กรุงเทพฯ 1 มี.ค. – สปสช.เพิ่มบทบาทสายด่วน 1330 ตามแนวทางใหม่ของ สธ. ที่เพิ่มบริการรักษาโควิด-19 แบบผู้ป่วยนอก สำหรับกลุ่มไม่มีอาการ/ไม่มีความเสี่ยง นอกจากไปรับบริการที่สถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์ประเมินอาการแล้ว ยังสามารถโทร.มาที่ 1330 เพื่อให้ประเมินอาการและจับคู่ดูแลตามแนวทาง “เจอ แจก จบ” ได้เช่นกัน
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงการเพิ่มระบบการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบผู้ป่วยนอก ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.65 ของกระทรวงสาธารณสุข ด้วยแนวทาง “เจอ แจก จบ” ว่า ในส่วนของ สปสช.นั้นได้มีการปรับหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายรองรับแนวทางดังกล่าวไว้แล้ว เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 เช่นกัน โดยเป็นการปรับหลักเกณฑ์แนวทางอัตราการจ่ายชดเชยบริการโรคโควิด-19 ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ส่วน คือ 1. การจ่ายค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ป่วยโรคโควิด 2. การตรวจคัดกรองและตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการติดเชื้อโควิด-19 โดยวิธีตรวจ ATK โดยผู้เชี่ยวชาญ (ATK Professional) 3. อัตราจ่ายค่าห้องสำหรับการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในโรงพยาบาล 4. การสนับสนุนชุดตรวจ ATK-self test สำหรับประชาชนคนไทยทุกสิทธิ 5. อัตราจ่ายค่าพาหนะรับ-ส่งต่อ กรณีใช้รถโดยสารประเภทอื่น
ขณะเดียวกัน ตามแนวทาง “เจอ แจก จบ” ของกระทรวงสาธารณสุข ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 โดยเป็นการเพิ่มระบบการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบผู้ป่วยนอก คือ หลังจากผู้ที่สงสัยป่วยโควิด-19 ตรวจ ATK แล้ว หากพบผลเป็นบวก (เจอ) แพทย์จะพิจารณาจ่ายยารักษาตามอาการ 3 สูตร (แจก) ได้แก่ 1. ยาฟ้าทะลายโจร 2. ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ แก้ไอ ลดน้ำมูก 3. ยาฟาวิพิราเวียร์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ติดเชื้อในการเข้าถึงบริการ และเป็นการเชื่อมโยงเข้าสู่การเป็นโรคที่ดูแลได้ด้วยตนเอง (จบ)
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า สปสช.ได้ปรับบทบาทของสายด่วน สปสช. 1330 จากเดิมที่รับลงทะเบียนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้าระบบการรักษาที่บ้าน ได้เพิ่มบทบาทเป็นผู้ทำหน้าที่คัดกรองความเสี่ยงให้ประชาชนที่ตรวจ ATK แล้วพบผลบวกว่าติดเชื้อโควิด-19 ด้วย โดยตามขั้นตอนของกระทรวงสาธารณสุขนั้น หากประชาชนมีอาการทางเดินหายใจ หรือประวัติสัมผัสเสี่ยงสูง เมื่อตรวจ ATK ด้วยตนเอง หากผลเป็นบวก นอกจากจะเดินทางเพื่อไปรับบริการที่โรงพยาบาลในส่วนของผู้ป่วยนอกเพื่อรับการประเมิน หากไม่มีภาวะเสี่ยง ก็เข้าสู่แนวทาง “เจอ แจก จบ” และเข้ารับบริการ tele-health กับโรงพยาบาลนั้น แต่หากมีภาวะเสี่ยง คือ เป็นกลุ่ม 608 มีโรคประจำตัว แต่อาการไม่มาก จะให้เข้าระบบ HI/CI, Hotel Isolation และฮอสพิเทล แต่หากมีภาวะเสี่ยงและอาการรุนแรงจะส่งรับการรักษาในโรงพยาบาล
แต่กรณีที่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่ต้องการเดินทางไปที่โรงพยาบาล สามารถโทร.1330 ซึ่ง สปสช. และสถานพยาบาลที่รับดูแลจะคัดกรองอาการเบื้องต้นให้ หากพบว่าไม่มีภาวะเสี่ยงก็จะเข้าสู่การรักษาแบบผู้ป่วยนอก และแยกกักตัวที่บ้านตามแนวทาง “เจอ แจก จบ” โดย สปสช.จะจับคู่ให้ดูแลกับสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับการดูแลแบบ tele-health คือ แยกกักตัวที่บ้าน, จ่ายยาตามอาการ, โทรติดตามอาการ (ครั้งเดียว 48 ชั่วโมง), มีระบบส่งต่อเมื่ออาการแย่ลง แต่ระบบนี้จะไม่ได้รับอาหาร และไม่ได้รับอุปกรณ์ประเมิน เช่น เครื่องวัดไข้และเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว
เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม หากผู้ติดเชื้อโควิด-19 สิทธิบัตรทอง 30 บาท ต้องการเข้าระบบการรักษาที่บ้าน ก็ตัดสินใจร่วมกับผู้ที่ประเมินอาการ เพื่อเข้ารับการรักษาที่บ้าน (Home Isolation) และได้รับการดูแลตามระบบได้เช่นเดียวกัน สำหรับหน่วยบริการที่ดูแลประชาชนสิทธิบัตรทองนั้น สปสช.ยังคงดูแลเหมือนเดิม หน่วยบริการก็จะได้รับการเบิกจ่ายตามอัตราที่กำหนด รวมถึงหากมีอาการเปลี่ยนแปลง ต้องเข้าโรงพยาบาล ก็เบิกค่าใช้จ่ายได้ตามอัตราที่กำหนดเหมือนที่เคยดำเนินการ ทั้งหมดนี้ประชาชนไม่เสียค่าใช้จ่ายเช่นกัน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 1330 ตลอด 24 ชม. หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 เพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. @nhso. -สำนักข่าวไทย