ธนาคารโลกยังไม่มีแผนเสนอความช่วยเหลือใหม่ให้ศรีลังกา

วอชิงตัน 29 ก.ค.- ธนาคารโลกยังไม่มีแผนการเสนอความช่วยเหลือทางการเงินครั้งใหม่ให้แก่ศรีลังกาที่กำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อ 74 ปีก่อน ธนาคารโลกแถลงว่า ศรีลังกาจำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างที่เน้นเรื่องการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และแก้ไขที่รากเหง้าของวิกฤตที่ทำให้ประเทศขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ อาหาร เชื้อเพลิง และยา ธนาคารโลกกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์เศรษฐกิจเลวร้ายและผลกระทบต่อประชาชนของศรีลังกา จึงได้กำลังปรับเปลี่ยนความช่วยเหลือภายใต้สินเชื่อปัจจุบันไปช่วยบรรเทาการขาดแคลนสิ่งจำเป็น เช่น ยา ก๊าซหุงต้ม และอาหารสำหรับเด็ก ๆ และเงินสดสำหรับครัวเรือนเปราะบาง และได้กำหนดวิธีการกำกับดูแลเพื่อให้มีการแจกจ่ายทรัพยากรเหล่านี้อย่างเป็นธรรม อดีตประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษาของศรีลังกาเผยขณะยังอยู่ในตำแหน่งเมื่อเดือนมิถุนายนว่า ธนาคารโลกจะปรับปรุงโครงสร้างของโครงการปัจจุบัน 17 โครงการ และจะจัดสรรความช่วยเหลือเพิ่มเติม หลังจากสามารถสรุปการเจรจาเรื่องสินเชื่อกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ (IMF) อย่างไรก็ดี นายราชปักษาได้หนีออกนอกประเทศและลาออกที่สิงคโปร์ หลังจากประชาชนบุกบ้านพักและทำเนียบประธานาธิบดี ปัจจุบันศรีลังกายังอยู่ภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ใช้มาตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม.-สำนักข่าวไทย

เตือนโลกเสี่ยงเกิดภาวะ stagflation

วอชิงตัน 8 มิ.ย.- ธนาคารโลกเตือนว่า เศรษฐกิจโลกเสี่ยงเข้าสู่ภาวะสแตกเฟลชัน (stagflation) ที่การเติบโตหยุดชะงักแต่เงินเฟ้อสูง คล้ายกับช่วงคริสต์ทศวรรษหลังปี 1970 สาเหตุหลักมาจากสงครามยูเครน นายเดวิด มัลพาสส์ ประธานธนาคารโลกเผยกับสื่อว่า มีโอกาสค่อนข้างมากที่จะเกิดภาวะดังกล่าว และจะเกิดผลที่สร้างความสั่นคลอนต่อเศรษฐกิจรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง หลายประเทศจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ และหากเศรษฐกิจโลกไม่ขยายตัวเลย ก็จะเท่ากับเกิดเศรษฐกิจโลกถดถอย เขาย้ำว่า จำเป็นต้องเพิ่มการผลิตเพื่อแก้ปัญหาราคาสินค้าโดยเฉพาะพลังงานปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติและปุ๋ยในขณะนี้กำลังกระทบการผลิตอาหาร ขณะเดียวกันต้องหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการจำกัดการส่งออกและอุดหนุนราคาที่จะทำให้ราคาสินค้ายิ่งสูงขึ้นไปอีกและทำให้ตลาดบิดเบือน รายงานการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกของธนาคารโลกที่เผยแพร่เมื่อวันอังคารปรับลดประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ลงเหลือร้อยละ 2.9 ลดลงร้อยละ 1.2 จากการประมาณการเมื่อเดือนมกราคม เพราะสงครามยูเครนซ้ำเติมความเสียหายที่เกิดจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 และทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวมากยิ่งขึ้นไปอีก จากปัจจุบันที่เสี่ยงเข้าสู่ภาวะสแตกเฟลชัน ทั้งที่ปีที่แล้วเพิ่งฟื้นตัวมาขยายตัวที่ร้อยละ 5.7 เพราะโควิดดีขึ้น สถานการณ์ดังกล่าวจะคล้ายกับช่วงคริสต์ทศวรรษหลังปี 1970 ที่เศรษฐกิจโลกไม่เติบโตและเงินเฟ้อพุ่งทะยาน เพราะมีปัญหาเรื่องอุปทานและการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำมายาวนาน ต่างกันตรงที่ว่าปัจจุบันดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า และสถาบันการเงินหลักยังมีสถานะการเงินแข็งแกร่ง รายงานปรับลดประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปีนี้ลงร้อยละ 1.2 เหลือร้อยละ 2.5 ปรับลดจีนลงร้อยละ 0.8 เหลือร้อยละ 4.3 ปรับลดยูโรโซนลงเหลือร้อยละ 2.5 ปรับลดญี่ปุ่นลงเหลือร้อยละ 1.7 และคาดว่ารัสเซียจะหดตัวมากถึงร้อยละ 11.3.-สำนักข่าวไทย

ธนาคารโลกเตือนทั่วโลกเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย

วอชิงตัน 26 พ.ค. – นายเดวิด มัลพาสส์ ประธานของธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ เตือนว่า การบุกโจมตียูเครนของรัสเซียอาจทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก รวมถึงปัญหาราคาอาหาร พลังงาน และปุ๋ยที่พุ่งสูงขึ้น นายมัลพาสส์กล่าวในงานเสวนาธุรกิจที่จัดขึ้นในสหรัฐเมื่อวันพุธตามเวลาท้องถิ่นว่า เป็นเรื่องยากที่ทั่วโลกจะหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เป็นผลจากการบุกโจมตียูเครนของรัสเซีย รวมถึงการใช้มาตรการล็อกดาวน์หลายต่อหลายครั้งของจีนได้เพิ่มความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจเช่นกัน ค่าจีดีพีทั่วโลกสะท้อนให้เห็นว่าเป็นเรื่องยากที่จะเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทั้งยังระบุว่า ปัญหาราคาน้ำมันแพงขึ้น 2 เท่าในตอนนี้ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ทั่วโลกเผชิญกับภาวะดังกล่าว ก่อนหน้านี้ ธนาคารโลกได้ประกาศปรับลดประมาณการณ์อัตราเติบโตเศรษฐกิจโลกในปีนี้เหลือร้อยละ 3.2 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา.-สำนักข่าวไทย

“เซเลนสกี” วอนขับรัสเซียออกจากธนาคารโลก

ผู้นำยูเครน เรียกร้องประชาคมโลกช่วยกันขับรัสเซียออกจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ รวมทั้งคว่ำบาตรและอายัดเงินของรัสเซีย แล้วนำเงินมาเยียวยาความเสียหาย

ธนาคารโลกชี้ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงจากสงครามกระทบเศรษฐกิจ

เจ้าหน้าที่ของธนาคารโลก กล่าววานนี้ว่า ราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องที่เป็นผลมาจากการที่รัสเซียบุกโจมตียูเครน จะกระทบกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาที่นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ของโลก

ธนาคารโลกระงับโครงการเงินกู้ของรัสเซีย-เบลารุส

วอชิงตัน 3 มี.ค. – ธนาคารโลกระบุว่า ได้ระงับการอนุมัติเงินกู้หรือการลงทุนในโครงการทั้งหมดของรัสเซียและเบลารุสโดยมีผลบังคับใช้ในทันที หลังรัสเซียนำกำลังทหารบุกโจมตียูเครนตั้งแต่เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว ธนาคารโลกระบุในแถลงการณ์เมื่อวันพุธตามเวลาท้องถิ่นว่า ธนาคารโลกไม่ได้อนุมัติเงินกู้หรือการลงทุนใหม่ทุกประเภทในรัสเซียตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งเป็นปีที่รัสเซียผนวกไครเมียจากยูเครน และไม่ได้อนุมัติเงินกู้ใหม่ใด ๆ ให้แก่เบลารุสตั้งแต่ช่วงกลางปี 2563 เมื่อสหรัฐประกาศคว่ำบาตรเบลารุสจากข้อพิพาทเรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดี ข้อมูลบนเว็บไซต์ของธนาคารโลกระบุว่า ธนาคารโลกให้คำมั่นว่าจะอนุมัติเงินกู้ยืม 308 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (10,000 ล้านบาท) ให้แก่เบลารุสในปี 2563 เพื่อนำไปใช้พัฒนาโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการผลิตพลังงานจากชีวมวล การพัฒนาป่าไม้ และการพัฒนาการศึกษาให้ทันสมัย นอกจากนี้ ธนาคารโลกได้อนุมัติเงินกู้กว่า 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (520,000 ล้านบาท) ให้แก่รัสเซียนับตั้งแต่ช่วงต้นคริสต์ทศวรรษหลังปี 1990 โครงการล่าสุดของรัสเซียที่ธนาคารโลกอนุมัติเงินกู้ เช่น โครงการพัฒนาเยาวชนในเขตสหพันธ์คอเคซัสเหนือในปี 2556 และโครงการดูแลมรดกทางวัฒนธรรมในปี 2553 ประกาศดังกล่าวของธนาคารโลกมีขึ้นเพียง 1 วันหลังจากที่บรรดาผู้นำของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศระบุว่า กำลังเร่งจัดหาเงินทุนเพิ่มเติมหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่ยูเครนในอนาคต พร้อมทั้งเตือนว่า สงครามที่เกิดขึ้นมีความเป็นไปได้อย่างมากที่อาจจะลุกลามไปยังประเทศอื่น ๆ.-สำนักข่าวไทย

ธนาคารโลก ชี้เทคโนโลยีดิจิทัล สร้างรายได้ให้ไทยได้มากถึง 3.4 พันล้านดอลลาร์

ธนาคารโลกชี้การเร่งใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ช่วยสร้างการลงทุน ประหยัดค่าใช้จ่าย และสร้างรายได้ให้ไทยได้มากถึง 3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ธนาคารโลกคาดเศรษฐกิจเมียนมาปีนี้โตแค่ 1%

ย่างกุ้ง 26 ม.ค. – ธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจเมียนมาจะขยายตัวเพียงร้อยละ 1 ในรอบ 12 เดือนนับถึงสิ้นเดือนกันยายนนี้ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่หดตัวถึงร้อยละ 18 ในปีก่อนจากการระบาดของโรคโควิด-19 และการก่อรัฐประหาร ธนาคารโลกกล่าวในรายงานที่เผยแพร่ในวันนี้ โดยคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจเมียนมาจะขยายตัวในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงความต้องการส่งออกเสื้อผ้า ก๊าซธรรมชาติ และการฟื้นตัวของธุรกิจก่อสร้าง แต่เน้นย้ำว่าการคาดการณ์ดังกล่าวตั้งอยู่บนสัญญาณเกิดใหม่ของภาคบริการและการผลิตที่มีเสถียรภาพในช่วงนี้ รวมถึงผลกระทบจากความขัดแย้งด้านกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่รุนแรงขึ้นไปจากเดิมที่เป็นอยู่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทั้งยังระบุว่า เมียนมากำลังตกอยู่ในสภาพเปราะบางอย่างมากจากการระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนและการระบาดหลายระลอกของโรคโควิด-19 เนื่องจากมีอัตราฉีดวัคซีนโควิดอยู่ในระดับต่ำและมีขีดความสามารถด้านสาธารณสุขที่ไม่ดีนัก โดยมีประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนครบสองโดสเพียงร้อยละ 32 จากประชากรทั้งหมด 54 ล้านคน รายงานดังกล่าวยังคาดการณ์ว่า ตัวเลขผู้ว่างงานในเมียนมาจะเพิ่มขึ้นสูงถึง 1 ล้านคนนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปีก่อน ในขณะที่ลูกจ้างหรือแรงงานมีแนวโน้มที่จะได้รับค่าจ้างน้อยลง นอกจากนี้ ยังมีตัวชี้วัดว่าการลงทุนของภาคเอกชนในเมียนมาลดลงอย่างเห็นได้ชัด ส่วนบางโครงการที่เริ่มดำเนินการไปแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งรวมถึงภาคพลังงาน กลายเป็นสิ่งที่เดินหน้าต่อไม่ได้ เนื่องจากอุปสงค์ที่ยังคงอ่อนตัวและต้นทุนการนำเข้าพุ่งสูงขึ้น ในขณะที่ค่าเงินจ๊าดก็อ่อนค่าลงในตลาดสกุลเงินต่างประเทศ.-สำนักข่าวไทย

ธนาคารโลกคาดเศรษฐกิจจีนปี 2021 จบที่ขยายตัว 8%

ธนาคารโลก (World Bank) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของจีนจะขยายตัว 8% ในปี 2564 ซึ่งเป็นการปรับลดจาก 8.5% จากการคาดการณ์เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

จีนเรียกร้องธนาคารโลก-ไอเอ็มเอฟช่วยอัฟกานิสถาน

นายหวัง อี้ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของจีน เรียกร้องให้ธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ กลับมาให้การสนับสนุนทางการเงินแก่อัฟกานิสถานอีกครั้งเพื่อฟื้นฟูประเทศให้กลับสู่สภาพเดิม

ธนาคารโลกหวังจีนบริจาคเงินเพิ่มช่วยประเทศยากจน

นายเดวิด มัลพาสส์ ประธานธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีตามเวลาท้องถิ่นว่า เขาหวังว่าจีนจะเพิ่มยอดเงินบริจาคให้แก่กองทุนเพื่อประเทศยากจนของสมาคมการพัฒนาระหว่างประเทศ หรือไอดีเอ เนื่องจากเศรษฐกิจจีนเติบโตได้ดีในขณะนี้

ธนาคารโลกชี้โควิดสายพันธุ์เดลตาทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว

ธนาคารโลก กล่าวว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกต้องถูกบ่อนทำลายจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา ที่ติดต่อกันได้ง่ายกว่าเดิม ซึ่งมีแนวโน้มทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจต้องชะลอตัวลงและทำให้เกิดความไม่เสมอภาคเพิ่มมากขึ้นในภูมิภาค

1 2 3 4 5 10
...