17 พฤษภาคม 2564 ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดย : พีรพล อนุตรโสตถิ์, ภริตพร สุธีพิเชฐภัณฑ์
ตามที่มีการแชร์ข้อมูลผ่านสื่อโซเชียลมีเดียถึงวิธีการเตรียมพร้อมก่อนเข้ารับวัคซีนโควิด-19 เช่น ก่อนฉีดวัคซีนให้กินยาพาราเซตามอล, Fish Oil เพื่อป้องกันเลือดแข็งตัว แนะนำให้ทานกล้วย รวมถึงอาหารที่มีแมกนีเซียมสูงๆ ตลอดจนงดเครื่องดื่มชา กาแฟนั้น เรื่องนี้จะเป็นอย่างไรมาร่วมหาคำตอบไปพร้อมกันกับ “ชัวร์ก่อนแชร์”
ข้อมูลที่ถูกแชร์
“ก่อนฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 แนะนำตามนี้ (ทุกท่านทั้งอายุ 18-59 และ อายุ 60 ขึ้นไป) ช่วง 2 สัปดาห์ ก่อนฉีด : 1. ทาน Fish Oil (โดย Fish Oil ที่ EPA มากๆ) ช่วยป้องกันเลือดแข็งตัว 2. ทานแมกนีเซียม คีเลต , อาหารที่มีแมกนีเซียม เช่น กล้วย อัลมอนด์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เต้าหู้ อโวคาโด ผักโขม ดาร์คชอคโกแลต ข้าวโอ๊ต ก่อนฉีด ช่วยป้องกันกล้ามเนื้อหดเกร็ง ควบคุมระดับคลอเรสเตอรอล 3. ทานนํ้าเยอะๆ วันละ 1-2 ลิตร (ช่วยให้เลือดไม่หนืด) 2-3 ก่อนวันที่ฉีด และวันที่ฉีด : 4. นอนให้เต็มที่ 5. งด ชา กาแฟ, งดยา cafergot, relpax ( ยาไมเกรน) วันที่ฉีด : 6. ทานน้ำมาซัก 1 ลิตรก่อนฉีด ( ป้องกันเลือดหนืด เลือดแข็งตัว )
….ก่อนฉีดให้กิน vitamin c 1000 mg ฉีด แล้วให้กินต่อไป เพิ่มภูมิต้านทาน 2)ก่อนไปฉีด 4วันให้ดื่มน้ำบ่อยๆ มากหน่อยเวลาฉีดจะคอแห้งทันที ให้พกขวดน้ำไปด้วย 3)ไป รพ.ที่คนหนาแน่น ให้สวมmask 2ชั้น หน้ากากอนามัยไว้ด้านใน หน้ากากผ้าด้านนอก 4)ก่อนฉีดให้กิน para ไปก่อนเลย ฉีดแล้วปวดแขน….”
Fact Check : ตรวจสอบข้อมูล
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ อสมท ได้ตรวจสอบข้อมูลกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีน นายแพทย์พรศักดิ์ อยู่เจริญ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรมป้องกัน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้คำตอบดังนี้
Q : ก่อนฉีดวัคซีนให้กิน vitamin C 1000 mg เพื่อเพิ่มภูมิต้านทาน?
A : วิตามินซีเป็นวิตามินที่มีลักษณะเป็น Antioxidant เป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ทำให้ระบบการทำงานของร่างกายดี ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผิดหากจะทานวิตามินซีก่อนฉีดวัคซีน แต่การทานวิตามินซี ไม่ได้มีผลทำให้ภูมิคุ้มกันมีประสิทธิภาพดีขึ้น
Q : ก่อนไปฉีดวัคซีนควรดื่มน้ำบ่อยๆ และเวลาฉีดวัคซีนจะคอแห้งทันที ให้พกขวดน้ำไปด้วย?
A : เรื่องคอแห้งทันทีจะเป็นเรื่องของอาการวิตกกังวล แต่การฉีดวัคซีนอยากให้ปฏิบัติตัวเป็นปกติ เพราะหากเกิดอาการวิตกกังวลก็จะเกิดอาการใจสั่น เหงื่อออก รู้สึกคอแห้ง ซึ่งจะเป็นอาการของระบบประสาทที่เกิดจากความวิตกกังวล ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการที่ร่างกายขาดน้ำ อีกทั้งการฉีดวัคซีนไม่ได้ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ แต่ความวิตกกังวลจะทำให้ร่างกายเกิดการกระหายน้ำ ใจสั่น มือเย็น หรือเกิดอาการความดันขึ้นได้
Q : ควรดื่มน้ำให้มากๆ ก่อนไปรับวัคซีนหรือไม่?
A : หากดื่มน้ำในปริมาณมากก็จะทำให้ปวดปัสสาวะ ซึ่งจะทำให้เกิดความวิตกกังวลในระหว่างรอฉีดวัคซีนได้ ฉะนั้นให้ดื่มน้ำไปตามปกติ และควรดื่มน้ำไม่น้อยกว่าวันละ 1-2 ลิตร ให้เป็นปกติวิสัย
Q : ควรสวม Mask 2 ชั้น หน้ากากอนามัยไว้ด้านใน หน้ากากผ้าด้านนอก เมื่อไปโรงพยาบาลที่คนหนาแน่น?
A : ควรสวมหน้ากากอนามัยไว้ด้านนอก เพื่อป้องกันสารคัดหลั่ง น้ำมูก น้ำลาย โดยด้านสีเข้มจะเคลือบสารป้องกันน้ำที่จะซึมเข้ามา ส่วนด้านในจะไม่ได้เคลือบสารอะไร เพื่อเป็นการดูดซึมน้ำมูก น้ำลายของผู้ที่สวมใส่
สำหรับการใส่หน้ากาก 2 ชั้น ก็จะทำให้เกิดการกรองได้มากขึ้น แต่ถ้าหากอยู่ในพื้นที่ที่ชุมชนเปิดโล่ง อากาศถ่ายเทได้ดี อาจจะไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากากถึง 2 ชั้น ยกเว้นการป้องกันตัวจากฝุ่น PM
การใช้หน้ากากอนามัย หากเป็นการป้องกัน น้ำมูก น้ำลาย การสวมใส่เพียงชั้นเดียวก็เพียงพอแล้ว ยกเว้นการเข้าไปในพื้นที่แออัด มีผู้คนจำนวนมาก เป็นพื้นที่ปิด เช่น รถไฟฟ้า หรือรถเมล์ หากมีความกังวลก็สามารถสวมใส่หน้ากาก 2 ชั้นได้
Q : ควรกินยาพาราเซตามอล ก่อนฉีดวัคซีน?
A : ไม่แนะนำให้ทานยาพาราเซตามอลก่อนเข้ารับวัคซีน เพราะจะทำให้ภูมิคุ้มกันขึ้นไม่ดี ควรรับประทานยาพาราเซตามอลเมื่อมีอาการปวดภายหลังจากการฉีดวัคซีนแล้วเท่านั้น
การฉีดวัคซีนไม่ได้ทำให้เจ็บปวดอะไร แต่ขึ้นอยู่กับเทคนิคการให้บริการของเจ้าหน้าที่ เช่น การฉีดวัคซีนในขณะที่ปลายเข็มแหงนขึ้นใกล้หัวไหล่ หรือข้อหัวไหล่ ก็จะยิ่งปวด รวมถึงการฉีดวัคซีนในขณะที่มีอุณหภูมิที่เย็นจัดจนเกินไปก็จะทำให้เกิดการเจ็บปวดได้
Q : ควรทาน Fish Oil โดยเฉพาะ Fish Oil ที่ EPA มากๆ จะช่วยป้องกันเลือดแข็งตัวก่อนฉีดวัคซีน?
A : ไม่จำเป็นต้องทาน Fish Oil ก่อนเข้ารับวัคซีน ทั้งนี้หากกังวลในเรื่องการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน Fish Oil ก็ไม่ได้ช่วยป้องกันลิ่มเลือดอุดตัน เพราะการเกิดลิ่มเลือดอุดตันจะเกิดขึ้นได้หลังจากฉีดวัคซีนไปแล้ว 7-10 วัน แต่หากทาน Fish Oil เป็นปกติอยู่แล้ว ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร การทานยาหรือกินอาหารเสริมก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร
Q : ควรทานแมกนีเซียม คีเลต, อาหารที่มีแมกนีเซียม เช่น กล้วย อัลมอนด์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เต้าหู้ อโวคาโด ผักโขม ดาร์คชอคโกแลต ข้าวโอ๊ต ก่อนฉีดวัคซีนจะช่วยป้องกันกล้ามเนื้อหดเกร็ง และควบคุมระดับคลอเรสเตอรอลได้?
A : อาหารพวกนี้เป็นอาหารที่มีแคลเซียมและแมกนีเซียมสูง ซึ่งจะช่วยในเรื่องภาวะการเป็นตะคริวสำหรับคนที่ขาดเกลือแร่ แต่หากผู้ฉีดวัคซีนมีความกังวลก่อนฉีดวัคซีนก็อาจจะเกิดอาการกล้ามเนื้อกระตุก กล้ามเนื้อหดเกร็งได้ ซึ่งเป็นอาการที่เกิดจากภาวะการวิตกกังวล ไม่ได้เกิดจากภาวะพร่องแคลเซียมหรือแมกนีเซียม อย่างไรก็ตามหากจะทานอาหารดังกล่าวเพราะเชื่อว่าจะมีส่วนช่วยทำให้ไม่เกิดอาการชัก อาการเกร็งนั้น ก็คงไม่ได้ช่วยอะไร เพราะพวกนี้เป็นอาหารที่ไปเสริมคนที่พร่องแคลเซียมหรือแมกนีเซียม ซึ่งเป็นอาหารที่บำรุงร่างกายทั่วไป
Q : ควรนอนให้เต็มที่ก่อนเข้ารับวัคซีน?
A : การที่ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานได้ดีก็ต้องได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ การพักผ่อนที่เพียงพอจะทำให้ร่างกายตอบสนองการสร้างภูมิต้านทานได้ดีขึ้น
Q : งด ชา กาแฟ งดยา cafergot, relpax ( ยาไมเกรน) ในวันที่จะฉีดวัคซีน?
A : ยาพวกนี้เป็นยาที่ทำให้หัวใจเต้นเร็ว รวมถึง ชา กาแฟ เป็นตัวกระตุ้นทำให้หลอดเลือดเกร็ง ในคนทั่วไปถ้าเกิดการวิตกกังวลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนก็จะมีอาการใจสั่น เหงื่อออก รู้สึกปวดปัสสาวะบ่อย ความดันขึ้น และหากยิ่งทานของพวกนี้เข้าไป ก็จะทำให้ใจสั่นมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นชา กาแฟ ถ้าเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยงก่อนไปฉีดวัคซีน
Q : หากมีภาวะใจสั่นอยู่ในขณะนั้น แพทย์จะทำการฉีดวัคซีนให้หรือไม่?
A : แพทย์จะให้นั่งพักก่อน หากความดันขึ้นก็จะให้นั่งพัก 5-10 นาที หรือบางรายอาจจะเป็นชั่วโมงจนกกว่าจะทำใจได้
Q : คนที่เป็นโรคหัวใจสามารถฉีดวัคซีนได้หรือไม่?
A : โรคหัวใจรวมอยู่ในกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง ขอให้คนกลุ่มนี้ทานยาตามปกติก่อนเข้ารับวัคซีนเพื่อคุมร่างกายให้เป็นปกติ
Q : ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า และทานยาต้านเศร้าเป็นประจำ สามารถรับวัคซีนได้หรือไม่?
A : หากยังคุมภาวะซึมเศร้าไม่ได้ก็ยังไม่เหมาะที่จะรับวัคซีน คนที่มีโรคประจำตัวจะต้องเป็นคนที่สามารถคุมภาวะอาการต่างๆ ได้ดี เช่น หากใจสั่น หน้ามืด หรือจะช็อกก่อนฉีดวัคซีน เราก็จะไม่แนะนำ หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะดูแล้วไม่เหมาะสมที่จะฉีดวัคซีน ก็จะไม่แนะนำ
กลุ่มที่มีโรคประจำตัวหรือมีโรคเรื้อรัง หากไม่แน่ใจว่าสามารถรับการฉีดวัคซีนได้หรือไม่ ควรปรึกษากับแพทย์ประจำตัวก่อนว่ามีความพร้อมในการรับวัคซีนหรือไม่ แต่หากผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้า สามารถคุมภาวะอาการได้ดี และไม่ได้มีอาการซึมเศร้าแล้ว มีการทานยาเป็นปกติ ไม่ได้ขาดยา ก็สามารถรับวัคซีนได้ตามปกติ เพราะวัคซีนไม่ได้ทำให้เกิดภาวะรวนในสมอง สิ่งที่เป็นปัญหาจริงๆ คือความวิตกกังวลจนทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติก็เลยเกิดภาวะนั้นเป็นการชั่วคราว เพราะเสพข้อมูลวัคซีนในทางผิดมากเกินไป
“แพทย์” แนะเตรียมความพร้อม 3 ด้านก่อนรับวัคซีน
นายแพทย์พรศักดิ์ อยู่เจริญ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรมป้องกัน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ควรเตรียมความพร้อมทั้งหมด 3 ส่วน 1. เตรียมความพร้อมด้านองค์ความรู้ ทำความเข้าใจ รับรู้ข้อมูลข่าวสารประโยชน์ หรือโทษ และข้อจำกัดของการรับวัคซีน 2. เตรียมความพร้อมด้านร่างกาย ด้วยการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ผู้มีโรคประจำตัวให้ทานยาตามปกติไม่ต้องอดหรือกังวลอะไร ให้ทำตัวเหมือนปกติ และไม่ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่รัดรูปจนเกินไป 3. เตรียมความพร้อมด้านจิตใจ ไม่ควรวิตกกังวลเรื่องผลข้างเคียงจากวัคซีนจนมากเกินไป
“วัคซีนเป็นสิ่งของที่อยู่ภายนอกร่างกาย เมื่อฉีดเข้าไปก็จะต้องรู้สึกแปลกๆ บ้าง เช่น จะรู้สึกว่าตึงสักพักหนึ่ง ถ้ามีอาการปวด หลังจากได้รับวัคซีนก็สามารถทานยาพาราเซตามอลหลังจากนั้นได้ ทั้งนี้หากใครเคยได้รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่มาก่อน ก็จะไม่รู้สึกถึงความแตกต่าง”นายแพทย์พรศักดิ์ ระบุ
ข้อมูลอ้างอิง
การสัมภาษณ์ นายแพทย์พรศักดิ์ อยู่เจริญ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรมป้องกัน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: https://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter