อินเดียจะวิเคราะห์ผลข้างเคียงแอสตราเซนเนกา

นิวเดลี 13 มี.ค.- อินเดียจะวิเคราะห์อย่างละเอียดเรื่องผลข้างเคียงของวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ของบริษัทแอสตราเซนเนกาในสัปดาห์หน้า แม้ขณะนี้ยังไม่มีรายงานผู้รับการฉีดเกิดอาการลิ่มเลือดอุดตันก็ตาม นพ. เอ็น เค อาโรรา หนึ่งในคณะทำงานเฉพาะกิจแห่งชาติเรื่องโรคโควิด-19 ของอินเดียเผยกับเอเอฟพีว่า กำลังพิจารณาเหตุไม่พึงประสงค์ทั้งหมด โดยเฉพาะเหตุไม่พึงประสงค์ร้ายแรงอย่างการเสียชีวิตและการเข้าโรงพยาบาล และจะแจ้งทันทีหากพบผลข้างเคียงที่น่าเป็นห่วง ขณะนี้ยังไม่มีเรื่องน่ากังวลฉับพลันเพราะในอินเดียมีผู้เกิดผลข้างเคียงต่ำมาก คณะทำงานกำลังตรวจสอบว่า มีผู้เกิดลิ่มเลือดอุดตันหรือไม่ อินเดียฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วอย่างน้อย 28 ล้านโดส ส่วนใหญ่เป็นวัคซีนของแอสตราเซนเนกาที่สถาบันเซรุ่มแห่งอินเดียเป็นผู้ผลิตในชื่อโควิชีลด์ ขณะเดียวกันได้บริจาคและส่งออกหลายล้านโดสไปราว 70 ประเทศ นอกจากนี้ยังมีวัคซีนโควาซินที่พัฒนาขึ้นเองโดยบริษัทภารตะไบโอเทค กระทรวงสาธารณสุขอินเดียแจ้งว่า ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาพบผู้ป่วยใหม่ 23,285 คน ส่วนใหญ่อยู่ใน 6 รัฐ ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมกว่า 11.33 ล้านคน เสียชีวิตกว่า 158,400 คน.-สำนักข่าวไทย

อนามัยโลกแนะให้ใช้แอสตราเซนเนกาต่อไป

องค์การอนามัยโลกชี้ว่า ไม่มีเหตุผลที่จะหยุดฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ของแอสตราเซนเนกา หลังจากหลายประเทศระงับการฉีดวัคซีนขนานนี้เพราะเกรงทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตัน

เกาหลีใต้เผยผู้เสียชีวิตหลายรายไม่เกี่ยววัคซีนโควิด

โซล 8 มี.ค. – เกาหลีใต้ระบุว่า ผู้เสียชีวิตหลายรายเมื่อไม่นานมานี้ไม่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ขณะที่ทางการสั่งให้แรงงานต่างชาติเกือบ 100,000 คนเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิดหลังพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในหอพักแรงงาน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเกาหลีใต้ได้สืบสวนสาเหตุการเสียชีวิตของประชาชน 8 คนที่มีอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนของแอสตราเซนเนกา แต่ไม่พบความเชื่อมโยงว่า พวกเขาเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนดังกล่าว ขณะที่ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมและป้องกันโรคของเกาหลีใต้หรือเคดีซีเอกล่าวว่า เคดีซีเอได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า ยากจะชี้ชัดว่ามีความเกี่ยวข้องกันระหว่างอาการไม่พึงประสงค์หลังเข้ารับการฉีดวัคซีน กับการเสียชีวิต ทั้งนี้ เกาหลีใต้ได้เริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้แก่ผู้สูงอายุและเจ้าหน้าที่ในศูนย์ดูแลผู้สูงวัย รวมถึงกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงตั้งแต่ในช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา โดยฉีดวัคซีนโดสแรกให้แก่บุคคลกลุ่มดังกล่าวไปแล้ว 316,865 คนนับถึงเมื่อวานนี้ ในขณะเดียวกัน เกาหลีใต้ยังพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนของโรคโควิด-19 ในสถานที่ผลิตสินค้าและโรงงานหลายแห่ง ทำให้เจ้าหน้าที่เริ่มลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่ทำงานราว 12,000 แห่งที่มีแรงงานต่างชาติ ในขณะที่รัฐบาลท้องถิ่นหลายแห่งสั่งให้แรงงานต่างชาติเข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ทั้งนี้ เกาหลีใต้พบผู้ป่วยติดเชื้อที่เป็นแรงงานต่างชาติอย่างน้อย 151 คนในจังหวัดคย็องกี ซึ่งล้อมรอบกรุงโซลและเป็นจังหวัดที่มีประชากรมากที่สุดในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา และยังไม่ทราบที่มาของการระบาด ส่วนเมืองนัมยังจูที่ตั้งอยู่ในจังหวัดดังกล่าวพบผู้ป่วยติดเชื้อที่เป็นแรงงานต่างชาติอย่างน้อย 124 คนหลังเกิดการระบาดที่โรงงานผลิตพลาสติก ขณะนี้ เกาหลีใต้มียอดผู้ป่วยติดเชื้อราว 92,800 คน และผู้เสียชีวิตกว่า 1,640 คน. -สำนักข่าวไทย

เวียดนามเริ่มฉีดวัคซีนโควิดแอสตราเซเนกา

เวียดนามเริ่มโครงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 แล้วในวันนี้ โดยฉีดวัคซีนของแอสตราเซเนกาให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ก่อนเป็นกลุ่มแรก

เกาหลีใต้จะเริ่มฉีดวัคซีนแอสตราเซนเนกาและไฟเซอร์

เกาหลีใต้จะเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ของแอสตราเซนเนกาและของไฟเซอร์ในวันที่ 26 และ 27 กุมภาพันธ์นี้ตามลำดับ

ออกซ์ฟอร์ดเตรียมทดสอบวัคซีนกับเด็กครั้งแรก

ลอนดอน 13 ก.พ.- มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดของอังกฤษจะเริ่มการศึกษากับเด็กเป็นครั้งแรกเพื่อประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่พัฒนาร่วมกับบริษัทแอสตราเซนเนกา มหาวิทยาลัยแถลงทางอีเมลวันนี้ว่า การทดลองระยะกลางครั้งใหม่นี้เป็นการศึกษาเพื่อหาว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพกับเด็กอายุ 6-17 ปีหรือไม่ โดยจะรับอาสาสมัครในสหราชอาณาจักรราว 300 คน และจะเริ่มการฉีดวัคซีนเข็มแรกภายในเดือนนี้ แอนดรู โพลลาร์ด อาจารย์ด้านโรคติดเชื้อและภูมิคุ้มกันเด็กกล่าวว่า แม้เด็กค่อนข้างไม่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 แต่ก็จำเป็นต้องทำให้วัคซีนมีความปลอดภัยและสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้แก่เยาวชน เพราะเด็กบางคนอาจได้รับประโยชน์จากการฉีดวัคซีน รอยเตอร์ระบุว่า วัคซีนของออกซ์ฟอร์ด/แอสตราเซนเนกาต้องฉีด 2 เข็ม ได้รับการยกย่องให้เป็นวัคซีนสำหรับโลก เพราะเมื่อเทียบกับวัคซีนของหลายบริษัทแล้วมีราคาถูกกว่าและลำเลียงขนส่งได้สะดวกกว่า แอสตราเซนเนกาตั้งเป้าผลิตให้ได้ 3,000 ล้านโดสในปีนี้ และจะเพิ่มกำลังผลิตเป็นเดือนละกว่า 200 ล้านโดสภายในเดือนเมษายน.-สำนักข่าวไทย

อังกฤษเผยมีเชื้อโควิดกลายพันธุ์ราว 4,000 สายพันธุ์แล้ว

ลอนดอน 4 ก.พ. – อังกฤษเผยว่า ขณะนี้มีเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่กลายพันธุ์ราว 4,000 สายพันธุ์ทั่วโลก และทำให้ผู้ผลิตวัคซีน เช่น ไฟเซอร์และแอสตราเซนเนกากำลังหาทางปรับปรุงวัคซีนเช่นกัน นายนาดิม ซาฮาวี รัฐมนตรีกำกับดูแลด้านการจัดเตรียมวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของอังกฤษกล่าวกับสถานีโทรทัศน์สกายนิวส์ของอังกฤษว่า ตอนนี้ยังไม่มีแนวโน้มว่าวัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจะไม่มีประสิทธิภาพป้องกันเชื้อโควิดกลายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ที่พบในเมืองเคนท์ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอังกฤษหรือสายพันธุ์อื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล อย่างไรก็ดี ผู้ผลิตวัคซีน เช่น ไฟเซอร์/ไบออนเทค โมเดอร์นา มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและแอสตราเซนเนกา รวมถึงผู้ผลิตรายอื่น ๆ กำลังหาทางปรับปรุงวัคซีนเพื่อให้มั่นใจว่ามีประสิทธิภาพป้องกันเชื้อโควิดได้ทุกสายพันธุ์ แม้ว่าในขณะนี้จะมีเชื้อโควิดกลายพันธุ์ราว 4,000 สายพันธุ์ทั่วโลกแล้วก็ตาม นายซาฮาวีกล่าวทิ้งท้ายว่า อังกฤษมีอุตสาหกรรมการศึกษาลำดับจีโนมขนาดใหญ่ที่สุด โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50 ของอุตสาหกรรมทั่วโลก และยังได้เก็บข้อมูลของเชื้อโควิดทุกสายพันธุ์ไว้เพื่อเตรียมรับมือกับความท้าทายของเชื้อไวรัสโคโรนาที่อาจเกิดขึ้นใหม่และผลิตวัคซีนรุ่นใหม่ได้ตลอดเวลา ขณะนี้อังกฤษมียอดผู้ป่วยติดเชื้อสะสมกว่า 3.8 ล้านคน และผู้เสียชีวิตกว่า 109,000 คน ซึ่งทำสถิติผู้ป่วยติดเชื้อสะสมและผู้เสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก.-สำนักข่าวไทย

เผยแอสตราเซนเนกาเสนอวัคซีนให้อียูอีก 8 ล้านโดส

บรัสเซลส์ 29 ม.ค.- เจ้าหน้าที่สหภาพยุโรปหรืออียู (EU) เผยว่า แอสตราเซนเนกา บริษัทยาอังกฤษได้เสนอจัดสรรวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ให้อียูอีก 8 ล้านโดสในไตรมาสนี้ แต่เป็นจำนวนที่อียูมองว่ายังไม่เพียงพอ เจ้าหน้าที่ที่ขอสงวนนามเผยว่า ภายใต้สัญญาที่ลงนามเมื่อเดือนสิงหาคมปีก่อน แอสตราเซนเนกาควรต้องจัดสรรวัคซีนให้อียูอย่างน้อย 80 ล้านโดสในไตรมาสเดือนมกราคม-มีนาคม หรือสูงสุด 120 ล้านโดสขึ้นกับการตีความสัญญา แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วแอสตราเซนเนกาประกาศอย่างไม่มีใครคาดคิดว่า จะลดจำนวนวัคซีนที่จัดสรรให้แก่อียู เนื่องจากมีปัญหาการผลิตที่โรงงานในเบลเยียม อียูประเมินว่า จะถูกลดจำนวนวัคซีนลงถึงร้อยละ 60 เหลือ 31 ล้านโดสในไตรมาสแรกของปีนี้ เจ้าหน้าที่อียูที่เจรจากับแอสตราเซนเนกาโดยตรงเผยว่า บริษัทได้เสนอในภายหลังว่าจะส่งวัคซีนเพิ่มให้อีก 8 ล้านโดส เป็น 39 ล้านโดสในไตรมาสนี้ แต่อียูมองว่ายังไม่เพียงพอ แหล่งข่าวอีกคนเผยว่า บริษัทเสนอจัดสรรให้ในไตรมาสนี้ 40 ล้านโดสจาก 120 ล้านโดสตามสัญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารหรือซีอีโอของแอสตราเซนเนกาให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อวันอังคารว่า ไม่มีข้อกำหนดตามกฎหมายที่จะต้องส่งมอบวัคซีนให้อียูตามตารางเวลาที่กำหนด เพราะรับปากว่าจะพยายามจัดสรรให้อย่างดีที่สุดเท่านั้น แหล่งข่าวคนแรกเผยว่า เขาย้ำจุดยืนเดิมในการหารือกับเจ้าหน้าที่อียูในวันถัดมา และไม่เสนอจัดสรรเพิ่มจาก 39 ล้านโดสที่รับปากไว้เมื่อต้นสัปดาห์แต่อย่างใด.-สำนักข่าวไทย

แอสตราเซนเนกาจะผลิตวัคซีนโควิดในญี่ปุ่น

โฆษกรัฐบาลญี่ปุ่นแจ้งว่า แอสตราเซนเนกา บริษัทยาอังกฤษจะผลิตวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในญี่ปุ่นจำนวนกว่า 90 ล้านโดส

เมียนมาฉีดวัคซีนโควิดให้ จนท. การแพทย์แล้ว

ย่างกุ้ง 27 ม.ค. – เมียนมาเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ของแอสตราเซนเนกาให้แก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครทางการแพทย์เป็นกลุ่มแรกในวันนี้ โดยที่อินเดียเป็นผู้บริจาควัคซีนดังกล่าวให้เมียนมา เมียนมาควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดีในช่วงระยะแรกเริ่ม แต่กลับเผชิญกับสถานการณ์ระบาดรุนแรงในระลอก 2 ซึ่งทำให้มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสมกว่า 138,000 คน และผู้เสียชีวิตกว่า 3,080 คน เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเมียนมาได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาที่ผลิตโดยสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดียจำนวน 1.5 ล้านโดสจากรัฐบาลอินเดียภายใต้โครงการบริจาควัคซีนให้ประเทศเพื่อนบ้านก่อน (Neighbourhood First) ในขณะที่จีนให้คำมั่นว่าจะจัดหาวัคซีนราว 300,000 โดสให้แก่เมียนมาเช่นกัน เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขเมียนมาที่กำกับดูแลการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่โรงพยาบาลย่างกุ้งกล่าวว่า การฉีดวัคซีนน่าจะทำให้อัตราผู้ป่วยติดเชื้อลดลง และช่วยบรรเทาสถานการณ์ตึงเครียดของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขเมียนมาเผยว่า รัฐบาลจะฉีดวัคซีนให้แก่สมาชิกรัฐสภาเป็นกลุ่มต่อไปในวันศุกร์และเสาร์นี้ และตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ประชาชนราว 54 ล้านคนทั่วประเทศในปีนี้ ทั้งยังระบุเพิ่มเติมว่า ทางการได้สั่งซื้อวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จากแอสตราเซนเนกาเพิ่มอีก 30 ล้านโดส โดยจะได้รับวัคซีนดังกล่าว 2 ล้านโดสในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนหน้า.-สำนักข่าวไทย

ออกซ์ฟอร์ดเตรียมวัคซีนเวอร์ชั่นใหม่สกัดโควิดกลายพันธุ์

ลอนดอน 21 ม.ค. – มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดของอังกฤษเตรียมเร่งผลิตวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เวอร์ชั่นใหม่เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์แพร่เชื้อเร็วที่พบในอังกฤษ แอฟริกาใต้ และบราซิล หนังสือพิมพ์เดอะเทเลกราฟของอังกฤษรายงานอ้างคำยืนยันของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดว่า คณะนักวิทยาศาสตร์ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและแอสตราเซนเนกา บริษัทเวชภัณฑ์ของอังกฤษกำลังดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้เพื่อปรับโครงสร้างของเทคโนโลยี และอยู่ในระหว่างการประเมินว่า พวกเขาสามารถที่จะปรับปรุงแพลตฟอร์มวัคซีนชาด็อกซ์ (ChAdOx) ได้รวดเร็วแค่ไหน โฆษกของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด กล่าวว่า มหาวิทยาลัยกำลังประเมินผลกระทบของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์แพร่เชื้อเร็วที่มีต่อการฉีดวัคซีนด้วยความระมัดระวัง รวมถึงประเมินกระบวนการที่จำเป็นต่อการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่ปรับปรุงใหม่อย่างรวดเร็ว ขณะที่นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของอังกฤษ กล่าววานนี้ว่า หน่วยงานกำกับดูแลยาของอังกฤษมีความพร้อมและสามารถอนุมัติใช้วัคซีนที่ปรับปรุงใหม่เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์แพร่เชื้อเร็ว อย่างไรก็ดี ผลการทดลองในห้องปฏิบัติการเมื่อไม่นานมานี้ชี้ว่า วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของไฟเซอร์/ไบออนเทค มีแนวโน้มที่จะป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์แพร่เชื้อเร็วที่กำลังระบาดทั่วโลกได้ ไบออนเทคยังระบุอีกด้วยว่า บริษัทเตรียมเผยแพร่ผลการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ที่ระบาดในแอฟริกาใต้ที่มีข้อมูลมากขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า นอกจากนี้ แอสตราเซนเนกา โมเดอร์นา บริษัทเวชภัณฑ์ของสหรัฐ และเคียวแวก บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพของเยอรมนีกำลังทดสอบเช่นกันว่า วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่แต่ละบริษัทพัฒนาขึ้นมานั้นจะสามารถป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์แพร่เชื้อเร็วได้หรือไม่.-สำนักข่าวไทย

บราซิลเริ่มฉีดวัคซีนโควิดของจีนแล้ว

พยาบาลชาวบราซิลกลายเป็นคนแรกในบราซิลที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ของซิโนแวก บริษัทเวชภัณฑ์ของจีน หลังหน่วยงานกำกับดูแลยาของบราซิลอนุมัติใช้วัคซีนของซิโนแวกและแอสตราเซนเนกาเป็นกรณีฉุกเฉิน

1 2 3 4 5
...