กรุงเทพฯ 8 เม.ย. – จากเหตุสลด ลูกสาววัย 15 ปี วางแผนให้แฟนหนุ่มฆ่าแม่ตัวเอง เพราะถูกขัดขวางความรัก จิตแพทย์ชี้มูลเหตุเกิดจากพื้นฐานความรุนแรงในครอบครัวบ่มเพาะ จึงใช้ความรุนแรงตอบโต้ แนะไม่ใช่ดราม่า วิจารณ์ และควรใช้ พ.ร.บ.ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว แก้ไข ยุติความรุนแรงในครอบครัว
นพ.ยงยุทธ วงค์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า เรื่องนี้ไม่อยากให้มองเป็นเรื่องดราม่า โทษเด็กมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมที่เกิดขึ้น เพราะถ้ามองในเชิงปัญหาสุขภาพจิตจะเห็นชัดเจนว่าเด็กโตมาบนพื้นฐานความรุนแรงในครอบครัว จึงใช้ความรุนแรงแสดงออก เรื่องนี้ต้องมีการทบทวนในระดับสังคม คนรอบตัวเด็ก ทั้งคนข้างบ้าน โรงเรียน ครู มีใครรู้หรือไม่ว่าเด็กมีพฤติกรรมส่อใช้ความรุนแรง
สำหรับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเด็กคนนี้เป็นเพียงอารมณ์ขณะหนึ่ง เช่น โกรธจนคุมตัวเองไม่ได้ ไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา การกระทำขณะนั้นเป็นเพียงการขาดวิจารณญาณ ส่วนที่ระบุว่าไม่แคร์ ไม่เสียใจต่อการกระทำ เป็นเพียงความคิดชั่วขณะของการกระทำเท่านั้น การแก้ไขปัญหานี้เริ่มได้จากการไม่สนับสนุนและช่วยเหลือ ไม่ให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว โดยคนในชุมชนสามารถช่วยสังเกตและแจ้งให้เจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจ เข้าไปช่วยเหลือ นำเด็กออกมาจากวงจรความรุนแรง อาจมาอยู่สถานสงเคราะห์หรือที่ปลอดภัย หากครอบครัวสามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขได้ เด็กก็สามารถกลับมาอยู่กับครอบครัวได้เช่นเดิม
สำหรับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว นายจะเด็ด เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มองว่าปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเช่นกรณีนี้เป็นปัญหาระดับโครงสร้าง ไม่อยากให้โทษปัจเจกบุคคล ที่สังคมพุ่งเป้าไปที่เด็ก เมื่อเกิดปัญหาขึ้น สังคมไทยจะยึดติดกับคำว่ากตัญญูที่ลูกต้องมีต่อพ่อแม่ ทั้งที่ความเป็นจริงสังคมไทยเกิดความเหลื่อมล้ำสะสมอยู่ในครอบครัวมานาน โดยเฉพาะวิกฤติโควิด ทำให้ครอบครัวต้องออกจากบ้านหารายได้ เด็กบางส่วนไม่ได้เรียนหนังสือ และหันไปคบเพื่อนที่ให้ความรู้สึกอบอุ่นกว่าบ้าน ความไม่เท่าเทียมกันในครอบครัวนำไปสู่ความรุนแรง ร่วมกับปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รัฐบาลต้องแก้ปัญหา โดยลดความเหลื่อมล้ำให้ได้ และต้องนำเด็กเข้าไปอยู่ในระบบการศึกษาให้มากกว่านี้ มิฉะนั้นปัญหาก็จะวนเวียนอยู่อย่างนี้.-สำนักข่าวไทย