23 มิถุนายน 2564
ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย: Science Feedback (สหรัฐอเมริกา)
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: พีรพล อนุตรโสตถิ์, อดิศร สุขสมอรรถ
ประเภทข่าวปลอม: ข้อมูลเท็จ
บทสรุป:
- เป็นการบิดเบือนผลวิจัยโดยนสพ. New York Post งานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่าการล็อกดาวน์ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโควิด 19 และยังช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะยาว
- ผลวิจัยพบว่ามาตรการล็อกดาวน์สามารถช่วยชีวิชาวยุโรปเอาไว้ได้ถึง 3.1 ล้านคน
- ธนาคารโลก (World Bank) ที่พบว่าประเทศที่ชะลอมาตรการผ่อนคลายจนกว่าอัตราการแพร่เชื้อและเสียชีวิตจะลดลงแล้ว เศรษฐกิจของชาติเหล่านั้นจะกลับมาฟื้นฟูได้รวดเร็วกว่า ส่วนประเทศที่ผ่อนปรนมาตรการระหว่างที่อัตราการแพร่เชื้อและเสียชีวิตยังสูงอยู่ มักจะประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ
ข้อมูลที่ถูกแชร์:
เป็นข้อมูลเท็จที่เผยแพร่โดย New York Post หนังสือพิมพ์แนวอนุรักษ์นิยมของสหรัฐอเมริกา ที่อ้างว่าการล็อกดาวน์ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ, ก่อให้เกิดการว่างงาน และไม่ช่วยให้การเสียชีวิตจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ลดลงอีกด้วย
FACT CHECK: ตรวจสอบข้อเท็จจริง:
รายงานของ New York Post อ้างงานวิจัยของศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะจากสถาบัน Baker Institute มหาวิทยาลัย Rice University โดยผู้วิจัยศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการเสียชีวิตจากไวรัสโควิด 19 กับมาตรการล็อกดาวน์ในแต่ละรัฐ ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2020 ถึง ตุลาคม 2020 โดยอ้างข้อมูลจากการจัดอันดับโดยเว็บไซต์ WalletHub
ในรายงานของ New York Post ระบุว่า มาตรการล็อกดาวน์และอัตราการเสียชีวิตจากโควิด 19 มีความสัมพันธ์เพียงเล็กน้อย แม้จะยอมรับว่าการจัดอันดับมีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น ไม่มีการคำนวณความหนาแน่นของประชากรในแต่ละรัฐ, ความถี่ของการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ, ความแออัดของชุมชนเมือง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส
นอกจากนี้ บทสรุปของ New York Post ยังแตกต่างจากบทสรุปของงานวิจัยที่ระบุว่า มาตรการล็อกดาวน์ประสบความสำเร็จด้านการลดอัตราการเสียชีวิตรายวันในรัฐที่มีอัตราการเสียชีวิตจำนวนมาก ส่วนรัฐที่ไม่เข้มงวดด้านการรวมตัวในที่สาธารณะ จะมีอัตราการเสียชีวิตจากโควิด 19 จะมีแนวโน้มที่สูงกว่า
วิเวียน ฮู นักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและเจ้าของงานวิจัยของสถาบัน Baker Institute กล่าวว่า เธอผิดหวังที่งานวิจัยถูกบิดเบือน ผลวิจัยชี้ว่าประโยชน์จากมาตรการล็อกดาวน์จะยังไม่เห็นผลในเวลาอันสั้น แต่จะเกิดขึ้นในอีกหลายเดือนนับจากนั้น
มีงานวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์หลายชิ้นที่ยืนยันว่ามาตรการล็อกดาวน์ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโควิด 19 ได้จริง
งานวิจัยของเมการ์บานและคณะที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ Journal of General Internal Medicine เปรียบเทียบอัตราการแพร่เชื้อในประเทศต่างๆ ได้แก่ ประเทศที่ใช้มาตรการล็อกดาวน์แต่เนิ่นๆ แล้วค่อยๆ ผ่อนปรนตามสถานการณ์, ประเทศที่ปฏิเสธมาตรการล็อกดาวน์อย่างสวีเดน และประเทศที่มาตรการล็อกดาวน์แตกต่างกันในแต่ละรัฐเช่นสหรัฐอเมริกา ผลวิจัยพบว่าประเทศที่ใช้มาตรการล็อกดาวน์แต่เนิ่นๆ จะมีอัตราการติดเชื้อที่ลดลงอย่างรวดเร็ว ส่วนประเทศอย่างสวีเดนและสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดที่ยาวนานกว่า
งานวิจัยของบรานเนอร์และคณะที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ Science พบว่า มาตรการห้ามการชุมชนในที่สาธารณะเกิน 10 คน ช่วยลดอัตราการแพร่เชื้อได้ 42%, การปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัยช่วยลดอัตราการแพร่เชื้อได้ 38%, การปิดร้านอาหารและเครื่องดื่ม ช่วยลดอัตราการแพร่เชื้อได้เช่นกัน เมื่อมาตรการเหล่านี้นำมาใช้อย่างเคร่งครัด มาตรการเสริมอย่างคำสั่งให้ประชาชนอยู่กับบ้าน ช่วยลดอัตราการแพร่เชื้อได้มากกว่าเดิมเพียงเล็กน้อย
งานวิจัยของเฟล็กแมนและคณะที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ Nature ได้คำนวณอัตราการเสียชีวิตที่อาจเพิ่มขึ้น หากไม่มีการใช้มาตรการล็อกดาวน์ใน 11 ประเทศของยุโรป ในช่วงที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 เริ่มขึ้นจนถึงวันที่ 4 พฤษภาคมปี 2020 ซึ่งผลวิจัยพบว่ามาตรการล็อกดาวน์สามารถช่วยชีวิตคนเอาไว้ได้ถึง 3.1 ล้านคน
ส่วนผลเสียต่อเศรษฐกิจจากมาตรการล็อกดาวน์ที่ New York Post รายงาน ทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) พบว่าการล็อกดาวน์หรือการปล่อยให้การแพร่เชื้อเป็นไปอย่างเสรี ล้วนส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจทั้งสิ้น
แต่ IMF เชื่อว่า แม้การล็อกดาวน์จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่อาจจะช่วยให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้เร็วกว่า เพราะหากอัตราการแพร่เชื้อยังสูง การผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์จะไม่ถือเป็นฟื้นฟูเศรษฐกิจ เนื่องจากประชาชนยังไม่กล้าที่จะออกมารวมตัวในที่สาธารณะ และอัตราการเสียชีวิตที่สูงก็ส่งผลเสียต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจเช่นกัน
สอดคล้องกับการศึกษาของธนาคารโลก (World Bank) ที่พบว่าประเทศที่ชะลอมาตรการผ่อนคลายจนกว่าอัตราการแพร่เชื้อและเสียชีวิตจะลดลงแล้ว เศรษฐกิจของชาติเหล่านั้นจะกลับมาฟื้นฟูได้รวดเร็วกว่า ส่วนประเทศที่ผ่อนปรนมาตรการระหว่างที่อัตราการแพร่เชื้อและเสียชีวิตยังสูงอยู่ มักจะประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: https://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter