สธ.18 ก.ค.- ปลัดสธ. ถก ร่วม กทม. หวังคลี่คลายดราม่าโควิดในพื้นที่ แจงตอนนี้อำนาจจัดการโควิดใน กทม. เป็นของผู้ว่าฯ เบ็ดเสร็จ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ย้ำยังไม่ยกเลิกกิจกรรมดนตรีในสวนและหนังกลางแปลง ไม่มีหลักฐานติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และพญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร และนพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผอ.สำนักการแพทย์ กทม. กล่าวภายหลัง ประชุมคณะกรรมการอำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 (ศปค.สธ.) ครั้งที่ 5/2565 ว่า การหารือครั้งนี้เพื่อ เพื่อรับมือกับการระบาดของ โควิด-19 ที่มีการเปลี่ยนแปลงจากบรรเทากลายเป็นพบผู้ติดเชื้อเพิ่มจากสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นปลายมิถุนายนถึงต้นกรกฎาคม โดยพบมากในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งจากการหารือจะมีการบูรณาการร่วมกันทั้งการรักษาเตียงคนไข้รวมถึงการกระจายยาและเวชภัณฑ์ โดยจะมีการติดตามว่ามีปริมาณเหมาะสมเพียงพอหรือไม่ เบื้องต้นกรุงเทพมหานคร ขอสนับสนุนยาฟาวิพิราเวียร์ เพิ่มจาก 7 วันเป็น 10 วันซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะพิจารณาจัดให้ตามความเหมาะสม
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า สาเหตุของการจัดการประชุมหารือในครั้งนี้เนื่องจากทางศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) ได้ยกเลิก ศบค.กทม. ทำให้ไม่มีอำนาจการควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่กรุงเทพฯ อีกต่อไป จึงจำเป็นต้องใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อจังหวัดแทน ในการควบคุมสถานการณ์และบริหารจัดการผู้ป่วยติดเชื้อในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และถือเป็นการคืนพื้นที่อำนาจให้กับกรุงเทพมหานครในการทำงานทั้งหมด โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด
พญ.วันทนีย์ กล่าวว่า สถานการณ์ครองเตียงในพื้นที่กรุงเทพมหานครยังคงมีเพียงพอ เตียงผู้ป่วยสีเหลืองอยู่ที่ 48% โดยการบริหารจัดการจากนี้จะให้ศูนย์เอราวัณเป็นผู้ประสานส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลหลักตาม 6 โซน ของพื้นที่กรุงเทพมหานคร พร้อมยอมรับพื้นที่กรุงเทพฯ แม้จะฉีดวัคซีนมากที่สุดถึง 100% แต่ก็มีประชากรแฝง และมีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นอยู่ที่ 80% เนื่องจากเป็นศูนย์ฉีดวัคซีน และยังทำงานเชิงรุกฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุติดเตียงตามบ้าน อย่างไรก็ตามทางกรุงเทพมหานคร ได้ขออนุมัติยาฟาวิพิราเวียร์เพิ่มจากกระทรวงสาธารณสุขจากเดิมให้คงไว้ในสตอก 7 วัน ขอเพิ่มเป็น 10 วัน เนื่องจากเฉลี่ยต่อวันมีการใช้ปริมาณมากถึง 100,000 เม็ด เพราะผู้ติดเชื้อหนึ่งคนต้องใช้ถึง 50 เม็ด ในแต่ละวันมีผู้ป่วยมากถึง 2,000 คน พร้อมกันนี้ยังมีแนวคิดขยาย CI เพิ่มด้วย
พญ.วันทนีย์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องของการจัดกิจกรรมหนังกลางแปลง ดนตรีในสวนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่หลายฝ่ายกังวลอาจสุ่มเสี่ยงในเรื่องของการแพร่เชื้อนั้น ชี้แจงว่าการจัดกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ ดำเนินการตามกรอบที่ทางศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด หรือ ศบค. ให้หลักเกณฑ์ไว้ว่าให้ปรับมาตรการผ่อนคลายกิจกรรมคงเฝ้าระวัง การกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งหากพบว่ากิจการต่างๆ ที่จัดขึ้น พบการติดเชื้อเป็นกลุ่ม ทำให้เกิดการระบาด จะดำเนินการลดหรือยกเลิกทันที
นพ.สุขสันต์ กล่าวว่า ส่วนผู้ป่วยที่รู้ตัวว่าติดเชื้อโควิดหลังจากตรวจ ATK ให้ไปรับการรักษาที่สถานบริการใกล้บ้านตามสิทธิ์หรือศูนย์บริการ สาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร หากเป็นกลุ่มอาการสีเขียว ให้รับยาตามอาการ ดูแลตนเองยังที่พักอาศัย หากมีเกณฑ์สีเหลืองเข้าข่ายต้องได้รับยาต้านไวรัสจะมีการจ่ายให้ และประเมินว่าต้องรับการรักษายังสถานพยาบาลหรือไม่ ส่วนกรณีที่ผู้ป่วยเมื่ออยู่บ้านพักแล้วอาการพัฒนาเข้าข่ายวิกฤติสีแดง มอบให้กับศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร โดยสามารถโทรศัพท์ไปสอบถามผ่านหมายเลข 1669 เพื่อรับการประเมิน หากพบเป็นวิกฤติสีแดงจริงจะทำการส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลทันที ที่ผ่านมาสามารถประสานส่งต่อผู้ป่วยได้ภายใน 1 ชั่วโมง
นพ.สุขสันต์ ยังกล่าวว่า สำหรับปัญหาดราม่าที่เกิดขึ้น กรณีผู้ป่วยเสียชีวิตหรือติดเชื้อภายในบ้านพักไม่มีโรงพยาบาลดูแลในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จนทำให้กลุ่มเอ็นจีโอต้องเข้ามาช่วยเหลือนั้น ยอมรับว่า อาจมีการทำงานที่หลุดรอดไปบ้าง ทั้งนี้ยอมรับและจะปรับปรุงพัฒนา โดยที่ผ่านมาศูนย์เอราวัณกรุงเทพมหานคร รับหน้าที่ประสานส่งต่อผู้ป่วยมากถึงเฉลี่ยวันละ 100 คน .-สำนักข่าวไทย