31 มีนาคม 2566
กรมอุตุนิยมวิทยา (ประเทศไทย) พยากรณ์อากาศสำหรับเดือนเมษายน พ.ศ. 2566 ระบุว่า ประเทศไทยมีอากาศร้อนจัดหลายพื้นที่ อุณหภูมิสูงที่สุดจะสูงถึง 41-43 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิของอากาศที่สูงมากกว่า 40 องศาเซลเซียส ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนเราอย่างไรบ้าง ทั้ง ๆ ที่อุณหภูมิของร่างกายคือ 37 องศาเซลเซียส (98.6 องศาฟาเรนไฮต์) โดยธรรมชาติ ร่างกายคนเรามีกลไกปรับตัวกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นรอบตัวอยู่แล้ว รวมถึงการระบายความร้อนออกทางเหงื่อ แต่ถ้าอุณหภูมิรอบ ๆ ร่างกายสูงมากก็ทำให้การระบายความร้อนทางเหงื่อทำได้น้อยลง ก่อให้เกิดอาการเป็นลมหมดสติได้
โรคลมจากความร้อน อาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุดังนี้
1. อยู่ในที่อากาศร้อน อุณหภูมิมากกว่า 39.2 องศาเซลเซียส ติดต่อกันตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป และผู้ที่มีความเสี่ยงเกิดโรคลมจากความร้อน คือ เด็กเล็ก ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี คนอ้วน รวมถึงคนที่กินยาบางชนิดที่ขัดขวางกลไกการกำจัดความร้อนออกจากร่างกาย (เช่น ยารักษาโรคจิต ยาแก้แพ้) ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือเสพยาบ้า
2. ออกกำลังกายหรือทำงานใช้แรงกายอย่างหนักท่ามกลางอากาศที่ร้อน ทำให้ร่างกายสร้างความร้อนมากเกินกว่าที่สามารถกำจัดออกไปได้ มักพบในคนหนุ่มสาวที่มีร่างกายแข็งแรง เช่น นักกีฬา นักวิ่งระยะไกล คนงานกลางแจ้ง ทหาร เป็นต้น
สาเหตุเหล่านี้ ทำให้ร่างกายไม่สามารถกำจัดความร้อน ที่เป็นเหตุให้มีอุณหภูมิของร่างกายสูงเกิน 41 องศาเซลเซียส ความร้อนจะทำให้อวัยวะต่าง ๆ ถูกทำลายจนทำหน้าที่ผิดเพี้ยนไป ก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรงขึ้นได้
เมื่อพบคนที่มีอาการโรคลมจากความร้อน ก่อนนำส่งโรงพยาบาล ควรให้การปฐมพยาบาลดังนี้
1. พาหลบเข้าที่ร่ม ในรถหรือห้องที่มีความเย็น
2. ถอดเสื้อผ้าให้เหลือเท่าที่จำเป็น
3. ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัว ใช้พัดลมเป่า วางถุงใส่น้ำแข็งไว้ตามซอกคอ รักแร้และขาหนีบ
4. นำส่งโรงพยาบาลโดยรถปรับอากาศ หรือเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท
ข้อควรระวัง : หากปล่อยให้อุณหภูมิร่างกายสูงอยู่นาน อาจมีผลกระทบต่ออวัยวะทุกส่วน เกิดภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ เช่น หัวใจเต้นเร็ว ความดันเลือดต่ำ เลือดออกใต้เยื่อบุหัวใจ ปอดบวมน้ำ ปอดอักเสบ การหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน ไตวายเฉียบพลัน เลือดออกง่าย อัมพาตครึ่งซีก ชัก ความจำเสื่อม ตับวาย เป็นต้น
ผลการรักษาขึ้นกับความรุนแรงและระยะเวลาที่เป็นก่อนมาถึงโรงพยาบาล ถ้าได้รับการรักษาโดยเร็วและถูกต้องก็มีโอกาสรอดชีวิตถึงร้อยละ 90 แต่ถ้าปล่อยให้มีอาการนานเกิน 2 ชั่วโมง ค่อยเข้ารับการรักษา ก็มีอัตราตายสูงถึงร้อยละ 78 บางรายเมื่อรักษาจนฟื้นตัวดีแล้ว อาการทางสมองอาจหายได้ไม่สนิทและมีบุคลิกภาพเปลี่ยนไป ท่าทางงุ่มง่าม หรือกล้ามเนื้อทำงานประสานกันไม่ดี
การป้องกันอันตรายจากความร้อน (อากาศร้อน) ควรปฏิบัติดังนี้
1. หลีกเลี่ยงการออกกำลังหรือใช้แรงกายในที่ที่อากาศร้อนและชื้น
2. การออกกำลังกาย ก่อนออกกำลังควรดื่มน้ำ 400-500 มิลลิลิตร (ประมาณ 2 แก้ว) และระหว่างออกกำลังควรดื่มน้ำ 200-300 มิลลิลิตร (ประมาณ 1 แก้ว) เป็นระยะ ๆ ควรสวมเสื้อผ้าบาง ๆ หลวม และสีอ่อน
3. ช่วงที่มีคลื่นความร้อน (อากาศร้อน) ควรอยู่ในห้องปรับอากาศ หรือมีพัดลมเป่า อากาศถ่ายเทสะดวก ควรอาบน้ำบ่อย ๆ ดื่มน้ำมาก ๆ สวมเสื้อผ้าบาง ๆ หลวม ๆ สีอ่อนและเท่าที่จำเป็น
4. สำหรับเด็กเล็ก ไม่ควรปล่อยเด็กไว้ในรถยนต์ตามลำพังแม้เพียงประเดี๋ยวเดียว เมื่อไม่ใช้รถควรปิดกุญแจประตูรถทุกครั้ง ควรเก็บกุญแจรถไว้ในที่มิดชิดหรือที่เด็กเอื้อมไม่ถึง
สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง อุณหภูมิสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อทุกคน การป้องกันตนเองและคนใกล้ตัวเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง สามารถรับชมเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่นี่
สัมภาษณ์เมื่อ 29 เมษายน 2565
ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย : พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter