ถึงแม้เราจะได้ยินข่าวคราวแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกเอาเงินอยู่บ่อย ๆ ทั้งคิดค้นสารพัดวิธีมาหลอกล่อให้เหยื่อหลงกล รวมถึงมีข่าวว่าเหยื่อแจ้งความว่าเสียเงินเป็นล้าน แต่ยังมีคนตกหลุมพรางมุกต่าง ๆ อยู่เสมอ วันนี้ ชัวร์ก่อนแชร์ จะมาอัปเดต 3 กลโกงท็อปฮิตของมิจฉาชีพ จากแคมเปญ #อัปเดตสติป้องกันสตางค์ จากธนาคารกสิกรไทย เพื่อให้ทุกคนมีสติ รู้เท่าทัน ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
1. SMS แนบลิงก์แปลก อย่าคลิก !
บางครั้งเราเห็นลิงก์แปลกที่มาพร้อมข้อความล่อใจ เช่น แจกรางวัล แจกเงิน ได้รับการอนุมัติ วงเงินจำนวนมาก แถมส่งมาจากชื่อผู้ส่งเดียวกับธนาคาร หรือหน่วยงานต่าง ๆ สารพัดวิธีที่ทำให้เราหลงเชื่อ เมื่อเหยื่อกดลิงก์ที่แนบมา บางรายโดนหลอกติดตั้งแอปพลิเคชันดูดเงินโดยไม่ทันได้ตรวจสอบ ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่สามารถควบคุมโทรศัพท์เราได้จากระยะไกล (Remote Desktop) มิจฉาชีพสามารถเห็นข้อมูลสำคัญทุกอย่างบนโทรศัพท์ ไม่ว่าจะเป็น รหัสผ่านเข้าแอปพลิเคชันธนาคาร ข้อมูลทางการเงิน ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องยากที่มิจฉาชีพจะเข้าแอปพลิเคชันธนาคาร และโอนเงินจนเกลี้ยงบัญชี
ดังนั้น #สติ ข้อที่ 1 คือ จำไว้ว่า ปัจจุบันธนาคารได้ยกเลิกการส่ง SMS แบบ
แนบลิงก์แล้วนะ หากได้รับ SMS ให้กดลิงก์ และอ้างว่า มาจากธนาคาร ลบได้เลย ไม่ต้องรอ
#สติ ข้อที่ 2 ถ้าไม่มั่นใจว่า เป็น SMS จริงหรือหลอก ให้โทรเช็กธนาคาร หรือหน่วยงานที่ถูกแอบอ้างโดยตรง ห้ามกดลิงก์ใด ๆ ไม่งั้นเงินอาจหมดบัญชี
2. กู้นายหน้าเถื่อน ไม่ได้เงินแถมเป็นหนี้
หากตกอยู่ในสถานการณ์ร้อนเงิน หลายคนอาจกำลังหาตัวช่วย โดยค้นหาผ่านทาง Google ว่า บริการกู้เงินออนไลน์ กู้เงินด่วน แต่ผลการค้นหากลับพาไปเจอ บริษัทกู้เงินปลอม สุดท้ายโดนหลอกให้โอนเงินค่าธรรมเนียน เงินค้ำประกัน หรือแม้กระทั่งเงินค่าดำเนินการมาก่อน จึงจะให้กู้เงิน ทำให้หลายคนที่กำลังร้อนเงินอยู่แล้ว ยิ่งเพิ่มความร้อนใจไปอีก เงินก็ไม่ได้ แถมยังต้องหาเงินมาจ่ายเพิ่ม และปัจจุบันมิจฉาชีพมีมุกใหม่ ฉวยโอกาสตอนที่คนกำลังต้องการใช้เงิน แอบอ้างเป็นนายหน้าเงินกู้จากธนาคาร บอกว่าช่วยกู้เงินกับธนาคารให้ผ่านได้ แต่ขอค่าดำเนินการหรือหลอกให้เหยื่อส่งข้อมูลส่วนตัวให้ แล้วมิจฉาชีพนำข้อมูลไปยื่นกู้กับธนาคารแทน กรณีนี้ เราอาจไม่ได้เงินแถมยังต้องใช้หนี้แทนมิจฉาชีพด้วยนะ ทั้งที่ความเป็นจริง การกู้เงินแบบออนไลน์แบบถูกกฎหมาย เราสามารถดำเนินการได้เอง และธนาคารจะพิจารณาสินเชื่อภายใต้เงื่อนไข และเกณฑ์ของสถาบันการเงิน
ดังนั้น ต้องมี #สติ ไม่หลงเชื่อคำอวดอ้างบริการเงินกู้ที่เกินจริง ดอกเบี้ยต่ำ วงเงินสูง ตรวจสอบรายชื่อผู้ให้บริการกู้เงินก่อนทุกครั้งว่า ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจอย่างถูกต้อง ตรวจสอบข้อมูล ได้จาก เว็บไซต์ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือติดต่อสมัครสินเชื่อกับธนาคารโดยตรง เพื่อให้ถูกต้อง และเป็นไปตามเงื่อนไข แบบนี้ปลอดภัยที่สุด ไม่เสี่ยงโดนหลอก
3. ขายบัญชีม้าผิดกฎหมาย
อีกหนึ่งมุกยอดฮิตที่มิจฉาชีพชอบใช้ คือ หลอกให้เหยื่อเปิดบัญชีธนาคาร แล้วมาขอซื้อกันดื้อ ๆ บอกว่าจะจ่ายเงินให้ เงินก็ไม่ได้มากมายอะไร หลักร้อย หลักพัน แต่ถ้าโดนจับขึ้นมา แน่ใจนะว่าคุ้ม ? เพราะตอนนี้
การขายบัญชีให้คนอื่นผิดกฎหมาย ต้องรับโทษหนัก คือ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
รวมถึงมุกที่ใช้พูดคำสวยหรู ดูมีน้ำใจว่า จะช่วยอำนวยความสะดวกในการสมัครบริการต่าง ๆ แทนเรา ทั้งทำ Statement ให้ หรือมุกการหลอกรับสมัครงานที่มิจฉาชีพจะแกล้งทำทีขอให้เราเปิดบัญชีออนไลน์ แล้วขอให้ ส่งข้อมูลส่วนตัว ทั้งเลขบัตรประชาชน รายละเอียดบัญชี รหัส OTP ให้ แล้วมิจฉาชีพจะนำบัญชีเราไปหลอกคนอื่น หรือนำไปใช้ทำธุรกิจผิดกฎหมายอีกมากมาย
ดังนั้น ต้องมี #สติ ข้อมูลส่วนตัว และเอกสารสำคัญ ต้องกอดให้แน่น อย่าให้ใครเอาไปได้ง่าย ๆ และไม่รับจ้างเปิดหรือขายบัญชีให้ใคร ไม่งั้นเราต้องรับโทษทางกฎหมายร่วมกับคนร้ายนะ
ทั้งหมดนี้ คือ 3 กลโกงท็อปฮิตของมิจฉาชีพ ที่นำมาฝากเตือนทุกคนกัน อย่างไรก็ตาม เหล่ามิจฉาชีพก็มักจะหาช่องโหว่อัปเกรดปรับเปลี่ยนมุกกลโกงไปเรื่อย ๆ เพื่อหลอกล่อให้เหยื่อตายใจ และฉวยโอกาสตอนที่เราไม่ทันระวังตัว ดังนั้นสิ่งสำคัญ คือ การมีสติ ไม่กด ไม่กรอก ไม่หลงเชื่อคำอวดอ้างที่เกินจริง และอย่าลืมอัปเดตสติป้องกันสตางค์ เพื่อเสริมเกราะป้องกัน รู้เท่าทันกลโกงต่าง ๆ พร้อมสารพัดวิธีรับมือได้ที่ สารานุโกง https://kbank.co/3VEgPlC
ชมเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่
ชัวร์ก่อนแชร์ ภัยไซเบอร์ : SMS ปลอมหลอกดูดเงิน
https://youtube.com/watch?v=U2-MnOyQenE
ชัวร์ก่อนแชร์ ภัยไซเบอร์ : เตือนภัย กู้เงินออนไลน์
ชัวร์ก่อนแชร์ ภัยไซเบอร์ : บัญชีม้า กับ 10 อาชญากรรมออนไลน์
ทีมข่าวไซเบอร์ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์
ผู้เขียน : เสาวภาคย์ รัตนพงศ์
อินโฟกราฟิก FACTinFOCUS : ยศวดี จิตบวรรัศมี
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter