6 มีนาคม 2567 – บนโซเชียลมีการแชร์เกี่ยวกับข้อห้ามการใช้โทรศัพท์มือถือ ทั้งห้ามดูในที่มืดเพราะเสี่ยงตาบอด และห้ามใช้ไฟฉายมือถือส่องตู้ไฟฟ้าบ้าน อันตรายถึงชีวิต ?! เรื่องไหนจริง เรื่องไหนเท็จ พบคำตอบได้ที่ชัวร์ก่อนแชร์ CHECK-LIST ร้อยเรียงเรื่องฮิต ติดอันดับจากชัวร์ก่อนแชร์
อันดับที่ 1 : ดูมือถือในที่มืดทำให้ตาบอด จริงหรือ ?
มีการแชร์ข้อความเตือนว่า ถ้าเปิดดูจอมือถือในที่มืดจะทำให้ตาบอดได้
บทสรุป : ไม่จริง ไม่ควรแชร์ ❌
ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ : นายแพทย์ นนท์ รัตนิน จักษุแพทย์ โรงพยาบาลจักษุรัตนิน และ นายแพทย์ สมเกียรติ อธิคมกุลชัย จักษุแพทย์ โรงพยาบาลเอกชัย
“การเล่นมือถือในที่มืดไม่ได้ทำให้ตาบอด แต่จะทำให้เกิดความไม่สบายตามากกว่าการเล่นมือถือขณะเปิดไฟ เพราะจะต้องเพ่งมากกว่าปกติ และมีแสงสะท้อนเข้าตามากกว่าปกติ ทำให้เกิดความไม่สบายตา ทำให้ตาล้ามากขึ้น อาการจากการใช้อุปกรณ์เหล่านี้จะเป็นอาการเพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อพักและหยุดใช้งานไป ก็จะกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม”
อันดับที่ 2 : ชาร์จมือถือไป เล่นไป อันตรายถึงชีวิต จริงหรือ ?
มีการแชร์ข้อความเตือนว่า แชร์เตือนว่า การชาร์จโทรศัพท์มือถือไปด้วย เล่นไปด้วย เป็นอันตรายถึงชีวิต เพราะที่ชาร์จจะร้อนจนฉนวนภายในหลอมละลาย และไฟฟ้า 310 โวลต์ จะวิ่งเข้ามาช็อตทันที
บทสรุป : จริงบางส่วน ไม่ควรแชร์ ⚠️
ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ : อาจารย์ ดุสิต สุขสวัสดิ์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
“การใช้โทรศัพท์มือถือขณะชาร์จแบตเตอรี่นั้นจะไม่เป็นอันตรายหากอุปกรณ์ที่ใช้อยู่มีมาตรฐานและเชื่อถือได้ เช่น แบตเตอรี่ สายชาร์จ ผลิตมาได้มาตรฐานอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่ชำรุด สามารถใช้งานไปพร้อมกับการชาร์จได้ แต่หากอุปกรณ์ที่กล่าวมา รวมไปถึงรางปลั๊กไฟที่ไม่ได้มาตรฐาน แบบนี้ถือว่าอันตรายมาก ไม่ว่าจะมีการใช้งานขณะชาร์จหรือเสียบชาร์จทิ้งไว้เฉย ๆ ก็ตาม ล้วนมีโอกาสและความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายได้ เช่น ไฟรั่ว ไฟช็อต แบตเตอรี่หรือเครื่องมือถือเกิดการระเบิดและไฟลุกใหม้ได้ อาจารย์ แนะนำเพิ่มเติมว่า หากเป็นการชาร์จไฟจากพาวเวอร์แบงค์ จะปลอดภัยกว่าการชาร์จจากไฟบ้านโดยตรง”
อันดับที่ 3 : ห้ามใช้มือถือเป็นไฟฉายส่องตู้เบรกเกอร์ไฟ จริงหรือ ?
มีการแชร์ข้อความเตือนว่า ห้ามใช้ไฟฉายจากมือถือส่องเบรกเกอร์ไฟ หรือคัทเอาท์ไฟ ที่มีไฟฟ้าแรงสูง เพราะจะทำให้เกิดระเบิดได้
บทสรุป : ไม่จริง ไม่ควรแชร์ ❌
ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ : อาจารย์ ดุสิต สุขสวัสดิ์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
การใช้ไฟฉายจากมือถือส่องไปยังเบรกเกอร์ไฟ หรือคัทเอาท์ไฟ ไม่สามารถทำให้เกิดระเบิดได้ เนื่องจาก
1. ตู้ไฟฟ้าตามบ้านเป็นไฟฟ้าแรงต่ำ ทำอันตรายถ้าสัมผัส ดังนั้นหากเผอิญมีไฟรั่ว แล้วนำโทรศัพท์มือถือที่เป็นโลหะไปแตะ อาจถูกไฟช็อตได้ตามกลไกปกติ ไม่ว่าจะเปิดไฟฉายบนมือถือหรือไม่
2. ไฟฟ้าแรงสูง เช่น สายไฟตามเสาไฟฟ้าแรงสูง ทำอันตรายได้แม้ไม่ต้องสัมผัส ดังนั้น ควรทิ้งระยะห่าง 2-3 เมตร เพราะเข้าใกล้ก็อันตรายได้ โดยไม่ต้องใช้ไฟฉายมือถือ
3. ถังเชื้อเพลิงและถังแก๊ส ไม่ได้ถูกจุดระเบิดด้วยไฟฉายจากมือถือ แต่ถ้าเชื้อเพลิงรั่ว และมือถือ (หรืออุปกรณ์ไฟฟ้า) ชำรุด จนเกิดประกายไฟ อาจมีอันตรายตามกลไกวัตถุไวไฟปกติ ไม่เกี่ยวกับไฟฉายบนมือถือ
อันดับที่ 4 : ห้ามโทรมือถือในครัวที่ใช้เตาแก๊ส จริงหรือ ?
มีการแชร์ข้อความเตือนว่า ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือในห้องครัว ทั้งรับสายหรือโทรออก เพราะมีคนโดนไฟลวกมาแล้ว ขณะที่เตาแก๊สยังเปิดอยู่ แก๊สจะติดไฟและระเบิดได้
บทสรุป : ไม่จริง ไม่ควรแชร์ ❌
ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ : นายประทีป บุญสิทธิ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย วิทยาเขตภูเก็ต
“การคุยโทรศัพท์ไม่ได้ทำให้ไฟจากเตาแก๊สรั่ว อย่างไรก็ตามควรจดจ่อกับการทำอาหาร และไม่เล่นโทรศัพท์ขณะทำครัว เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้”
อันดับที่ 5 : ใช้มือถือขณะชาร์จแล้วดื่มน้ำ ทำให้ไฟดูดเสียชีวิต จริงหรือ ?
มีการแชร์คลิปเตือนว่า การใช้มือถือขณะชาร์จแล้วดื่มน้ำ จะทำให้ไฟดูดทันทีและเสียชีวิตได้ทันทีนั้น
บทสรุป : ไม่จริง ไม่ควรแชร์ ❌
ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ : อาจารย์ ดุสิต สุขสวัสดิ์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
“คลิปที่แชร์มาเป็นการสร้างสถานการณ์ไม่ใช่เรื่องจริง แต่อย่างไรก็ตาม การใช้มือถือขณะชาร์จก็ไม่ควรทำ เพราะเสี่ยงทำให้เครื่องร้อน เพราะทำงานหนัก อาจเกิดความเสียหายตามมา”
ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย : พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย : ชยานิษฐ์ ผ่องใส
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter