23 เมษายน 2568
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีข้อมูลสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับประโยชน์ของฟลูออไรด์ต่อสุขภาพฟันเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ในสหรัฐฯ เมื่อมีคลิปที่เชื่อมโยงว่าฟลูออไรด์ในยาสีฟันเป็นสารก่อมะเร็ง

บทสรุป :
1.งานวิจัยความสัมพันธ์ระหว่างฟลูออไรด์กับมะเร็งในมนุษย์ไม่ชัดเจน
2.พบความเสี่ยงมะเร็งกระดูก Osteosarcoma จากการสัมผัสฟลูออไรด์ปริมาณสูงในหนูทดลองเพศผู้ แต่ความเสี่ยงในมนุษย์ยังไม่ชัดเจน
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
ข้ออ้างเรื่องฟลูออไรด์กับมะเร็ง มาจากงานวิจัยปี 1990 ที่เผยแพร่โดยโครงการพิษวิทยาแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NTP) ที่พบว่า เมื่อให้หนูได้รับฟลูออไรด์ปริมาณสูงจากน้ำดื่มผสมฟลูออไรด์ จะพบว่าหนูทดลองเพศผู้ป่วยเป็นมะเร็งกระดูกชนิด Osteosarcoma มากผิดปกติ
Osteosarcoma เป็นมะเร็งกระดูกชนิดที่พบได้ยาก แต่พบได้บ่อยในเด็กวัยรุ่นตอนต้นที่มีอายุเฉลี่ยประมาณ 15 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว หากไม่รับการรักษา ผู้ป่วยจะเสียชีวิตในเวลาไม่เกิน 2 ปี
ข้อมูลจากสมาคมโรคมะเร็งอเมริการะบุว่า หนึ่งในทฤษฎีที่เชื่อมโยงฟลูออไรด์กับมะเร็งกระดูกชนิด Osteosarcoma มากจากการที่ฟลูออไรด์มักสะสมอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของกระดูกที่กำลังเติบโต หากได้รับฟลูออไรด์จำนวนมาก ฟลูออไรด์จะไปกระตุ้นการเติบโตของเซลล์ในกระดูกอย่างต่อเนื่อง จนเซลล์ดังกล่าวกลายเป็นเซลล์มะเร็ง
งานวิจัยความสัมพันธ์ระหว่างฟลูออไรด์กับมะเร็งในมนุษย์ไม่ชัดเจน
แม้จะมีการวิจัยความสัมพันธ์ระหว่างฟลูออไรด์กับมะเร็ง Osteosarcoma อย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันก็ยังไม่สามารถหาบทสรุปที่แน่ชัดว่า การได้รับฟลูออไรด์ปริมาณสูงเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งกระดูก Osteosarcoma หรือไม่
งานวิจัยปี 2006 จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด พบว่า การได้รับฟลูออไรด์ปริมาณสูงจากน้ำดื่มผสมฟลูออไรด์ เพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งกระดูก Osteosarcoma ในเด็กผู้ชาย แต่ไม่พบปรากฏการณ์ดังกล่าวในเด็กผู้หญิง
งานวิจัยปี 2011 จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด เปรียบเทียบปริมาณฟลูออไรด์ในกระดูกที่อยู่ใกล้ ๆ ก้อนเนื้อผู้ป่วยมะเร็งกระดูก Osteosarcoma กับปริมาณฟลูออไรด์ผู้ป่วยมะเร็งกระดูกชนิดอื่น ๆ ผลสำรวจไม่พบว่า ปริมาณฟลูออไรด์ของผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มมีความแตกต่างกัน
มีงานวิจัยที่เปรียบเทียบความชุกของการป่วยเป็นมะเร็งกระดูก Osteosarcoma ในพื้นที่ที่ระดับปริมาณฟลูออไรด์แตกต่างกัน ทั้งในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และไอร์แลนด์ ผลวิจัยไม่พบว่าการอาศัยในพื้นที่ที่แหล่งน้ำมีปริมาณฟลูออไรด์สูง เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งกระดูก Osteosarcoma แต่อย่างใด
งานวิจัยแบบ Systematic Review ปี 2025 ที่เผยแพร่ทางวารสาร Bone ได้ตรวจสอบงานวิจัยที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างฟลูออไรด์กับมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิ เช่น มะเร็งกระดูก Osteosarcoma
การตรวจสอบพบว่า งานวิจัย 12 จาก 14 ชิ้น ไม่พบความสัมพันธ์ที่แน่ชัดระหว่างฟลูออไรด์กับมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิ รวมถึงมะเร็งกระดูกชนิด Osteosarcoma ส่วนงานวิจัย 2 ชิ้น พบความสัมพันธ์ระหว่างฟลูออไรด์กับมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิและมะเร็งกระดูกชนิด Osteosarcoma ในเด็กผู้ชาย
อย่างไรก็ดี ผู้ตรวจสอบงานวิจัยชี้ว่า กระบวนการวิจัยส่วนใหญ่มีคุณภาพต่ำ ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของผลวิจัย และจำเป็นต้องมีการออกแบบงานวิจัยที่มีคุณภาพมากกว่านี้ เพื่อยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างฟลูออไรด์กับมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิและมะเร็งกระดูกชนิด Osteosarcoma
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.cancer.org/cancer/risk-prevention/chemicals/water-fluoridation-and-cancer-risk.html
https://healthfeedback.org/claimreview/scientific-evidence-shows-fluoride-water-toothpaste-safe-at-recommended-levels/
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter