14 กันยายน 2564
ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย: Science Feedback (สหรัฐอเมริกา)
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: พีรพล อนุตรโสตถิ์, อดิศร สุขสมอรรถ
ประเภทข่าวปลอม: ข้อมูลเท็จ
บทสรุป:
- เป็นข้อสันนิฐานที่เกิดขึ้นในสมัยที่ไวรัสโควิด 19 เริ่มระบาดช่วงต้นปี 2020
- การวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมและแผนภูมิวิวัฒนาการไวรัส ไม่พบหลักฐานว่าไวรัสโควิด 19 เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาแต่อย่างใด
ข้อมูลที่ถูกแชร์:
เป็นข้อมูลเท็จที่เผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในสหรัฐอเมริกา หลังจากหนังสือพิมพ์ Washington Post และเว็บไซต์ BuzzFeed ได้นำอีเมล์ของ แอนโธนี เฟาชี ผู้อำนวยการสถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐ (NIAID) จำนวนหลายพันฉบับที่รับส่งเมื่อช่วงต้นปี 2020 ออกมาเผยแพร่สู่สาธารณชน โดยเนื้อหาส่วนใหญ่คือความเห็นเกี่ยวกับโควิด 19 ซึ่งได้รับการพิสูจน์ในภายหลังว่าไม่เป็นความจริง ทั้งหน้ากากอนามัยป้องกันไวรัสโควิด 19 ไม่ได้, ยา Hydroxychloroquine สามารถรักษาโควิด 19 ได้ และคนที่เคยป่วยด้วยโรคโควิด 19 แล้วไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนอีก
หนึ่งในประเด็นที่กลับมาเป็นกระแสอีกครั้งคือข้อสงสัยว่าไวรัส SARS-CoV-2 หรือไวรัสโควิด 19 อาจเกิดจากการตัดต่อพันธุกรรมโดยนักวิทยาศาสตร์ในห้องทดลอง แม้จะเป็นข้อมูลที่ได้รับการยืนยันว่าไม่เป็นความจริง แต่ก็ยังเป็นที่สงสัยจนข้อกล่าวอ้างถูกแชร์บนสื่อสังคมออนไลน์หลายแสนครั้ง
FACT CHECK: ตรวจสอบข้อเท็จจริง:
มูลเหตุที่เชื่อว่า แอนโธนี เฟาชี อาจมีส่วนรู้เห็นว่าไวรัส SARS-CoV-2 ถูกสร้างโดยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ มาจากอีเมล์ที่เขาได้รับจาก คริสเตียน จี.แอนเดอร์สัน ศาสตราจารย์ด้านภูมิคุ้มกันวิทยาและจุลชีววิทยา สถาบัน Scripps Research Institute ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาวิวัฒนาการของไวรัส
วันที่ 31 มกราคม 2020 แอนเดอร์สันแสดงความเห็นผ่านอีเมล์ถึงแอนโธนี เฟาชีว่า “แผนภูมิวิวัฒนาการไวรัสของ SARS-CoV-2 ดูปกติ และมีความใกล้ชิดกับไวรัสที่พบในค้างคาว ยืนยันได้ว่าค้างคาวคือแหล่งรังโรคของไวรัสชนิดนี้”
อย่างไรก็ดี แอนเดอร์สันได้ระบุข้อความในตอนท้ายของอีเมล์ว่า “มีสิ่งผิดปกติเล็กน้อยที่พบในรหัสพันธุกรรมของไวรัส (น้อยกว่า 0.1%) จึงต้องวิเคราะห์ลำดับพันธุกรรมเป็นพิเศษ เพราะอาจมีการตัดต่อพันธุกรรมเกิดขึ้น”
ข้อความดังกล่าว จึงถูกใช้เป็นหลักฐานเชื่อมโยงทฤษฎีที่ว่ามนุษย์คือผู้สร้างไวรัสโควิด 19
ภายหลังแอนเดอร์สันและทีมงานได้ศึกษาลำดับพันธุกรรมของไวรัส SARS-CoV-2 ตามที่กล่าวไว้ในอีเมล์ แต่ผลวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Medicine เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2020 สรุปว่า “การวิเคราะห์ได้บทสรุปที่ชัดเจนว่า ไวรัส SARS-CoV-2 ไม่ใช่สิ่งที่สร้างขึ้นในห้องทดลอง หรือเป็นไวรัสที่จงใจสร้างขึ้นโดยฝีมือมนุษย์”
แอนเดอร์สันอธิบายสาเหตุการเปลี่ยนความคิดผ่านทาง Twitter เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2021 ว่า “ลักษณะของไวรัส SARS-CoV-2 ทำให้ข้อสันนิฐานเรื่องการตัดต่อพันธุกรรมเป็นโมฆะ และช่วยสนับสนุนการเกิดตามธรรมชาติของไวรัสชนิดนี้ในที่สุด เพราะหลังจากส่งอีเมล์ให้กับดร.เฟาชีไม่กี่วัน ข้อมูลต่างๆ ก็ได้รับการเปิดเผย โดยเฉพาะไวรัส RaTG13 ที่พบในค้างคาวจากประเทศจีน พบว่ามีรหัสพันธุกรรมที่ใกล้เคียงกับ SARS-CoV-2 ถึง 96.1%
แอนเดอร์สันกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงแนวคิดแบบสุดขั้ว ถือเป็นเรื่องปกติที่พบได้ในแวดวงวิทยาศาสตร์ โดยย้ำว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ข้อสันนิฐานเบื้องต้นจะถูกปัดตกโดยข้อสันนิฐานใหม่ เมื่อมีข้อมูลให้ค้นคว้ามากขึ้นและเมื่อกระบวนการคิดวิเคราะห์เสร็จสมบูรณ์แล้ว
ข้อสันนิฐานว่าไวรัสโควิด 19 ถูกสร้างโดยมนุษย์ ถูกกล่าวอ้างในหลายรูปแบบ ทั้งข้ออ้างที่ว่าไวรัสโควิด 19 ถูกตัดต่อพันธุกรรมมาจากไวรัสโคโรนาชนิดอื่นๆ หรืออ้างว่าไวรัสโควิด 19 มีลำดับพันธุกรรมที่นำมาจากไวรัส HIV ซึ่งจากการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมและแผนภูมิวิวัฒนาการไวรัส ไม่พบหลักฐานว่าไวรัสโควิด 19 เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาแต่อย่างใด
หนึ่งในความเป็นไปได้ที่ว่า ไวรัสโควิด 19 อาจเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่หลุดออกมาจากห้องทดลองโดยบังเอิญ ก็ยังเป็นข้อสันนิฐานที่ยังสร้างการถกเถียงในแวดวงวิทยาศาสตร์จนถึงปัจจุบัน
ความไม่ชัดเจนที่เกิดขึ้น ทำให้กลุ่มนักวิทยาศาสตร์เรียกร้องผ่านทางวารสาร Science เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2021 ให้มีการสอบสวนที่มาอย่างเหมาะสมและโปร่งใส เพื่อให้ต้นตอของไวรัสโควิด 19 ได้รับการยืนยันอย่างชัดเจนในอนาคต
- หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
- LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
- FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
- Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
- IG :: https://instagram.com/SureAndShare
- Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
- TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter