29 มีนาคม 2568
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคหัดในสหรัฐอเมริกา มีข่าวปลอมเกี่ยวกับโรคหัดและวัคซีนป้องกันโรคหัดเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยอ้างว่าการปล่อยให้มีการติดเชื้อโรคหัดตามธรรมชาติส่งผลดีต่อสุขภาพ เพราะเป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย และยังมีหลักฐานการวิจัยที่พบว่าไวรัสที่ก่อโรคหัดสามารถใช้บำบัดผู้ป่วยมะเร็งได้อีกด้วย

บทสรุป :
- การจัดปาร์ตี้โรคหัดทำให้เด็กเสี่ยงป่วยหนักจากภาวะแทรกซ้อนของโรคหัด
- ไวรัสโรคหัดที่ใช้ทดลองรักษามะเร็ง เป็นชนิดที่ดัดแปลงพันธุกรรมให้โจมตีเซลล์มะเร็งโดยเฉพาะ
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
โรคหัดเป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ เกิดจากการติดเชื้อมีเซิลส์ (Measles) สามารถแพร่เชื้อทางละอองเสมหะและละอองลอย
ไวรัสโรคหัดมีค่าระดับการติดเชื้อพื้นฐาน (R0) ที่ 12-18 หรือผู้ติดเชื้อ 1 รายสามารถแพร่เชื้อต่อไปได้เฉลี่ย 12-18 ราย ถือเป็นเชื้อโรคที่สามารถแพร่เชื้อได้ในวงกว้างมากที่สุด
ไวรัสโรคหัดมีระยะฟักตัวประมาณ 9-11 วัน แต่การแพร่เชื้อมักเริ่มตั้งแต่ผู้ป่วยยังไม่แสดงอาการ
อาการสำคัญของโรคหัด ได้แก่ มีไข้และน้ำมูกไหล ตามด้วยการออกผื่นแดงตั้งแต่ศีรษะจนถึงปลายเท้า ผู้ป่วยบางรายที่เกิดภาวะแทรกซ้อนอาจมีความอันตรายถึงชีวิตได้
ปัจจุบันโรคหัดสามารถป้องกันได้จากการฉีดวัคซีน MMR วัคซีนรวมที่ใช้สร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคหัดในสหรัฐฯ
รายงานจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2025 ยืนยันการแพร่ระบาดของโรคหัดใน 12 รัฐ โดยศูนย์กลางแพร่ระบาดมาจากรัฐเท็กซัส
ในจำนวนผู้ติดเชื้อ 222 ราย ส่วนใหญ่ 94% เป็นผู้ที่ไม่ฉีดวัคซีนโรคหัดหรือไม่สามารถยืนยันสถานะการฉีดวัคซีน
มีผู้รักษาตัวในโรงพยาบาล 38 ราย และเสียชีวิตหลังการติดเชื้อจำนวน 2 ราย
กระแสปาร์ตี้รวมตัวติดเชื้อโรคหัดทางออนไลน์
หน่วยงานสาธารณสุขในรัฐเท็กซัสได้ออกมาแจ้งเตือนแนวคิดการนำเด็ก ๆ มารวมตัวกันเพื่อรับเชื้อโรคหัดจากเด็กที่ป่วยเป็นโรคหัด เพื่อหวังสร้างภูมิคุ้มกันโรคหัดโดยธรรมชาติ หรือที่รู้จักในชื่อปาร์ตี้โรคหัด (Measles Parties)
แม้จะยังไม่มีรายงานการจัดงานปาร์ตี้โรคหัดในรัฐเท็กซัส แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐเท็กซัสพบว่ากระแสการจัดปาร์ตี้โรคหัดเป็นที่กล่าวถึงอย่างแพร่หลายทางสื่อสังคมออนไลน์
ก่อนหน้านี้ยังเคยมีความพยายามจัดกิจกรรมที่คล้ายกันเพื่อการสร้างภูมิคุ้มกันโรคอีสุกอีใสในชื่อปาร์ตี้โรคอีสุกอีใส (Chickenpox Parties)
ก่อนที่วัคซีนโรคอีสุกอีใสจะถูกนำมาใช้ในปี 1995 มีกลุ่มผู้ปกครองนำเด็กมารวมตัวกันเพื่อรับเชื้ออีสุกอีใส โดยหวังจะสร้างภูมิกันโรคอีสุกอีใสโดยธรรมชาติ ซึ่งขณะนั้นหน่วยงานสาธารณสุขได้ออกมาเตือนถึงอันตรายจากกิจกรรมดังกล่าว เนื่องจากผู้ติดเชื้ออีสุกอีใสบางรายอาจป่วยหนักจากอาการแทรกซ้อนที่รุนแรง
ไวรัสโรคหัดกับมะเร็ง
มีการอ้างงานวิจัยปี 1998 จากวารสาร Medical Hypotheses ที่พบว่าประวัติการติดเชื้อในวัยเด็ก รวมถึงโรคหัด ช่วยลดความเสี่ยงการป่วยเป็นมะเร็ง
อย่างไรก็ดี ผลของงานวิจัยดังกล่าว มาจากการตอบแบบสอบถามโดยผู้เชี่ยวชาญการแพทย์มนุษยปรัชญาเพียง 35 ราย จึงเป็นข้อมูลที่ขาดความน่าเชื่อถือและไม่เป็นไปตามหลักการเวชปฏิบัติอิงหลักฐาน (Evidence-Based Medicine)
รวมถึงการอ้างความสำเร็จในการใช้ไวรัสโรคหัดรักษาผู้ป่วยมะเร็งไขกระดูกมัยอิโลมา (Multiple Myeloma) โดยทีมแพทย์ของศูนย์วิจัย Mayo Clinic ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งกลายเป็นข่าวดังในวงการแพทย์เมื่อปี 2014
อย่างไรก็ดี ความสำเร็จในการรักษาครั้งนั้นไม่สามารถนำมาใช้กับบุคคลทั่วไปได้ เนื่องจากไวรัสที่ใช้รักษามะเร็งเป็นไวรัสที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมให้มีความแตกต่างจากไวรัสโรคหัดที่พบในธรรมชาติ
หนึ่งในผู้เข้ารับการทดลองใช้ไวรัสรักษามะเร็ง (Oncolytic Virus Therapy) ในครั้งนั้นได้แก่ สเตซี เออร์โฮล์ซ ผู้ตรวจพบมะเร็งไขกระดูกมัยอิโลมาระยะลุกลามในวัย 40 ปีเมื่อปี 2004
หลังเข้ารับการบำบัดมะเร็งเป็นเวลา 9 ปี และผ่านการปลูกถ่ายไขกระดูกมาแล้ว 2 ครั้ง มะเร็งก็ยังคงกลับมาลุกลามเช่นเดิม สเตซี เออร์โฮล์ซ จึงตัดสินใจร่วมการทดลองการใช้ไวรัสโรคหัดรักษามะเร็งไขกระดูกมัยอิโลมากับทาง Mayo Clinic ในปี 2013
สาเหตุที่ใช้ไวรัสโรคหัดในการบำบัดมะเร็ง เพื่อเลี่ยงอาการข้างเคียงที่รุนแรงจากไวรัสเนื่องจากประชากรส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันโรคหัดจากการฉีดวัคซีนแล้ว
และการที่ไวรัสโรคหัดมักติดเชื้อที่บริเวณเซลล์ไขกระดูก จึงเหมาะสมสำหรับใช้เพื่อการบำบัดผู้ป่วยมะเร็งไขกระดูกมัยอิโลมา
แต่เดิมทีมวิจัยของ Mayo Clinic ประสบความล้มเหลวในการใช้ไวรัสบำบัดผู้ป่วยมะเร็ง เนื่องจากใช้ปริมาณไวรัสที่ต่ำเกินไป การทดลองกับ สเตซี เออร์โฮล์ซ จึงมีการใช้ปริมาณไวรัสถึง 1 แสนล้านยูนิตสำหรับการบำบัด ซึ่งปกติปริมาณดังกล่าวสามารถใช้ผลิตวัคซีนโรคหัดให้กับประชากรได้ถึง 10 ล้านคน
หลังจากได้รับไวรัสเข้าสู่ร่างกาย สเตซี เออร์โฮล์ซ ก็แสดงความกระทบเนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันกำลังรับมือกับปริมาณไวรัสจำนวนมหาศาลที่เข้าสู่ร่างกาย ทั้งการเป็นไข้และรู้สึกไม่สบายตัว
อย่างไรก็ดี ไวรัสที่ใช้บำบัดมีการดัดแปลงพันธุกรรมให้ติดเชื้อในเซลล์มะเร็งโดยเฉพาะ ไม่ได้ก่อให้เกิดโรคเหมือนไวรัสโรคหัดที่พบในธรรมชาติ เมื่อไวรัสเข้าสู่ร่างกายจะเข้าไปแบ่งตัวในเซลล์มะเร็ง จนเซลล์มะเร็งถูกทำลายในที่สุด
ไม่นาน สเตซี เออร์โฮล์ซ ก็ฟื้นตัวจากอาการไข้ ซึ่งผลการตรวจร่างกายในอีกหลายเดือนต่อมา พบว่าปริมาณเซลล์มะเร็งในร่างกายของ สเตซี เออร์โฮล์ซ ลดลงอย่างมาก เช่นเดียวกับก้อนเนื้อบนใบหน้าของเธอก็มีขนาดลดลง จนภายหลัง สเตซี เออร์โฮล์ซ ได้รับการยืนยันว่าหายขาดจากมะเร็งในช่วงตลอด 10 ปีที่ผ่านมา
แม้เคสของ สเตซี เออร์โฮล์ซ จะเป็นความสำเร็จของเทคโนโลยีการบำบัดมะเร็งด้วยไวรัส แต่การใช้ไวรัสรักษามะเร็งมีปัจจัยที่ต้องคำนึงหลายอย่าง ซึ่งการอ้างว่าการรับเชื้อไวรัสตามธรรมชาติจะช่วยรักษาโรคมะเร็งจึงเป็นการกล่าวอ้างที่เกินจริงและเป็นอันตราย
การระบาดของโรคหัดในสหรัฐฯ มาจากการฉีดวัคซีนลดลง
รายงานพบว่า การแพร่ระบาดของโรคหัดในสหรัฐฯ มาจากพื้นที่เขตตะวันตกของรัฐเท็กซัส โดยเฉพาะชุมชนเขตเกน เคาตี ที่มีอัตราการปฏิเสธวัคซีนสูงที่สุดคือ 18% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของรัฐเท็กซัสที่ 4%
รัฐเท็กซัสอนุญาตให้มีการปฏิเสธวัคซีนด้วยเหตุผลทางความเชื่อ นอกเหนือจากเหตุผลทางการแพทย์
สำหรับการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่จากโรคหัด ในแต่ละชุมชนจำเป็นต้องมีอัตราการฉีดวัคซีนที่สูงประมาณ 95% เพื่อการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ต่อโรคหัด
ดังนั้นการปฏิเสธวัคซีนสูงถึง 18% จึงเป็นสาเหตุทำให้ไวรัสโรคหัดกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งในชุมชนเกน เคาตี และแพร่ระบาดไปทั่วในเวลาต่อมา
ผู้เชี่ยวชาญต่อต้านการจัดปาร์ตี้โรคหัด
กระแสการจัดปาร์ตี้โรคหัดทางออนไลน์ สร้างความกังวลต่อบุคลากรทางการแพทย์อย่างมาก
จีนา พอสเนอร์ กุมารแพทย์จากศูนย์การแพทย์ MemorialCare Medical Group ในแคลิฟอร์เนีย ชี้แจงว่า เชื้อไวรัสโรคหัดมีความอันตราย แม้โอกาสจะทำให้ผู้ติดเชื้อเสียชีวิตจะต่ำ แต่ก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายในระยะยาว
แอน หลิว รองศาสตราจารย์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ในแคลิฟอร์เนีย อธิบายว่า แม้เด็กจะหายจากโรคหัดแล้ว แต่อาจมีความเสี่ยงจากการติดเชื้อหลายชนิด เช่น อาการสมองบวม นอกจากนี้ ไวรัสโรคหัดยังมีความสามารถลบความทรงจำในระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เด็กที่หายจากโรคหัดมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคอื่น ๆ มากขึ้น
วิลเลียม ชาฟฟ์เนอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ศาสตราจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์ ย้ำว่า การติดเชื้อไวรัสโรคหัดและภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อเป็นเรื่องน่ากลัวอย่างมาก หากมีการจัดปาร์ตี้ใดที่เกี่ยวกับโรคหัด ก็ควรเป็นการรวมตัวกันเพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดที่จะมีประโยชน์มากกว่า
ข้อมูลอ้างอิง :
https://healthfeedback.org/claimreview/no-evidence-measles-prevents-cancer-heart-disease-can-lead-long-term-health-problems-instead/
https://www.healthline.com/health-news/vitamin-a-recommendation-measles-cdc#Takeaway
https://news.cancerresearchuk.org/2014/05/16/could-measles-cure-cancer-uh-not-exactly/
https://www.postbulletin.com/health/modified-measles-helped-stacy-erholtz-beat-cancer-ten-years-later-she-returned-to-rochester-to-celebrate
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter