จุฬาลงกรณ์ 21 มิ.ย. – จุฬาฯ จัดเสวนาถกเรื่องฝีดาษวานร ย้ำไม่ได้ติดง่ายเหมือนโควิด ป้องกันยังเหมือนเดิม สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง แจงภูมิคุ้มกันแม้ปลูกดาษได้ ก็ติดได้ โดยไทยคาดปลูกฝีครั้งสุดท้ายปี 2525
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ พร้อมด้วย ผศ.น.สพ.ดร.สว่าง เกษแดงสกลวุฒิ ภาควิชาพยาธิวิทยาและหน่วยชันสูตรโรคสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวภายหลังเสวนา ชัวร์ก่อนแชร์ โรคฝีดาษวานรว่า ประเทศไทยมีการเลิกปลูกฝีดาษ ตั้งแต่ปี 2523 แต่ในบางจังหวัดก็ยังมีการปลูกฝีอยู่ คาดว่าจะมีการเลิกปลูกจริงในปี 2525 แต่อย่างไรก็ตามการปลูกฝีดาษ ไม่ได้สามารถป้องกันฝีดาษวานรได้ทั้งหมด และต้องเข้าใจว่า เมื่อนานวันไปภูมิคุ้มกันในร่างกายจากการปลูกฝีจะค่อย ๆ ลดลงตามอายุเฉลี่ย 60-70 ปี ดังนั้น สิ่งที่ต้องดำเนินการจากนี้ คือ 1. ต้องเร่งสำรวจว่าสัดส่วนของคนที่ยังไม่ได้รับการปลูปฝี ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปี ว่ามีอยู่เท่าไหร่ 2. ต้องเตรียมฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และมีความอ่อนไหว ไวต่อโรค เช่น เพิ่งผ่านการสัมผัสกับคนติดเชื้อใน 4 วัน แต่ไม่เกิน 21 วัน เนื่องจากระยะฟักเชื้อของฝีดาษวานรประมาณ 21 วัน
รศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับอาการของคนที่ป่วยฝีดาษลิงนั้น จะมีระยะฟักเชื้อ 5-21 วัน โดยอาการจะเริ่มจากมีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดกล้ามเนื้อ ต่อมน้ำเหลืองโต และมีตุ่มน้ำเกิดขึ้นตามร่างกาย และแพร่ได้จากการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง ละอองฝอย สำหรับการป้องกันตนเองจากฝีดาษวานร ยังคงใช้หลักไม่แตกต่างจากโควิด-19 คือ การสวมหน้ากากอนามัย ระยะห่าง ล้างมือ แต่ไม่ติดง่ายเหมือนโควิด
ผส.ส.นพ.ดร.สว่าง กล่าวว่า สำหรับการติดเชื้อฝีดาษวานรในสัตว์ พบได้ในกลุ่มสัตว์ฟันแทะ พวกหนู แพรีด็อก สำหรับประเทศไทยมีการนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศหลากหลายชนิด โดยในแพรีด็อกที่พบมีการติดเชื้อฝีดาษวานรที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกานั้น แต่ในส่วนของไทยพบว่ามีการเพาะแพรีด็อกจำหน่ายเองไม่ได้มีการนำเข้า แต่อย่างไรก็ตาม หากพบสัตว์ป่วย มีการเปลี่ยนแปลง ไม่แข็งแรงเหมือนเดิม ก็ควรนำมาพบสัตวแพทย์ทันที. -สำนักข่าวไทย