22 ม.ค. 64 – ไทยลีกจัดประชุมร่วมกับสโมสรไทยลีก 1-2 เพื่อแจ้งมาตรการแข่งขันแบบปิดและมีเหย้า-เยือน หลังจากได้รับอนุมัติจากศบค. โดยจะเริ่มแข่งขันเต็มรูปแบบในวันเสาร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2564
ณ ห้องประชุม บริษัท ไทยลีก จำกัด ได้จัดประชุมสโมสรไทยลีก 1-2 ขึ้น โดย พล.ต.อ. ดร. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ มอบหมายให้ กรวีร์ ปริศนานันทกุล รักษาการเจ้าหน้าที่บริหาร เป็นประธาน พร้อมด้วยตัวแทนสโมสรสมาชิก และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
โดยในการประชุมมีสาระสำคัญดังนี้
- ปฏิทินการแข่งขัน
1.1. เริ่มการแข่งขันด้วย ช้าง เอฟเอ คัพ รอบ 16 ทีมสุดท้าย วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564
1.2. ไทยลีก 1-2 เริ่มแข่งขันวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ 2564 โดยนำแมตช์แข่งขันในเดือนมกราคม มาแข่งขันในเดือนกุมภาพันธ์ และจะจบฤดูกาลสิ้นเดือนมีนาคม และมีการแข่งขันช่วงกลางสัปดาห์ของไทยลีก 1 ทั้งหมด 5 นัด และไทยลีก 2 ทั้งหมด 7 นัด
1.3. จะมีแมตช์นำร่อง ในวันที่ 31 มกราคม 2564 เป็นนัดตกค้าง ระหว่าง สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด พบ การท่าเรือ เอฟซี เนื่องจาก จ. เชียงราย อยู่ในพื้นที่มีความเสี่ยงต่ำ
1.4. ศบค. ยังไม่อนุญาตให้จัดการแข่งขัน สำหรับสโมสรที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 5 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด และสมุทรสาคร โดยในเบื้องต้น สโมสรที่อยู่ใน 5 จังหวัดดังกล่าว จำเป็นต้องหาสนามแข่งขันสนามกลาง จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง
1.5. ช้าง เอฟเอ คัพ รอบ 8 ทีมสุดท้าย แข่งขันวันที่ 3 เมษายน, รอบรองชนะเลิศ วันที่ 7 เมษายน และรอบชิงชนะเลิศ วันที่ 11 เมษายน ตามลำดับ
1.6. เพลย์ออฟไทยลีก 2 หาทีมเลื่อนชั้นไทยลีก 1 รอบรองชนะเลิศ (เหย้า-เยือน) จะแข่งขันวันที่ 4 และ 10 เมษายน ขณะที่รอบชิงชนะเลิศ (เหย้า-เยือน) จะแข่งขันวันที่ 17 และ 24 เมษายน
- ข้อปฏิบัติในการแข่งขัน
2.1. ไทยลีกและสโมสรส่งรายชื่อนักกีฬา และเจ้าหน้าที่ ที่จะทำการแข่งขันตลอดฤดูกาล ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อส่งต่อกระทรวงมหาดไทย และประสานต่อไปยังจังหวัด ในการขออนุญาตให้มีการแข่งขัน และเอกสารรับรองการเดินทางข้ามจังหวัด
2.2. ผู้จัดการแข่งขัน จัดการแข่งขันตามคู่มือจัดการแข่งขันฟุตบอลแบบปิด และให้มีการใช้แอพพลิเคชั่น ไทยชนะ และ สปิริต
2.3. นักกีฬาและเจ้าหน้าที่ ต้องผ่านการตรวจเชื้อโควิด-19 ทุกเดือน หากพบผู้ติดเชื้อ ให้แจ้งหน่วยงานสาธารณสุขที่รับผิดชอบและดำเนินการควบคุมโรค และใช้แอพพลิเคชัน หมอชนะ
2.4. ลดจำนวนผู้เกี่ยวข้องที่อยู่ในสนามไม่เกิน 150-180 คน โดยแบ่งจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรม ออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ นักกีฬา, พนักงานจัดกิจกรรม, สื่อและถ่ายทอดสด และ VIP
- การเดินทางและที่พัก
3.1. จำกัดการเดินทางเฉพาะจุดหมายที่จำเป็น และลดการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง/ชุมชน
3.2. สำหรับการเดินทางโดยรถบัสส่วนตัว ในจังหวัดที่ระยะทางไม่ไกลมาก ให้เดินทางจากจุด A (ภูมิลำเนา) ไปถึงจุด B (สนามแข่งขัน / โรงแรม / สนามฝึกซ้อม) เป็นหมู่คณะ ทั้งไปและกลับ
3.3. หากต้องเดินทางโดยเครื่องบิน ให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงการรับประทานในระหว่างโดยสาร หรืออยู่ในสนามบิน รักษาระยะห่างกับบุคคลอื่นๆ นอกเหนือหมู่คณะของตนเอง
3.4. สโมสรเจ้าบ้าน จะอำนวยความสะดวก ในการประสานงาน จัดหาโรงแรมภายในจังหวัด ให้แก่ทีมเยือนได้เลือก อย่างน้อย 2 โรงแรม โดยโรงแรมจะต้องสามารถแยกสัดส่วน ระหว่างแขกทั่วไป และทีมเยือนได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ ทีมเยือนจะต้องงดใช้พื้นที่ส่วนกลางของโรงแรม ในทุกกรณี
- มาตรการป้องกันตัวเอง
4.1. ศบค. เข้าใจว่าการทำบับเบิลแบบเต็มรูปแบบกับฟุตบอลลีก สามารถทำได้ยาก จึงอนุญาตให้นักกีฬาและเจ้าหน้าที่ทีมสามารถพักในที่พักของตนเองได้หลังจากแข่งขันเสร็จ แต่หากมีสโมสรใดสามารถทำการกักตัวทีมเป็นหมู่คณะ ก็สามารถทำได้ เพื่อป้องกันการรับเชื้อจากปัจจัยภายนอก
4.2. สำหรับนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ให้หลีกเลี่ยงไปพื้นที่เสี่ยง หรือสถานที่ที่มีการรวมตัวกันของคนหมู่มาก สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือทำความสะอาด รักษาระยะห่าง และให้เฝ้าระวังอาการ ตรวจวัดอุณหภูมิอย่างสม่ำเสมอ โดยอาจพิจารณาการแยกกลุ่มซ้อม (Small Side Training) เพื่อแยกระดับความเสี่ยงในทีม
- การเปลี่ยนตัวผู้เล่น
5.1. ไทยลีก 1-2 เพิ่มการเปลี่ยนตัวสำรองเป็น 5 คน โดยทีมสามารถเปลี่ยนตัวได้ 3 ครั้ง ไม่รวมพักครึ่ง
5.2. กรณีที่มีการต่อเวลาการแข่งขัน (สำหรับบอลถ้วย/เพลย์ออฟ) สามารถเปลี่ยนได้อีก 1 คน และเปลี่ยนได้อีก 1 ครั้ง เพิ่มเติมจากเวลาปกติ (ไม่รวมก่อนเริ่มต่อเวลา และพักครึ่งต่อเวลา)
- ขั้นตอนการปฏิบัติกรณี VAR ขัดข้อง
6.1. FIFA และ IFAB ชี้แจงว่า VAR เป็นเทคโนโลยีเพื่อช่วยในการตัดสินเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ เมื่อ VAR ขัดข้อง การแข่งขันยังคงดำเนินการต่อ จะไม่มีการยกเลิกการแข่งขัน โดยนโยบายการยกเลิกการใช้งาน VAR ที่สมาคมฯ และไทยลีกใช้อยู่ปัจจุบัน เป็นการตามคำแนะนำจาก FIFA และ IFAB
6.2. เมื่อเกิดเหตุขัดข้อง ผู้ตัดสินจะทำการเรียน นักกีฬา และโค้ชของทั้ง 2 ทีม ผู้ควบคุมการแข่งขัน และผู้จัดแข่งขัน (LOC) เพื่อทำการประกาศ
6.3. หากเกิดขัดข้องในครึ่งแรก ให้ยกเลิกการใช้งานตลอดครึ่งแรกทันที จะกลับมาใช้งานได้ ก็ต่อเมื่อซ่อมแซมเสร็จ ภายในช่วงพักครึ่งเวลาเท่านั้น
6.4. หากขัดข้องในครึ่งหลัง ให้ยกเลิกการใช้งานตลอดช่วงเวลาที่เหลือของเกมดังกล่าว. -สำนักข่าวไทย