fbpx

อินเดียเรียกร้องปฏิรูปธนาคารโลก

เบงกาลูรู 24 ก.พ. – นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย ร่วมกระแสเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันการเงินระหว่างประเทศ รวมถึงธนาคารโลก นายกรัฐมนตรีโมดี กล่าวผ่านวิดีโอลิงก์ไปยังที่ประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ หรือจี 20 (G20) ซึ่งจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน เริ่มตั้งแต่วันนี้ ที่เมืองเบงกาลูรู หรือบังกาลอร์เดิมของอินเดีย ว่าความเชื่อมั่นในสถาบันการเงินระหว่างประเทศได้ผุกร่อนไปแล้ว สาเหตุหนึ่งเนื่องจากสถาบันเหล่านี้ปฏิรูปตัวเองช้าเกินไป เพราะในขณะที่ประชากรโลกเพิ่มขึ้นจนมีจำนวนเกิน 8,000 ล้านคนแล้ว ความคืบหน้าในการปฏิบัติตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งกลับชะลอตัวลง จึงควรต้องร่วมกันเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ธนาคารเพื่อการพัฒนาพหุภาคี เพื่อให้สามารถรับมือกับความท้าทายระดับโลกอย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาระหนี้สินระดับสูง ถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีอินเดียสะท้อนสิ่งที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้ธนาคารโลกเพิ่มการให้สินเชื่อ และขยายวัตถุประสงค์ของสินเชื่อให้มากกว่าการแก้ไขความยากจน นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐกล่าวเมื่อวานนี้ว่า ธนาคารโลกจำเป็นต้องผนวกประเด็นความท้าทายระดับโลกเข้าไว้ในภารกิจหลัก เพื่อให้เรื่องสำคัญเหล่านี้มีความคืบหน้าอย่างยั่งยืน คาดว่าที่ประชุมจะหารือเรื่องผลกระทบเชิงลบที่ยังเกิดขึ้นต่อเนื่องมาจากโรคโควิด-19 ระบาดและสงครามยูเครน การผ่อนปรนหนี้ให้แก่ประเทศยากจนที่ประสบปัญหาอาหารและเชื้อเพลิงมีราคาสูง แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่า ที่ประชุมจะสามารถออกแถลงการณ์ร่วมกันได้หรือไม่ หลังจากล้มเหลวมาแล้วในการประชุม 3 ครั้งหลังสุด เนื่องจากตัวแทนการประชุมมีความเห็นแตกต่างกันหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องสงครามยูเครน ก่อนหน้านี้นายเดวิด มัลพาสส์ ประธานธนาคารโลก วัย 66 ปี เผยเมื่อต้นเดือนว่า จะลาออกในปีนี้ก่อนครบวาระ 5 ปี […]

ธนาคารโลกปรับลดคาดหมายการขยายตัวเศรษฐกิจโลกปีนี้

ธนาคารโลกกล่าวว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกกำลังช้าลงเรื่อย ๆ ในระดับอันตรายที่ใกล้จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย พร้อมกับปรับลดการคาดหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ เนื่องจากมีภาวะเงินเฟ้อสูง อัตราดอกเบี้ยที่มีการปรับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และปัญหาจากการที่รัสเซียบุกยูเครน

นายกฯ ยินดีรายงาน World Bank ชี้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเร็วเกินคาด

โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ยินดี รายงาน World Bank ชี้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเร็วเกินคาด และมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง เป็นสัญญาณที่ดี แม้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยเป็นผลสำเร็จจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่สอดคล้องสถานการณ์ แก้ปัญหาตรงจุด

สหรัฐขอให้จีนและจี 20 บรรเทาหนี้ให้ประเทศยากจน

เจ้าหน้าที่สหรัฐเผยว่า สหรัฐกำลังกดดันจีนและประเทศอื่นๆ ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ หรือจี 20 (G20) ให้หาทางบรรเทาหนี้ให้แก่ประเทศยากจน

ศรีลังกาเผยจะยังคงสถานะเป็นประเทศรายได้ปานกลาง

ทำเนียบประธานาธิบดีศรีลังกา ระบุว่า ศรีลังกาจะยังคงสถานะเป็น ‘ประเทศที่มีรายได้ปานกลาง’ ต่อไป แต่จะขอให้ธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ อนุมัติเงินกู้บางส่วนที่นำไปช่วยเหลือประเทศยากจนให้แก่ศรีลังกา ซึ่งถือเป็นการแก้ไขคำพูดของโฆษกรัฐบาลศรีลังกาที่ระบุว่า ศรีลังกาจะลดสถานะเป็น ‘ประเทศที่มีรายได้ต่ำ’

ครม. ศรีลังกาเห็นชอบปรับลดสถานะเป็นประเทศรายได้ต่ำ

โคลัมโบ 11 ต.ค. – คณะรัฐมนตรีศรีลังกามีมติเห็นชอบข้อเสนอปรับให้ศรีลังกาลดสถานะเป็น ‘ประเทศที่มีรายได้ต่ำ’ จากเดิมที่เป็น ‘ประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงต่ำ’ เพื่อให้ศรีลังกามีโอกาสเข้าถึงกองทุนช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศ โฆษกของรัฐบาลศรีลังกาเผยวันนี้ว่า คณะรัฐมนตรีศรีลังกาได้ลงมติเห็นชอบข้อเสนอปรับให้ศรีลังกาลดสถานะเป็นประเทศที่มีรายได้ต่ำในบัญชีจำแนกสถานะประเทศตามระดับรายได้ของธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ จากเดิมที่เป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงต่ำ ซึ่งเป็นไปตามคำแนะนำของตัวแทนจากองค์กรระหว่างประเทศที่ระบุว่า การปรับลดสถานะเป็นประเทศที่มีรายได้ต่ำจะทำให้ศรีลังกาเข้าถึงกองทุนช่วยเหลือได้ง่ายขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์ที่ศรีลังกากำลังเผชิญกับวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2491 ซึ่งเป็นผลมาจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวของศรีลังกา ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น การใช้นโยบายประชานิยมลดหย่อนภาษี และคำสั่งห้ามนำเข้าปุ๋ยเคมีนานถึง 7 เดือนเมื่อปีก่อนจนทำให้ภาคการเกษตรเสียหายหนัก จนทำให้ศรีลังกาขาดแคลนเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเพื่อนำเข้าสินค้าจำเป็นต่าง ๆ เช่น อาหาร น้ำมันเชื้อเพลิง และเวชภัณฑ์ สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า เศรษฐกิจของศรีลังกาในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้หดตัวสูงถึงร้อยละ 8.4 ขณะที่ธนาคารกลางของศรีลังกาคาดการณ์เมื่อสัปดาห์ก่อนว่า เศรษฐกิจศรีลังกาอาจหดตัวเพิ่มเป็นร้อยละ 8.7 ในปีนี้ ส่วนข้อมูลจากธนาคารโลกระบุว่า ศรีลังกามีค่าจีดีพีต่อประชากรอยู่ที่ 3,815 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 145,600 บาท) ในปี 2564 และจัดเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงต่ำ. -สำนักข่าวไทย

หุ้นไทยพักฐานหวั่นเศรษฐกิจโลกถดถอย

หุ้นไทยพักฐานตามหุ้นทั่วโลกหวั่นเศรษฐกิจโลกถดถอย ทำให้ตลาดหุ้นไทยเช้านี้ (16 ก.ย. 65) ดัชนี SET Index เปิดตลาด อยู่ที่ระดับ 1,639.04 จุด ปรับลง -3.29 จุด และเวลา.10.23. น.ปรับลง -6.72 จุด อยู่ที่ระดับ1,635.07จุด 

ปากีสถานต้องการความช่วยเหลือทางการเงินสู้น้ำท่วมใหญ่

อิสลามาบัด 29 ส.ค.- ปากีสถานเผยว่า ต้องการความช่วยเหลือทางการเงินในการรับมือกับอุทกภัยรุนแรง และหวังว่าสถาบันการเงินจะนำเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจไปคำนวณในการจัดสรรความช่วยเหลือด้วย นายบิลาวัล บุตโต-ซาร์ดารี รัฐมนตรีต่างประเทศปากีสถานให้สัมภาษณ์รอยเตอร์ว่า ไม่เคยเห็นการทำลายล้างรุนแรงเช่นนี้มาก่อน มันรุนแรงจนไม่สามารถบรรยายเป็นคำพูดได้ พืชผลจำนวนมากที่เลี้ยงปากท้องประชาชนถูกทำลายเสียหายหมดสิ้น ความรุนแรงนี้จะส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อเศรษฐกิจโดยรวมของปากีสถานที่อยู่ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจอยู่แล้ว อัตราเงินเฟ้อสูง เงินรูปีอ่อนค่า และขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เขาคาดว่า คณะกรรมการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ (IMF) จะอนุมัติในสัปดาห์นี้เรื่องปล่อยสินเชื่องวดที่ 7 และ 8 รวม 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 43,700 ล้านบาท) ในโครงการที่ปากีสถานขอรับความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟตั้งแต่ปี 2562 และหวังว่าไอเอ็มเอฟจะนำเรื่องผลกระทบจากน้ำท่วมไปคำนวณเพื่อจัดสรรความช่วยเหลือในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ขณะนี้กำลังมีการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจอยู่ บางคนประเมินไว้ที่ 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 145,700 ล้านบาท) แต่หากรวมผลกระทบด้านโครงสร้างพื้นฐานและความเป็นอยู่ของประชาชน ตัวเลขน่าจะสูงกว่านี้มาก รัฐมนตรีต่างประเทศปากีสถานเผยด้วยว่า ปากีสถานจะขอในสัปดาห์นี้ให้ชาติสมาชิกสหประชาชาติบริจาคเงินช่วยบรรเทาทุกข์ จากนั้นจะหารือกับสถาบันการเงินอย่างไอเอ็มเอฟ ธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชียเรื่องการบูรณะฟื้นฟูประเทศหลังน้ำท่วม และจะหาทางพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้สามารถต้านทานทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง และจะหาทางปรับตัวภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้สามารถอยู่ร่วมกับสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นความท้าทายใหญ่หลวงต่อภาคการเกษตร.-สำนักข่าวไทย

ธนาคารโลกยังไม่มีแผนเสนอความช่วยเหลือใหม่ให้ศรีลังกา

วอชิงตัน 29 ก.ค.- ธนาคารโลกยังไม่มีแผนการเสนอความช่วยเหลือทางการเงินครั้งใหม่ให้แก่ศรีลังกาที่กำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อ 74 ปีก่อน ธนาคารโลกแถลงว่า ศรีลังกาจำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างที่เน้นเรื่องการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และแก้ไขที่รากเหง้าของวิกฤตที่ทำให้ประเทศขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ อาหาร เชื้อเพลิง และยา ธนาคารโลกกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์เศรษฐกิจเลวร้ายและผลกระทบต่อประชาชนของศรีลังกา จึงได้กำลังปรับเปลี่ยนความช่วยเหลือภายใต้สินเชื่อปัจจุบันไปช่วยบรรเทาการขาดแคลนสิ่งจำเป็น เช่น ยา ก๊าซหุงต้ม และอาหารสำหรับเด็ก ๆ และเงินสดสำหรับครัวเรือนเปราะบาง และได้กำหนดวิธีการกำกับดูแลเพื่อให้มีการแจกจ่ายทรัพยากรเหล่านี้อย่างเป็นธรรม อดีตประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษาของศรีลังกาเผยขณะยังอยู่ในตำแหน่งเมื่อเดือนมิถุนายนว่า ธนาคารโลกจะปรับปรุงโครงสร้างของโครงการปัจจุบัน 17 โครงการ และจะจัดสรรความช่วยเหลือเพิ่มเติม หลังจากสามารถสรุปการเจรจาเรื่องสินเชื่อกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ (IMF) อย่างไรก็ดี นายราชปักษาได้หนีออกนอกประเทศและลาออกที่สิงคโปร์ หลังจากประชาชนบุกบ้านพักและทำเนียบประธานาธิบดี ปัจจุบันศรีลังกายังอยู่ภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ใช้มาตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม.-สำนักข่าวไทย

เตือนโลกเสี่ยงเกิดภาวะ stagflation

วอชิงตัน 8 มิ.ย.- ธนาคารโลกเตือนว่า เศรษฐกิจโลกเสี่ยงเข้าสู่ภาวะสแตกเฟลชัน (stagflation) ที่การเติบโตหยุดชะงักแต่เงินเฟ้อสูง คล้ายกับช่วงคริสต์ทศวรรษหลังปี 1970 สาเหตุหลักมาจากสงครามยูเครน นายเดวิด มัลพาสส์ ประธานธนาคารโลกเผยกับสื่อว่า มีโอกาสค่อนข้างมากที่จะเกิดภาวะดังกล่าว และจะเกิดผลที่สร้างความสั่นคลอนต่อเศรษฐกิจรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง หลายประเทศจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ และหากเศรษฐกิจโลกไม่ขยายตัวเลย ก็จะเท่ากับเกิดเศรษฐกิจโลกถดถอย เขาย้ำว่า จำเป็นต้องเพิ่มการผลิตเพื่อแก้ปัญหาราคาสินค้าโดยเฉพาะพลังงานปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติและปุ๋ยในขณะนี้กำลังกระทบการผลิตอาหาร ขณะเดียวกันต้องหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการจำกัดการส่งออกและอุดหนุนราคาที่จะทำให้ราคาสินค้ายิ่งสูงขึ้นไปอีกและทำให้ตลาดบิดเบือน รายงานการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกของธนาคารโลกที่เผยแพร่เมื่อวันอังคารปรับลดประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ลงเหลือร้อยละ 2.9 ลดลงร้อยละ 1.2 จากการประมาณการเมื่อเดือนมกราคม เพราะสงครามยูเครนซ้ำเติมความเสียหายที่เกิดจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 และทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวมากยิ่งขึ้นไปอีก จากปัจจุบันที่เสี่ยงเข้าสู่ภาวะสแตกเฟลชัน ทั้งที่ปีที่แล้วเพิ่งฟื้นตัวมาขยายตัวที่ร้อยละ 5.7 เพราะโควิดดีขึ้น สถานการณ์ดังกล่าวจะคล้ายกับช่วงคริสต์ทศวรรษหลังปี 1970 ที่เศรษฐกิจโลกไม่เติบโตและเงินเฟ้อพุ่งทะยาน เพราะมีปัญหาเรื่องอุปทานและการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำมายาวนาน ต่างกันตรงที่ว่าปัจจุบันดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า และสถาบันการเงินหลักยังมีสถานะการเงินแข็งแกร่ง รายงานปรับลดประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปีนี้ลงร้อยละ 1.2 เหลือร้อยละ 2.5 ปรับลดจีนลงร้อยละ 0.8 เหลือร้อยละ 4.3 ปรับลดยูโรโซนลงเหลือร้อยละ 2.5 ปรับลดญี่ปุ่นลงเหลือร้อยละ 1.7 และคาดว่ารัสเซียจะหดตัวมากถึงร้อยละ 11.3.-สำนักข่าวไทย

ธนาคารโลกเตือนทั่วโลกเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย

วอชิงตัน 26 พ.ค. – นายเดวิด มัลพาสส์ ประธานของธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ เตือนว่า การบุกโจมตียูเครนของรัสเซียอาจทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก รวมถึงปัญหาราคาอาหาร พลังงาน และปุ๋ยที่พุ่งสูงขึ้น นายมัลพาสส์กล่าวในงานเสวนาธุรกิจที่จัดขึ้นในสหรัฐเมื่อวันพุธตามเวลาท้องถิ่นว่า เป็นเรื่องยากที่ทั่วโลกจะหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เป็นผลจากการบุกโจมตียูเครนของรัสเซีย รวมถึงการใช้มาตรการล็อกดาวน์หลายต่อหลายครั้งของจีนได้เพิ่มความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจเช่นกัน ค่าจีดีพีทั่วโลกสะท้อนให้เห็นว่าเป็นเรื่องยากที่จะเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทั้งยังระบุว่า ปัญหาราคาน้ำมันแพงขึ้น 2 เท่าในตอนนี้ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ทั่วโลกเผชิญกับภาวะดังกล่าว ก่อนหน้านี้ ธนาคารโลกได้ประกาศปรับลดประมาณการณ์อัตราเติบโตเศรษฐกิจโลกในปีนี้เหลือร้อยละ 3.2 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา.-สำนักข่าวไทย

“เซเลนสกี” วอนขับรัสเซียออกจากธนาคารโลก

ผู้นำยูเครน เรียกร้องประชาคมโลกช่วยกันขับรัสเซียออกจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ รวมทั้งคว่ำบาตรและอายัดเงินของรัสเซีย แล้วนำเงินมาเยียวยาความเสียหาย

1 2 3 4 10
...