ชัวร์ก่อนแชร์ FACTSHEET : สาเหตุ อาการ และการรักษาไข้เลือดออก

ไข้เลือดออกอาการเป็นอย่างไร ควรพบแพทย์เมื่อไหร่ และจะมีวิธีการรักษาอย่างไร ?


🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ รศ.ดร.นพ.นพพร อภิวัฒนากุล หัวหน้าหน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ไข้เลือดออกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า “ไวรัสเดงกี” (Dengue Virus) 


เชื้อไวรัสเดงกีติดต่อโดยมียุงลายเป็นพาหะ (ทั้งยุงลายบ้านและยุงลายสวน)

ยุงลายบ้าน (Aedes agypti) มักจะวางไข่ในภาชนะซึ่งมีน้ำในบ้าน เช่น ขาตู้กับข้าว จานรองกระถางต้นไม้ โอ่งบรรจุน้ำที่ไม่ได้ปิดฝามิดชิด

ยุงลายสวน (Aedes albopictus) มักวางไข่บริเวณที่มีน้ำขังนอกบ้านและตามแหล่งน้ำธรรมชาติ


ระยะฟักตัวของเชื้อไวรัสเดงกีในยุงลายประมาณ 8-10 วัน และในคนหลังจากที่ถูกยุงกัดเชื้อไวรัสเดงกีจะมีระยะฟักตัวประมาณ 5-7 วัน

ปัจจุบัน เชื้อไวรัสเดงกีมี 4 ชนิด (ไวรัสเดงกี 1, 2, 3 และ 4 ตามลำดับ) หลังจากที่คนเราติดเชื้อไวรัสเดงกีชนิดใดชนิดหนึ่งแล้ว ก็จะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสเดงกีชนิดนั้นไปตลอด แต่มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสเดงกีชนิดอื่นในช่วงเวลาสั้น ๆ หลังจากนั้นสามารถติดเชื้อไวรัสเดงกีชนิดอื่นได้อีก ดังนั้น หากเคยเป็นโรคไข้เลือดออกแล้วก็ยังมีโอกาสเป็นซ้ำได้อีก

พื้นที่ไหนมียุงลาย (ยุงลายมีพฤติกรรมกัดคนตอนกลางวัน) ก็อาจเกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกได้

กลไกการเกิดโรคไข้เลือดออก

ไข้เลือดออกมีระยะฟักตัวประมาณ 5-7 วัน

หลังจากที่ได้รับเชื้อไวรัสเดงกีเข้าสู่ร่างกายแล้วประมาณ 5-7 วันจะเริ่มมีอาการไข้ จากนั้นตัวไวรัสไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย เมื่อภูมิคุ้มกันของร่างกายพบไวรัสก็พยายามกำจัด

ผลข้างเคียงจากการที่ร่างกายพยายามกำจัดไวรัสออกจากร่างกายก็คือทำให้หลอดเลือดที่ตับ ปอด หรือช่องท้อง “เปราะ” มากขึ้น เมื่อหลอดเลือดเปราะมากขึ้น “น้ำเหลือง” ที่ปกติต้องอยู่ในหลอดเลือดก็รั่วออกไป

อาการแสดงของโรคไข้เลือดออก เป็นอย่างไร ?

โรคไข้เลือดออกอาจมีอาการแสดงเพียงไข้อย่างเดียว ซึ่งในบางคนอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง (โดยเฉพาะบริเวณใต้ชายโครงขวา) ปวดตามตัว ปวดที่กระบอกตา ปวดศีรษะ อาจมีผื่นแดงขึ้น และบางคนอาจมีเลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล หรือเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร โดยปกติผู้ป่วยมักไม่มีอาการไอหรือน้ำมูก อาการแสดงของโรคไข้เลือดออกมี 3 ระยะ ดังนี้

1. ระยะไข้สูง ระยะนี้ผู้ป่วยจะมีไข้สูงร่วมกับอาการต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น โดยใช้เวลา 3-7 วัน เมื่อได้รับยาลดไข้แล้ว ไข้ก็จะลดลง หลังจากหมดฤทธิ์ยาไข้ก็จะกลับสูงขึ้นอีก ในระยะนี้ถ้าไม่มีเลือดออกมาก โดยปกติไม่ทำให้เกิดอาการที่รุนแรง ผู้ป่วยอาจดูซึมลง กินอาหารได้น้อยลง ระยะนี้เป็นระยะที่ตรวจพบไวรัสเดงกีในเลือด และถ้ายุงมากัดผู้ป่วย ยุงก็จะเป็นพาหะของโรคต่อไป

โรคไข้เลือดออก ถ้าเป็นในผู้ใหญ่มีอาการที่เด่นกว่าในเด็กก็คือ จะมีอาการปวดหลายอย่าง เช่น ปวดกระบอกตา ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว

ดังนั้น การวินิจฉัยโรคในระยะนี้มักจะสังเกตจากอาการ หากต้องการยืนยันก็ต้องตรวจหาตัวเชื้อ ซึ่งปัจจุบันแพทย์จะเจาะตรวจหา NS1antigen ในช่วงที่มีไข้หลังวันที่ 3 ถ้าแพทย์ทำ Tourniquet test หรือการรัดแขนก็อาจพบจุดเลือดออกได้

2. ระยะวิกฤติ ในผู้ป่วยบางคนหลังไข้ลงแล้วจะเข้าสู่ระยะนี้ ซึ่งจะมีการรั่วของน้ำเหลืองออกนอกหลอดเลือด ทำให้มีอาการเหมือนสูญเสียของเหลวหรือเลือดจากร่างกาย มีความดันเลือดต่ำจนถึงอาการช็อกได้ ผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่าย ปลายมือปลายเท้าเย็น เด็กบางคนจะดูตัวลาย ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจทำให้มีอวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลว ซึ่งอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

ในระยะนี้ผู้ป่วยบางคนอาจมีเลือดออกมาก (โดยเฉพาะจากทางเดินอาหาร) ทำให้มีอาการช็อกได้มากขึ้น โดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 1-2 วัน

3. ระยะฟื้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่หลังระยะไข้สูงจะเข้าสู่ระยะนี้ทันที บางคนถ้าเข้าสู่ระยะวิกฤติแล้ว 1-2 วัน ก็เข้าสู่ระยะนี้ ผู้ป่วยจะเริ่มอยากกินอาหารมากขึ้น มีผื่นแดงที่มีวงขาวขึ้นตามตัว มีอาการคันตามตัว ฝ่ามือและฝ่าเท้า ซึ่งเป็นระยะที่ผู้ป่วยกำลังจะหายจากโรค (เป็นระยะปลอดภัย)

คนที่ติดเชื้อไข้เลือดออก 100 คน พบว่า 75 เปอร์เซ็นต์ (3 ใน 4) ไม่มีอาการ และในจำนวน 1 ใน 4 ที่มีอาการ อาจจะมีไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำที่เข้าสู่ภาวะวิกฤติ และอาจมีไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำที่เข้าสู่ภาวะช็อก

ระยะไข้สูงของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจะเป็นระยะที่ไม่อันตรายโดยจะได้รับการรักษาตามอาการ

เมื่อหมด “ระยะไข้” ผู้ป่วยบางคนก็จะเข้าสู่ระยะฟื้น และ/หรือ บางคนอาจจะเข้าสู่ระยะวิกฤติ

อาการที่สังเกตได้ว่าผู้ป่วยไข้เลือดออกกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤติก็คือ มีอาการซึม ไข้ลดลง กระสับกระส่าย ปัสสาวะออกน้อยลง ตัวเย็นมาก ต้องไปรักษาที่โรงพยาบาลทันที

การรักษาโรคไข้เลือดออก

ปัจจุบัน ยังไม่มียารักษาโรคไข้เลือดออกโดยตรง

สิ่งที่ทำได้ก็คือ การรักษาแบบประคับประคองตามอาการที่พบ ถ้ารู้ว่าป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก สิ่งที่ต้องปฏิบัติมีดังนี้

1. ระยะไข้สูง ผู้ป่วยจะมีไข้เกือบตลอดเวลา ให้กินยาลดไข้พาราเซตามอล และเช็ดตัวลดไข้ ควรหลีกเลี่ยงยาลดไข้ชนิดอื่น เช่น กลุ่มแอสไพรินหรือไอบูโพรเฟน เพราะจะทำให้มีโอกาสเลือดออกมากได้

2. มีอาการคลื่นไส้อาเจียน สามารถให้ยาลดอาการคลื่นไส้อาเจียน พยายามกระตุ้นให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเกลือแร่ โดยอาจดื่มทีละน้อยและบ่อย ๆ ถ้าพอกินอาหารได้ ให้กินอาหารอ่อน ย่อยง่าย ในระยะนี้อาจดูแลรักษาเองที่บ้านได้

3. สังเกตอาการที่ต้องรีบไปโรงพยาบาล ได้แก่ ปวดท้องมาก อาเจียนมาก มีเลือดออกมาก ซึมลง หรือมีอาเจียนเป็นเลือด

ระยะไข้นี้ผู้ปกครองมักกังวลว่าเด็กจะเป็นไข้เลือดออกหรือไม่ ในช่วงวันแรก ๆ อาจบอกไม่ค่อยได้ว่าไข้ที่เกิดขึ้นจากไข้เลือดออกหรือไม่ ต้องตรวจดูเชื้อไวรัสถึงจะบอกได้ แต่อาจไม่จำเป็นเพราะว่าเป็นช่วงไข้สูง การดูแลรักษาก็เป็นเพียงประคับประคอง จึงยังไม่จำเป็นต้องเจาะเลือดตรวจในช่วง 1-2 วันแรกของไข้

แนะนำว่าให้สังเกตอาการของเด็ก ถ้าไข้ไม่ลงภายใน 3-4 วัน เด็กยังกินอาหารได้ไม่ดี และซึมลง ควรกลับไปพบแพทย์ทันที ซึ่งแพทย์จะตรวจร่างกายใหม่และอาจพิจารณาเจาะเลือดตรวจดูค่าเกล็ดเลือดและค่าความเข้มข้นของเลือด ถ้าเกล็ดเลือดเริ่มต่ำลง แสดงว่าน่าจะเป็นไข้เลือดออก ถ้าผู้ป่วยซึมลงมากและเกล็ดเลือดต่ำมาก แพทย์อาจพิจารณาให้สังเกตอาการที่โรงพยาบาลอย่างใกล้ชิด

4. ถ้าผู้ป่วยไข้ลงแล้วอาการดีขึ้น เช่น อยากกินอาหารมากขึ้น มีผื่นแดงคันดังที่กล่าวในระยะพักฟื้น แสดงว่าผู้ป่วยกำลังจะหายจากโรค ในทางตรงกันข้าม ถ้าผู้ป่วยเริ่มไข้ลง แล้วซึมลง มีอาการปวดท้องมากขึ้น มือเท้าเริ่มเย็น กระสับกระส่าย แสดงว่าผู้ป่วยเข้าสู่ระยะวิกฤติ

5. ถ้าสังเกตว่าตอนไข้เริ่มลง แล้วผู้ป่วยยังดูซึม ไม่กลับมาร่าเริงเหมือนเด็กที่เพิ่งหายจากไข้ นับว่าเป็นสัญญาณอันตราย ซึ่งอาจบ่งบอกว่าผู้ป่วยอาจเข้าสู่ระยะวิกฤติ ควรรีบพาไปโรงพยาบาลพบแพทย์ เพราะต้องได้รับน้ำเกลือทางหลอดเลือดและเฝ้าระวังสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด แพทย์อาจจำเป็นต้องให้เจาะเลือดบ่อย เพื่อดูระดับความเข้มข้นของเลือดและเกล็ดเลือด รวมถึงการตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการติดตามรักษา ถ้ามีอาการมากอาจจำเป็นต้องรับดูแลในหอผู้ป่วยวิกฤติ

สงสัยเป็นโรคไข้เลือดออก ต้องทำอย่างไร ?

การสังเกตอาการที่สงสัยว่าเป็นโรคไข้เลือดออก สามารถทำได้ด้วยตนเอง ดังนี้

1. มีไข้สูง 3 วันแล้วไข้ไม่ลง

2. ไม่มีอาการไอและสงสัยเป็นโรคไข้เลือดออก ถ้ามีไข้สูงให้กินยาลดไข้ “พาราเซตามอล” ได้

3. หลีกเลี่ยงยาแก้ไข้แอสไพรินและยาแก้ไข้ไอบูโพรเฟน

ดังนั้น ถ้ามีไข้ 2-3 วันแล้ว ไม่มีอาการไอ ไม่มีน้ำมูก และช่วงนั้นมีไข้เลือดออกระบาดใกล้บ้าน ควรไปพบแพทย์ 

การป้องกันโรคไข้เลือดออกที่สำคัญคือการป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัด และไม่ให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยการไม่ให้มีน้ำขังในภาชนะ ควรมีฝาปิดภาชนะที่ใส่น้ำเพื่อไม่ให้ยุงลายไปวางไข่ได้ ในปัจจุบันกำลังมีการศึกษาถึงวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก ซึ่งคาดว่าในอนาคตอันใกล้อาจมีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกที่มีประสิทธิภาพออกมาใช้

เข้าใจสาเหตุ สังเกตอาการ และถ้าเข้าข่ายโรคไข้เลือดออก ต้องไปพบแพทย์วินิจฉัยโรคและรับการรักษาทันที

สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์

เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล

ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ FACTSHEET : สาเหตุ อาการ และการรักษาไข้เลือดออก

ดูข่าวเพิ่มเติม

หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare

สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter

หมายเหตุ : โฆษณาที่ปรากฏอยู่บนหน้าเว็บไซต์นี้ แสดงผลโดยอัตโนมัติจากบริษัทผู้ให้บริการโฆษณา ไม่ใช่การสนับสนุนหรือส่งเสริมจากศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์แต่อย่างใด

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ยิงสส.กัมพูชา

ออกหมายจับชายไทย วัย 41 มือยิง ‘ลิม กิมยา” ดับกลางกรุงเทพฯ

ออกหมายจับชายไทย วัย 41 มือยิง ‘ลิม กิมยา” อดีต สส.ฝ่ายค้านกัมพูชา ดับใกล้วัดดังกลางกรุง พบเหยื่อมีบทบาทในการตรวจสอบรัฐบาลฮุนเซน

ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงเพิ่มบุหรี่ไฟฟ้า-บารากู่ไฟฟ้า เป็นของต้องห้าม

ครม. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดการประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา เพิ่มบุหรี่ไฟฟ้า-บารากู่ไฟฟ้า เป็นของต้องห้าม พร้อมกำหนดบทลงโทษหากพบเข้าไปข้องเกี่ยว

สุดเจ๋ง! นศ.วอศ.เสาวภา-วอศ.สระบุรี ชนะเลิศแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติ 2025

สุดเจ๋ง! นศ.วอศ.เสาวภา และ วอศ.สระบุรี ชนะเลิศในการแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติ 2025 ณ เมืองฮาร์บิน สาธารณรัฐประชาชนจีน

ข่าวแนะนำ

ปล่อยตัว “แซม ยุรนันท์” สวมกอดครอบครัว ขอกลับบ้านก่อน

“แซม ยุรนันท์” ได้รับการปล่อยตัวแล้ว สวมกอดครอบครัวด้วยสีหน้ามีความสุข พร้อมขอบคุณสื่อมวลชนที่มาต้อนรับ ขอกลับบ้านก่อน ขอบคุณกระบวนการยุติธรรม

จับแล้วมือยิงอดีต สส.ฝ่ายค้านกัมพูชา ย่านบางลำพู

“ผู้การจ๋อ” ส่ง “สารวัตรแจ๊ะ” นำทัพสืบ บช.น. ร่วมตำรวจกัมพูชา แกะรอยบุกจับ “จ่าเอ็ม” มือยิง “ลิม กิมยา” อดีต สส.ฝ่ายค้านกัมพูชา ถึงพระตะบอง ประเทศกัมพูชา

ปล่อยตัว “มิน พีชญา” หลังอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีดิไอคอน ขอบคุณกระบวนการยุติธรรม

ปล่อยตัว “มิน พีชญา” หลังอัยการสั่งไม่ฟ้องคดี “ดิไอคอน” เปิดใจขอบคุณกระบวนการยุติธรรมและทัณฑสถานหญิง ดูแลเป็นอย่างดี ยืนยันบริสุทธิ์ใจตั้งแต่แรก พร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งวันนี้ได้พิสูจน์ตนเองแล้ว

พบ จยย.มือยิงอดีตนักการเมืองกัมพูชาจอดทิ้งปั๊ม คาดได้ตัวเร็วๆ นี้

ตำรวจตรวจพบรถจักรยานยนต์มือยิงอดีตนักการเมืองฝ่ายค้านกัมพูชาแล้ว จอดทิ้งไว้ที่ปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่ง บริเวณเลียบด่วนมอเตอร์เวย์ คาดได้ตัวคนร้ายเร็วๆ นี้