟ้าของรัฐไม่ต้องดับไฟวันละ 140 นาทีอีกต่อไป เพราะรัฐบาลจะมีเงินซื้อเชื้อเพลิงที่จะช่วยให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างสม่ำเสมอ ศรีลังกาเผชิญวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ในปี 2565 ประชาชน 22 ล้านคนต้องเดือดร้อนเป็นเวลาหลายเดือนจากการขาดแคลนอาหาร เชื้อเพลิง และถูกตัดกระแสไฟฟ้าวันละหลายชั่วโมง รัฐบาลผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศ 46,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.57 ล้านล้านบาท) และกำลังเจรจาสรุปข้อตกลงความช่วยเหลือกับไอเอ็มเอฟเพื่อกอบกู้ฐานะการเงินที่ล้มละลาย ประธานาธิบดีรานิล วิกรมสิงเห […]

IMF-ปากีสถานยังไม่ได้ข้อตกลงช่วยเหลือทางการเงิน

อิสลามาบัด 10 ก.พ.- คณะตัวแทนของกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ (IMF) เดินทางออกจากปากีสถานแล้วในวันนี้ โดยที่ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงความช่วยเหลือทางการเงินกับรัฐบาลปากีสถานที่จะช่วยปกป้องเศรษฐกิจปากีสถานไม่ให้พังทลาย คณะตัวแทนของไอเอ็มเอฟเดินทางถึงปากีสถานเมื่อสัปดาห์ก่อนเพื่อเดินหน้าการเจรจากับรัฐบาลที่หยุดชะงักมาหลายเดือน ไอเอ็มเอฟแถลงว่า มีความคืบหน้าพอสมควรเรื่องมาตรการเชิงนโยบายที่จะแก้ไขความไม่สมดุลภายในและภายนอกปากีสถาน ทั้ง 2 ฝ่ายจะหารือทางออนไลน์ในเร็ว ๆ นี้เพื่อให้ได้ข้อสรุปเรื่องรายละเอียดการปฏิบัติตามมาตรการเหล่านี้ ด้านนายอิสฮัก ดาร์ รัฐมนตรีคลังของปากีสถานแถลงหลังจากคณะตัวแทนของไอเอ็มเอฟเดินทางกลับในเช้าวันนี้ว่า การเจรจาได้ข้อสรุปด้วยดี และไอเอ็มเอฟได้นำเสนอร่างบันทึกนโยบายที่เห็นพ้องกันอย่างกว้าง ๆ ให้แก่รัฐบาลแล้ว เศรษฐกิจปากีสถานตกอยู่ในสถานการณ์คับขัน เนื่องจากเผชิญวิกฤตเรื่องดุลการชำระเงิน อันเป็นผลจากการที่มีหนี้ต่างประเทศในระดับสูง ขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองเต็มไปด้วยวุ่นวาย และสถานการณ์ความมั่นคงเลวร้ายลง อัตราเงินเฟ้อพุ่งทะยาน เงินรูปีปากีสถานอ่อนค่า และไม่มีเงินนำเข้าสินค้าแล้ว ธนาคารกลางปากีสถานแจ้งว่า เหลือทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศเพียง 2,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 97,585 ล้านบาท) นับจนถึงวันศุกร์ที่แล้ว ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีเชห์บาซ ชารีฟ ของปากีสถานกล่าวถึงเงื่อนไขของไอเอ็มเอฟในการปล่อยเงินกู้จำนวน 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 40,380 ล้านบาท) ว่า ยากเกินกว่าที่จะคาดคิดได้ ซึ่งหมายถึงเรื่องที่ไอเอ็มเอฟต้องการให้ปากีสถานปรับขึ้นฐานภาษีที่ต่ำมาก ยกเลิกการยกเว้นภาษีให้ภาคการส่งออก ขึ้นราคาน้ำมัน ไฟฟ้า และก๊าซที่ต่ำกว่าความเป็นจริง คงปริมาณเงินดอลลาร์สหรัฐของธนาคารกลางให้มีความยั่งยืนด้วยการขอความสนับสนุนจากพันธมิตรอย่างซาอุดีอาระเบีย จีน […]

ไอเอ็มเอฟปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจโลก

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ ซึ่งเป็นผลจากการที่จีนเปิดประเทศ

ไอเอ็มเอฟคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังไม่สดใส

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ กล่าววานนี้ว่า แนวโน้มทิศทางเศรษฐกิจโลกยังคงมืดมนมากกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนที่แล้ว โดยอ้างถึงการสำรวจความเห็นของผู้จัดการด้านการจัดซื้อในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ที่มองแนวโน้มว่าย่ำแย่ลงเรื่อย ๆ

ปากีสถานต้องการความช่วยเหลือทางการเงินสู้น้ำท่วมใหญ่

อิสลามาบัด 29 ส.ค.- ปากีสถานเผยว่า ต้องการความช่วยเหลือทางการเงินในการรับมือกับอุทกภัยรุนแรง และหวังว่าสถาบันการเงินจะนำเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจไปคำนวณในการจัดสรรความช่วยเหลือด้วย นายบิลาวัล บุตโต-ซาร์ดารี รัฐมนตรีต่างประเทศปากีสถานให้สัมภาษณ์รอยเตอร์ว่า ไม่เคยเห็นการทำลายล้างรุนแรงเช่นนี้มาก่อน มันรุนแรงจนไม่สามารถบรรยายเป็นคำพูดได้ พืชผลจำนวนมากที่เลี้ยงปากท้องประชาชนถูกทำลายเสียหายหมดสิ้น ความรุนแรงนี้จะส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อเศรษฐกิจโดยรวมของปากีสถานที่อยู่ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจอยู่แล้ว อัตราเงินเฟ้อสูง เงินรูปีอ่อนค่า และขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เขาคาดว่า คณะกรรมการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ (IMF) จะอนุมัติในสัปดาห์นี้เรื่องปล่อยสินเชื่องวดที่ 7 และ 8 รวม 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 43,700 ล้านบาท) ในโครงการที่ปากีสถานขอรับความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟตั้งแต่ปี 2562 และหวังว่าไอเอ็มเอฟจะนำเรื่องผลกระทบจากน้ำท่วมไปคำนวณเพื่อจัดสรรความช่วยเหลือในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ขณะนี้กำลังมีการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจอยู่ บางคนประเมินไว้ที่ 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 145,700 ล้านบาท) แต่หากรวมผลกระทบด้านโครงสร้างพื้นฐานและความเป็นอยู่ของประชาชน ตัวเลขน่าจะสูงกว่านี้มาก รัฐมนตรีต่างประเทศปากีสถานเผยด้วยว่า ปากีสถานจะขอในสัปดาห์นี้ให้ชาติสมาชิกสหประชาชาติบริจาคเงินช่วยบรรเทาทุกข์ จากนั้นจะหารือกับสถาบันการเงินอย่างไอเอ็มเอฟ ธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชียเรื่องการบูรณะฟื้นฟูประเทศหลังน้ำท่วม และจะหาทางพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้สามารถต้านทานทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง และจะหาทางปรับตัวภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้สามารถอยู่ร่วมกับสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นความท้าทายใหญ่หลวงต่อภาคการเกษตร.-สำนักข่าวไทย

1 2 3 4 10
...