สธ. 17 เม.ย.- กรมควบคุมโรค เผยแผนการฉีดวัคซีนโควิด-19 กระตุ้นกลุ่มเป้าหมายอายุ 12-17 ปี ที่มีสุขภาพแข็งแรง ผ่านระบบการศึกษา เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน จะเริ่มฉีดช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2565 ส่วนเด็กที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่ม ให้เข้ารับการฉีดวัคซีนผ่านระบบสถานพยาบาล
วันที่ (17 เมษายน 2565) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากมติการประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ครั้งที่ 2/2565 แนะนำให้เด็กอายุ 12-17 ปี ที่ได้รับวัคซีนโควิด 19 ครบ 2 เข็มแล้ว ให้เข้ารับวัคซีนไฟเซอร์ เป็นเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 และต้องมีระยะห่างจากเข็มที่สอง 4-6 เดือนขึ้นไป เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน แม้ว่าเด็กที่ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย แต่จำเป็นต้องฉีดวัคซีน โดยเฉพาะเด็กที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่ม เพื่อป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิต
สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ไฟเซอร์ ในกลุ่มเป้าหมายอายุ 12-17 ปี (ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6) ที่มีสุขภาพแข็งแรง เป็นการฉีดเข็มกระตุ้นผ่านระบบการศึกษา เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดเทอมภาคการศึกษาที่ 1/2565 โดยบูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ เนื่องจากวัคซีนไฟเซอร์กระตุ้นภูมิคุ้มกันดี มีผลข้างเคียงน้อยลง และเป็นวัคซีนที่พร้อมใช้งานได้ทันทีไม่ต้องผสมน้ำเกลือก่อนฉีด สามารถเก็บในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ได้นานขึ้นเป็น 10 สัปดาห์ หลังเปิดใช้แล้วต้องฉีดให้หมดภายใน 2-6 ชั่วโมง ซึ่งสูตรการฉีดในกลุ่มเด็กอายุ 12-17 ปี จะฉีดคนละ 15 ไมโครกรัมต่อโดส โดยจะเริ่มฉีดพร้อมกันทั่วประเทศช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2565
นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ ได้แก่ กลุ่มนักเรียนนอกระบบการศึกษา เช่น Home School การจัดการเรียนการสอนที่บ้าน กลุ่มเด็กที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค 1.โรคอ้วน 2.โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง 3.หัวใจและหลอดเลือด 4.ไตวายเรื้อรัง 5.มะเร็งและภูมิคุ้มกันต่ำ 6.เบาหวาน 7.โรคพันธุกรรม รวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทรุนแรง และเด็กที่มีพัฒนาการช้า ให้เข้ารับการบริการฉีดวัคซีนผ่านระบบสถานพยาบาล
ทั้งนี้ หากผู้เข้ารับวัคซีนกลุ่มเป้าหมายอายุ 12-17 ปีมีเงื่อนไขเฉพาะ หรือมีข้อจำกัดในการรับวัคซีนตามแนวทางการฉีดวัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำผ่านระบบการศึกษา ให้กลุ่มดังกล่าวเข้ารับวัคซีนผ่านระบบสถานพยาบาล โดยให้หน่วยบริการฉีดสามารถพิจารณาฉีดวัคซีนตามดุลพินิจของแพทย์ ภายใต้หลักวิชาการ คำแนะนำจากบริษัทผู้ผลิต ความสมัครใจของผู้ปกครองและผู้รับวัคซีน .-สำนักข่าวไทย