30 มีนาคม 2568
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคหัดในสหรัฐอเมริกา มีข่าวปลอมเกี่ยวกับโรคหัดและวัคซีนป้องกันโรคหัดเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยอ้างว่าสาเหตุการแพร่ระบาดของเชื้อโรคหัดในสหรัฐอเมริกาช่วงต้นปี 2025 แท้จริงแล้วมาจากการรณรงค์ฉีดวัคซีนโรคหัดนั่นเอง เนื่องจากมีการผลิตวัคซีนโรคหัดด้วยไวรัสเชื้อเป็น ทำให้ผู้รับวัคซีนมีอาการป่วยและแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น หลังพบหลักฐานเด็กที่รับวัคซีน MMR แล้วมีผื่นขึ้นตามตัวเหมือนโรคหัด และมีการตรวจพบสารพันธุกรรมของไวรัสโรคหัดในปัสสาวะของผู้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดอีกด้วย


บทสรุป :
- ไวรัสเชื้อเป็นในวัคซีนโรคหัดไม่ทำให้ผู้ฉีดติดเชื้อหรือแพร่เชื้อโรคหัดไปยังผู้อื่น
- โรคหัดกลับมาระบาดในสหรัฐฯ เพราะอัตราการฉีดวัคซีนลดลง
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
วัคซีนโรคหัด เริ่มใช้ครั้งแรกในปี 1963 เป็นวัคซีนเชื้อเป็นชนิดลดฤทธิ์ของไวรัส (Attenuated Vaccine) ประสิทธิผลในการป้องกันโรคหัดหลังจากฉีดเข็มแรกอยู่ที่ 93% และ 97% หลังจากฉีดเข็มที่ 2
ต่อมาในปี 1971 มีการใช้วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน หรือวัคซีน MMR โดยประสิทธิผลในการป้องกันโรคหลังฉีดครบ 2 เข็มได้แก่ 97% 88% และ 97% ตามลำดับ
เข็มแรกแนะนำให้ฉีดในทารกวัย 9-15 เดือน ส่วนเข็มที่ 2 ฉีดในช่วงวัย 15 เดือน-6 ขวบ โดยให้ฉีดโดสแรกและโดสที่ 2 ห่างกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์
แม้จะมีคำแนะนำห้ามการฉีดวัคซีนโรคหัดให้กับผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือผู้ป่วยมะเร็ง เพราะอาจจะทำให้ป่วยจากการได้รับวัคซีนเชื้อเป็น แต่ก็ไม่มีหลักฐานว่าการฉีดวัคซีนโรคหัดให้กับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันปกติจะทำให้เกิดการแพร่เชื้อโรคหัดไปยังผู้อื่นได้
อาการข้างเคียงจากวัคซีนไม่เหมือนกับการติดเชื้อโรคหัด
มีการอ้างงานวิจัย 2 ชิ้นที่พบหลักฐานทำให้เชื่อว่าผู้รับวัคซีนโรคหัดสามารถแพร่เชื้อหัดได้ คืองานวิจัยปี 2012 ที่พบว่ามีเด็กผื่นขึ้นตามตัวหลังรับวัคซีน MMR และงานวิจัยปี 1995 ที่พบสารพันธุกรรม RNA ในปัสสาวะของผู้รับวัคซีน MMR
อย่างไรก็ดี เนื่องจากอาการข้างเคียงจากวัคซีน MMR และอาการป่วยจากการติดเชื้อโรคหัดมีความคล้ายคลึงกันอย่างมาก จึงจำเป็นต้องมีการตรวจสอบว่าผื่นที่ขึ้นตามตัวผู้รับวัคซีน เป็นผื่นจากการติดเชื้อโรคหัดหรือผื่นจากวัคซีน
วิธีการตรวจสอบคือการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสโรคหัดในปัสสาวะ ซึ่งการตรวจสอบยืนยันว่าสารพันธุกรรมของเชื้อโรคหัดในปัสสาวะของเด็กที่ผื่นขึ้นหลังฉีดวัคซีน MMR เป็นสารพันธุกรรมของเชื้อหัดที่อยู่ในวัคซีน ไม่ใช่สารพันธุกรรมของเชื้อหัดในธรรมชาติ จึงเป็นการยืนยันว่า ผื่นที่ขึ้นตามตัวเด็กเป็นอาการข้างเคียงจากวัคซีน ไม่ใช่ผื่นที่เกิดจากการติดเชื้อโรคหัด ดังนั้นเด็กคนดังกล่าวจึงไม่จัดอยู่ในสถานะผู้ติดเชื้อโรคหัด และไม่สามารถแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้
แม้จะมีการตรวจพบสารพันธุกรรมของไวรัสเชื้อโรคหัดจากวัคซีนในอุจจาระหรือปัสสาวะของผู้รับวัคซีน MMR แต่ไม่มีหลักฐานว่าผู้รับวัคซีน MMR จะแพร่เชื้อไวรัสไปยังผู้อื่นได้ เพราะหากเป็นจริง จะต้องพบสถิติการระบาดของโรคหัดในชุมชนที่มีการฉีดวัคซีน MMR จำนวนมาก ซึ่งไม่พบเหตุการณ์ดังกล่าวแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ผลการตรวจสอบโดยหน่วยงานสาธารณสุขในรัฐเท็กซัสพบว่า ตัวอย่างทั้งหมดของผู้ติดเชื้อโรคหัดในเท็กซัส ล้วนมีสารพันธุกรรมของไวรัสโรคหัดที่พบในธรรมชาติ ไม่ใช่สายพันธุ์โรคหัดที่ใช้ผลิตวัคซีน
พอล ออฟฟิต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยวัคซีน โรงพยาบาล Children’s Hospital of Philadelphia ยืนยันว่า ไวรัสเชื้อเป็นที่อยู่ในวัคซีนป้องกันโรคหัด ถูกทำให้ลดฤทธิ์จนไม่สามารถก่อโรคหรือแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้
ไวรัสโรคหัดกลับมาระบาดเพราะขาดการฉีดวัคซีนอย่างเพียงพอ
สหรัฐฯ เคยประกาศให้การแพร่ระบาดของโรคหัดในประเทศสิ้นสุดลงในปี 2000 หลังไม่พบการแพร่เชื้อเป็นเวลานานมากกว่า 1 ปี
แต่ภายหลังได้พบการแพร่ของโรคหัดภายในประเทศ สาเหตุเพราะการนำเชื้อมาแพร่จากต่างประเทศ และอัตราการฉีดวัคซีนที่ลดต่ำลงในสหรัฐฯ
ช่วงปลายเดือนมกราคม ในเมืองฮูสตัน รัฐเท็กซัส พบรายงานผู้ป่วยโรคหัด 2 รายที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศและไม่มีประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด ก่อนที่จะพบผู้ติดเชื้อโรคหัดใน 12 รัฐช่วงต้นเดือนมีนาคม โดยมีผู้เสียชีวิตจากโรคหัด 2 ราย ซึ่งประวัติพบว่ายังไม่ฉีดวัคซีนทั้งคู่
การระบาดของโรคหัดในประเทศซามัว
สถานการณ์โรคหัดระบาดในสหรัฐฯ มีความคล้ายคลึงกับเหตุโรคหัดระบาดในประเทศซามัวเมื่อปี 2019
โดยก่อนหน้าการแพร่ระบาด สถิติการฉีดวัคซีน MMR ในซามัวลดต่ำลงอย่างมาก หลังเกิดความไม่ไว้วางใจวัคซีนในหมู่ชาวซามัว เมื่อมีข่าวเด็กทารก 2 รายเสียชีวิตหลังฉีดวัคซีน MMR
ซึ่งการตรวจสอบพบว่า สาเหตุการเสียชีวิตของเด็กทารกไม่มีความเกี่ยวข้องกับวัคซีน แต่เกิดจากความผิดพลาดของบุคลากรทางการแพทย์ที่นำยาคลายกล้ามเนื้อมาใช้เป็นตัวทำละลายในวัคซีนแทนน้ำเปล่า
จนกระทั่งมีนักท่องเที่ยวที่ติดเชื้อโรคหัดเดินทางมายังซามัวในปี 2019 ส่งผลให้ชุมชนที่ไร้ภูมิคุ้มกันหมู่ต่อโรคหัดในซามัว ติดโรคหัดและเกิดการระบาดในเวลาต่อมา ซึ่งการตรวจสอบยืนยันว่าสายพันธุ์ของไวรัสโรคหัดที่นำไปสู่การแพร่ระบาดในปี 2019 คือสายพันธุ์ของไวรัสโรคหัดที่พบในธรรมชาติ ไม่ใช่สายพันธุ์ของไวรัสโรคหัดที่ใช้ในการผลิตวัคซีนเช่นกัน
ข้อมูลอ้างอิง :
https://healthfeedback.org/claimreview/vaccine-skeptics-misconstrue-studies-falsely-claim-measles-vaccine-causes-measles-outbreaks/
https://www.politifact.com/factchecks/2025/feb/28/facebook-posts/no-a-vaccine-campaign-did-not-cause-the-gaines-cou/
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter