ชัวร์ก่อนแชร์: จาก “บลัด ไลเบล” สู่ “อะดรีโนโครม” พิธีกรรมบูชายัญเด็ก จริงหรือ?

09 สิงหาคม 2566
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล


บทสรุป :

  1. ภาพที่ถูกแชร์คือส่วนหนึ่้งของพิธีกรรม Blood Libel ในยุโรปยุคกลาง
  2. Blood Libel คือการใส่ร้ายว่าชาวยิวจับตัวเด็กชายชาวคริสเตียนมาทรมาน เพื่อนำเลือดไปใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา

ข้อมูลที่ถูกแชร์ :


มีข้อมูลเท็จเผยแพร่ทาง Facebook ในต่างประเทศ ที่อ้างว่าการค้าประเวณีเด็กเพื่อสกัดเอาสาร Adrenochrome จากตัวเด็ก หรือการ Adrenochrome Harvest (อะดรีโนโครม ฮาร์เวสต์) เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงและเกิดขึ้นมานานแล้ว โดยหลักฐานคืองานประติมากรรมที่จำลองการจับเด็กมาทรมานซึ่งมีมาตั้งแต่โบราณ

FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :

ภาพประติมากรรมที่กล่าวอ้าง มีชื่อว่า Simon of Trent ย้อนรอยการเสียชีวิตของ ไซมอน เด็กชายคริสเตียนวัย 2 ขวบที่เมืองเทรนต์ เมืองทางตอนเหนือของประเทศอิตาลี ความตายของเขาได้รับการกล่าวอ้างอย่างไม่มีหลักฐานว่า เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม Blood Libel (บลัด ไลเบล) ของชาวยิวเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลปัสคา ที่ชาวยิวจะนำเด็กชายชาวคริสเตียนมาทรมาน เพื่อนำเลือดมาทำขนมปังไร้เชื้อ ซึ่งชาวยิวจะกินเป็นเวลา 7 วันในช่วงเทศกาลปัสคา


ปัสคา : เทศกาลรำลึกการประกาศอิสรภาพของชาวยิว

เทศกาลปัสคา (Pesach หรือ Passover) เป็นเทศกาลที่ระลึกถึงการอพยพของชาวยิวจากดินแดนอียิปต์

เนื้อหาจากหนังสืออพยพ (Book of Exodus) หนังสือเล่มที่สองในคัมภีร์ไบเบิลของศาสนายูดาห์และคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาเดิมของศาสนาคริสต์ เล่าถึงเหตุการณ์ที่พระยาห์โฮวาห์ พระเจ้าของศาสนายูดาห์ ทรงชี้นำให้ โมเสส ผู้เผยพระวจนะของศาสนายูดาห์ พาชนชาวยิวออกจากการเป็นทาสของฟาโรห์ในอียิปต์ แล้วเดินทางไปยังแผ่นดินแห่งพระสัญญาหรือคานาอัน

หนังสืออพยพเล่าถึงเหตุการณ์สำคัญก่อนที่โมเสสจะถือกำเนิด เมื่อฟาโรห์อียิปต์กังวลต่อจำนวนประชากรชาวยิวเพิ่มขึ้นของ จึงมีคำสั่งให้สังหารทารกชายชาวยิวทุกคนในอาณาจักร มารดาของโมเสสจึงซ่อนตัวเขาไว้ ก่อนนำไปลอยยังแม่น้ำไนล์ ภายหลัง ธิดาของฟาโรห์ได้มาพบและนำเขาไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม

พิบัติประการที่ 10

เมื่อโมเสสโตขึ้นและได้รู้ภูมิหลังของตนเอง เขาจึงละทิ้งอียิปต์เพื่อมาอาศัยกับชุมชนชาวยิว วันหนึ่ง เขาได้พบกับพระยาห์โฮวาห์และได้รับคำสั่งให้ทำหน้าที่พาชาวยิวออกจากการเป็นทาสในอียิปต์ เมื่อฟาโรห์ขัดขวาง พระยาห์โฮวาห์ได้บันดาลให้เกิดภัยพิบัติ 10 ประการ โดยภัยพิบัติประการที่ 10 ได้แก่ การส่งทูตมรณะมาปลิดชีพบุตรชายหัวปีของทุกครอบครัวในอียิปต์ ยกเว้นครอบครัวที่เชื่อฟังในพระยาห์โฮวาห์ จนสุดท้ายฟาโรห์ต้องยอมให้โมเสสเดินทางออกจากอียิปต์ในที่สุด

เรื่องราวในหนังสืออพยพเล่าว่า เพื่อป้องกันการคุกคามของจากทูตมรณะ โมเสสแนะนำให้ชาวยิวนำเลือดของแกะสังเวยมาทาไว้ที่หน้าประตูบ้าน เพื่อให้ทูตมรณะผ่านไปโดยไม่มารังควาน จึงเป็นที่มาของชื่อเทศกาล Passover หรือ ปัสคา ที่มีความหมายว่า “ผ่านเลยไป”

พิธีกรรม Blood Libel : การใส่ร้ายการสังเวยเลือดเด็กคริสเตียนโดยชาวยิว

Blood Libel คือการใส่ร้ายชาวยิวโดยไม่มีหลักฐานว่า ทำการทรมานเด็กชายชาวคริสเตียนเพื่อนำเลือดมาใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา ในวิธีการที่เลียนแบบการตรึงกางเขนของพระเยซู ข้อกล่าวหาเริ่มมีมาตั้งแต่การก่อตั้งของชุมชนคริสเตียนในยุคโรมัน และกลับมาเผยแพร่อีกครั้งในประเทศอังกฤษช่วงศตวรรษที่ 12 เมื่อมีชาวยิวจำนวนมากถูกดำเนินคดีและถูกประหารชีวิตจากข้อหา Blood Libel บ่อยครั้งเด็กชายคริสเตียนที่ได้รับการอ้างว่า ถูกชาวยิวสังหารได้รับการสถาปนาให้เป็นนักบุญราศี (Beatification) ในเวลาต่อมา

หนึ่งในนั้นได้แก่ วิลเลียมแห่งนอริช เด็กชายวัย 12 ปีที่ได้รับการสถาปนาให้เป็นนักบุญราศี หลังได้รับการอ้างว่าเสียชีวิตจากการเป็นเหยื่อพิธีกรรม Blood Libel ต่อมามีการนำเรื่องราวของเขาไปบันทึกในชีวประวัตินักบุญเรื่อง The Life and Miracles of St William of Norwich จนความเชื่อเรื่องพิธีกรรม Blood Libel ได้รับการถ่ายทอดไปยังหลายประเทศในทวีปยุโรป

The Life and Miracles of St William of Norwich

หนึ่งในข้อกล่าวหาเรื่องพิธีกรรม Blood Libel ที่โด่งดังที่สุด ได้แก่กรณีของ ไซมอนแห่งเทรนต์ เด็กชายคริสเตียนวัย 2 ขวบที่เมืองเทรนต์ เมืองทางตอนเหนือของประเทศอิตาลี ที่หายตัวและถูกพบเป็นศพในแอ่งน้ำเมื่อปี 1475 การชันสูตรครั้งนั้นยืนยันว่าเด็กเสียชีวิตจากการเสียเลือด นำไปสู่การกล่าวหาชาวยิวในเมืองว่ามีส่วนในการลักพาตัวเด็กเพื่อประกอบพิธีกรรม Blood Libel

ชาวยิวในเมืองเทรนต์ถูกนำไปสอบสวนด้วยวิธีทรมาน โดยชายชาวยิว 15 คนถูกตัดสินให้ถูกเผาทั้งเป็น ส่วน ไซมอนแห่งเทรนต์ ได้รับการสถาปนาให้เป็นนักบุญราศีโดยพระสันตะปาปาในปี 1588 ในฐานะมรณสักขี

ไซมอนแห่งเทรนต์

ผ่านมาเกือบ 4 ร้อยปี ไซมอนแห่งเทรนต์ ถูกถอดจากสถานะมรณสักขีในปี 1965 โดยสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 เมื่อมีการลงความเห็นว่า ชุมชนชาวยิวในเมืองเทรนต์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของไซมอนแห่งเทรนต์ และข้อกล่าวอ้างทั้งหมดเป็นเรื่องหลอกลวง

แม้ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่ามีชาวยิวประกอบพิธีกรรม Blood Libel ด้วยการสังเวยเด็กชาวคริสเตียนจริงหรือไม่ แต่วิเคราะห์ในยุคปัจจุบันมองว่า ข้อกล่าวหาเรื่องพิธีกรรม Blood Libel มีจุดประสงค์เพื่อเสริมศรัทธาทางศาสนาด้วยการสร้างนักบุญที่เป็นมรณสักขีประจำชุมชน และใช้เป็นข้ออ้างในการเนรเทศชาวยิวออกจากประเทศในช่วงยุคกลางของยุโรป

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พรรคนาซีของเยอรมนียังได้นำความเชื่อเรื่อง Blood Libel มาใส่ร้ายชาวยิว เพื่อสร้างความชอบธรรมในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวเช่นเดียวกัน

ข้ออ้าง Blood Libel โดยสื่อของเยอรมันในยุคนาซี

Adrenochrome Harvest พิธีกรรม Blood Libel แห่งศตวรรษที่ 21

ในปัจจุบัน ความเชื่อเรื่องกลุ่มคนที่ใช้เลือดเด็กจากการทรมาน ถูกนำมาเผยแพร่อีกครั้ง ผ่านทฤษฎีสมคบคิดเรื่อง Pizzagate และ Qanon ที่สนับสนุนการมีอยู่ของวิธีการ Adrenochrome Harvest หรือสกัดสาร Adrenochrome ออกจากร่างกายของเด็กที่ถูกลักพาตัวมาค้าประเวณี โดยเชื่อว่าตัวยามีสรรพคุณเป็นทั้งยาหลอนประสาทและยาอายุวัฒนะ โดยมีคนดังในฮอลลีวูด มหาเศรษฐี และนักการเมืองพรรคเดโมแครตอยู่เบื้องหลัง

รูปแบบของการใส่ร้ายที่คล้ายคลึงระหว่าง Blood Libel และ Adrenochrome Harvest คือการเปลี่ยนจากข้ออ้างเรื่องความเชื่อทางศาสนาที่ไม่เป็นจริง มาสู่ข้อกล่าวอ้างทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่เป็นจริง ส่วนเป้าหมายของการใส่ร้าย ก็เปลี่ยนจากผู้มีความเชื่อแตกต่างทางศาสนา มาเป็นผู้ที่มีแนวคิดแตกต่างทางการเมือง

แม้จะไม่มีหลักฐานยืนยันได้ว่ามีวิธีการ Adrenochrome Harvest เกิดขึ้นจริง แต่ก็มีผู้คนหลงเชื่อและเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ทางโลกออนไลน์อย่างแพร่หลาย

ข้อมูลอ้างอิง :

https://www.usatoday.com/story/news/factcheck/2022/02/03/fact-check-qanons-adrenochrome-conspiracy-theory-baseless/9268681002/
https://www.forbes.com/sites/conormurray/2023/07/15/the-adrenochrome-conspiracy-theory-pushed-by-sound-of-freedom-star-explained/
https://en.wikipedia.org/wiki/Passover
https://en.wikipedia.org/wiki/Blood_libel
https://en.wikipedia.org/wiki/Simon_of_Trent

ดูข่าวเพิ่มเติม

หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare

สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter

หมายเหตุ : โฆษณาที่ปรากฏอยู่บนหน้าเว็บไซต์นี้ แสดงผลโดยอัตโนมัติจากบริษัทผู้ให้บริการโฆษณา ไม่ใช่การสนับสนุนหรือส่งเสริมจากศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์แต่อย่างใด

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

สำนักสงฆ์หูตาทิพย์

ขุดพบ 12 ศพ ในสำนักสงฆ์ลัทธิประหลาด “สอนหู-ตาทิพย์”

ขุดพบ 12 ศพ ในสำนักสงฆ์ลัทธิประหลาด “สอนหู-ตาทิพย์” พระอ้างใช้สอนวิปัสสนากรรมฐาน เบื้องต้นอายัดไว้พิสูจน์ดีเอ็นเอ พร้อมเอาผิดหัวหน้าสำนักสงฆ์ ฐานนำศพเก็บไว้ในสถานที่ที่ไม่ใช่สุสานและฌาปนสถาน

“สนธิ” ยื่นถอด “ตั้ม-เดชา” ออกจากทนาย

“สนธิ ลิ้มทองกุล” หอบหลักฐานบุกสภาทนายความ ถอดทนายตั้ม-ทนายเดชา ออกจากทนาย ระบุ ได้รับมอบอำนาจจาก “มาดามอ้อย” แล้ว เดินหน้าเอาผิด ทนายตั้มแบบสุดซอย ไม่ให้มีคนตกเป็นเหยื่อผู้รู้กฎหมายอีก

รัสเซียยิงขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่ถล่มยูเครน

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย แถลงยืนยันว่ารัสเซียยิงขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่ถล่มภาคตะวันออกยูเครนเมื่อวานนี้ ตอบโต้ที่ยูเครนใช้ขีปนาวุธที่ได้รับมอบจากสหรัฐและอังกฤษ

ข่าวแนะนำ

โค้งสุดท้าย ศึกสองนารีชิงเก้าอี้ นายก อบจ.นครฯ

เหลือไม่ถึง 2 วันแล้ว ที่ชาวนครศรีธรรมราชจะได้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งนายก อบจ.นครฯ ศึกนี้เป็นการสู้กันเองของพรรคร่วมรัฐบาล ฝ่ายหนึ่งต้องการรักษาฐานที่มั่นไว้ให้ได้ อีกฝ่ายต้องการเจาะฐานให้แตก เพื่อหวังครองที่นั่งการเมืองระดับชาติในสมัยหน้า

ร้อนระอุโค้งสุดท้าย ศึกชิงเก้าอี้ นายก อบจ.อุดรธานี

การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ครั้งนี้ดุเดือดเกินคาด ผู้สมัครจาก 2 พรรคใหญ่ลงชิงชัย ต่างเร่งเครื่องเต็มที่ในโค้งสุดท้าย การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 24 พ.ย.นี้ ใครจะเป็นผู้คว้าชัยชนะและสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญให้จังหวัดอุดรธานี ไปติดตามจากรายงาน

ความเห็นนักวิชาการ คดีทักษิณ

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทย ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง ขณะที่นักวิชาการชี้ว่าไม่ได้พลิกไปจากความคาดหมาย และผลจากคดีนี้ ไม่ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนทางการเมือง แต่ก็ยังมีจุดเสี่ยงที่ต้องระวัง