20 พฤษภาคม 2564 ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดย : พีรพล อนุตรโสตถิ์, ภริตพร สุธีพิเชฐภัณฑ์
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมากในวันต่อวัน ดังนั้นการบริหารจัดการของภาครัฐจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการทำงานให้ทันกับสถานการณ์ โดยเฉพาะการฉีดวัคซีน ที่จะเริ่มฉีดอย่างเป็นทางการในเดือนมิถุนายน 2564 ให้กับประชาชนที่มีอายุระหว่าง 18-59 ปี กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง
“ชัวร์ก่อนแชร์” ได้รวบรวมคำแนะนำเกี่ยวกับการเตรียมพร้อมเพื่อเข้ารับวัคซีน โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่
- นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
- นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ
- นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข
- “คู่มือวัคซีนสู้โควิด ฉบับประชาชน” จัดทำโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ (UNICEF) สถาบันวัคซีนแห่งชาติ
เตรียมพร้อมก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19
- ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนและขั้นตอนการรับบริการให้เข้าใจ
- สองวันก่อนฉีดวัคซีนให้งดออกกำลังกายหนัก หรือยกน้ำหนัก และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- การฉีดวัคซีนโควิดควรห่างกับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่อย่างน้อย 1 เดือน
ในวันนัดหมายฉีดวัคซีน
- สำรวจตนเอง หากมีไข้สูงในวันนัดหมายฉีดวัคซีน ควรแจ้งขอเลื่อนการฉีดออกไปก่อน
- วันที่ฉีดวัคซีน ควรดื่มน้ำอย่างน้อย 500-1,000 ซีซี งดชา กาแฟ หรือของที่มีคาเฟอีน รวมถึงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- ถ้ากินยาละลายลิ่มเลือดอยู่ สามารถกินยาตามปกติ ไม่ต้องหยุดยา
- แจ้งโรคประจำตัวต่อแพทย์ก่อนเข้ารับวัคซีนเพื่อประเมินความพร้อม ให้ข้อมูลสุขภาพอย่างละเอียดและถูกต้อง เช่น ประวัติการแพ้ยา วัคซีน อาหาร สารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ
- ให้ ฉีดแขนข้างที่ไม่ค่อยถนัด (หลังฉีดสองวัน ไม่ใช้แขนนั้น ในลักษณะต้องเกร็ง ยกของหนัก)
- สวมหน้ากาก รักษาระยะห่าง และล้างมือทั้งก่อน ระหว่าง หลัง การฉีดวัคซีน
ภายหลังฉีดวัคซีนแล้ว
- หลังได้รับวัคซีนควรเฝ้าระวังอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ อย่างน้อย 30 นาที
- กรณีทานยาละลายลิ่มเลือดอยู่ เมื่อฉีดยาแล้วให้กด ให้นิ่งตรงตำแหน่งที่ฉีดต่ออีก 1 นาที
- ถ้ามีไข้ หรือปวดเมื่อยมากทนไม่ไหวภายหลังการรับวัคซีน สามารถกินยาพาราเซตามอลขนาด 500 มิลลิกรัม ครั้งละหนึ่งเม็ดซ้ำได้ถ้าจำเป็น แต่ให้ห่าง 6 ชั่วโมง ห้ามกินยาพวก Brufen, Arcoxia, Celebrex เด็ดขาด
- หากมีอาการผิดปกติอื่นๆ ที่ไม่แน่ใจ เช่น มีผื่นลมพิษ ไข้สูงมาก หน้ามืด เป็นลม แขนขาอ่อนแรง เจ็บหน้าอก ให้ปรึกษาบุคลากรสุขภาพ หรือโทรศัพท์ 1422 และรีบไปพบแพทย์ หรือ โทร 1669
- หลังการฉีดวัคซีนให้งดออกกำลังกายหนัก หรือยกน้ำหนัก และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- หลังฉีดสองวัน ไม่ใช้แขนนั้น ในลักษณะต้องเกร็ง ยกของหนัก เมื่อได้รับวัคซีนเข็มแรกควรเตรียมตัวสำหรับการนัดหมายฉีดวัคซีนเข็มที่ 2
- ทุกคนยังคงต้องสวมหน้ากาก รักษาระยะห่าง และล้างมือทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการฉีดวัคซีน
ใครไม่สามารถรับวัคซีนได้?
“คู่มือวัคซีนสู้โควิด ฉบับประชาชน” ระบุว่า “กลุ่มอายุน้อยกว่า 18 ปี กลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง กลุ่มสตรีมีครรภ์และให้นมบุตร ซึ่งในประชากรกลุ่มนี้ ควรรับวัคซีนเมื่อพิจารณาร่วมกับแพทย์ที่ดูแลแล้วว่ามีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง
ใครก็ตามที่มีไข้สูงในวันนัดหมายฉีดวัคซีน ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนไปก่อน อย่างไรก็ตาม หากมีไข้ต่ำๆ หรือ เจ็บป่วยเล็กน้อย ไม่ควรเลื่อนฉีดวัคซีน สำหรับผู้มีโรคประจำตัว มีประวัติภูมิแพ้ หรือมีปัญหาภูมิคุ้มกันบกพร่อง ควรแจ้งบุคลากรการแพทย์ก่อนฉีดวัคซีน และขอคำแนะนำที่เหมาะสม”
เผยอาการไม่พึงประสงค์ ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับการฉีดวัคซีนทุกชนิด
นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับอาการไม่พึงประสงค์ เกิดขึ้นได้กับการฉีดวัคซีนทุกชนิด ถือเป็นปฏิกิริยาของร่างกายที่เป็นสัญญาณแสดงว่า ร่างกายกำลังถูกกระตุ้นให้วัคซีนสร้างภูมิคุ้มกัน คือ
1.อาการไม่พึงประสงค์ทั่วไป ได้แก่ ปวด บวม มีไข้ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ส่วนใหญ่หายได้เองใน 24-48 ชั่วโมง บรรเทาได้ด้วยการกินยาลดไข้ แก้ปวด พักผ่อน ดื่มน้ำ
2.อาการไม่พึงประสงค์ที่ควรพบแพทย์ เป็นปฏิกิริยาของร่างกายที่ตอบสนองวัคซีนมากเกินไป มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมากอาจเกิดกับผู้ที่มีประวัติแพ้วัคซีน มักเกิดภายใน 30 นาที หลังการฉีด อาการที่พบ ได้แก่ ไข้สูงกินยาก็ไม่ลด หน้ามือเป็นลม ความดันเลือดต่ำ แน่นหน้าอก หายใจขัด รักษาให้หายได้ ถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม วัคซีนที่ได้รับการรับรอง และขึ้นทะเบียนแล้ว ถือว่าผ่านการพิสูจน์ว่ามีประโยชน์มากกว่าโทษ และไม่ก่อผลข้างเคียงรุนแรง หรือพบในอัตราที่ต่ำมาก
หลังฉีดวัคซีนแล้วจะแพร่เชื้อโควิด-19 ให้คนรอบข้างได้หรือไม่?
นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ที่มีข้อกังวลว่าเมื่อฉีดวัคซีนแล้ว จะมีอาการตัวร้อน มีไข้ สามารถแพร่เชื้อโควิด-19 ให้กับคนใกล้ตัวได้นั้น ขอชี้แจงว่าวัคซีนที่ฉีดนั้นเป็นการฉีดเชื้อที่ตายแล้ว จึงไม่ใช่เชื้อโรคที่ทำให้ร่างกายป่วยติดเชื้อและแพร่ไปติดคนอื่นได้ ส่วนอาการผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเพียงปฏิกิริยาของร่างกายต่อวัคซีนเท่านั้น
คำแนะนำเพิ่มเติม : แนะกิน Fish Oil,ยาพารา,กล้วย, ฯลฯ ก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 จริงหรือ?
รายละเอียดเพิ่มเติมคลิก : https://tna.mcot.net/sureandshare-698382
ข้อมูลอ้างอิง
7 ข้อปฏิบัติ ก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19
https://qrgo.page.link/48rfy
ฉีดวัคซีนโควิด-19 ดีหรือไม่?
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=535743264209040&id=100033201141486
คู่มือ วัคซีนสู้โควิด (ฉบับประชาชน)
https://www.thaihealth.or.th/%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%94
ข้อแนะนำการเตรียมตัวก่อนไปฉีดวัคซีน
https://www.facebook.com/127034180656279/posts/6195281943831442/
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: https://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter