กรุงเทพฯ 22 ก.พ.- กทม. เตรียมขยายเตียงเพิ่ม รองรับผู้ป่วยโควิด-19 ให้ได้อีก 50% ของจำนวนที่มีอยู่เดิม พร้อมยกระดับการนำผู้ป่วยโควิดเข้าสู่ระบบรักษา
(22 ก.พ. 65) พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
สำนักอนามัยและสำนักการแพทย์ กทม. ได้รายงานสถานการณ์ผู้ป่วยโควิด-19 รวมถึงการเตรียมพร้อมสถานพยาบาลเพื่อผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยในวันนี้ (22 ก.พ.65) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครพบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ จำนวน 2,638 ราย และมีจำนวนผู้เสียชีวิต จำนวน 8 ราย ภาพรวมการให้บริการวัคซีน (20 ก.พ.65) มีผู้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 2,071 โดส เข็มที่ 2 จำนวน 1,365 โดส เข็มที่ 3 จำนวน 12,681 โดส และเข็มที่ 4 จำนวน 3,027 โดส สำหรับจำนวนผู้ได้รับวัคซีนสะสม ในพื้นที่ กทม. หน่วยฉีดทุกสังกัด ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 64 – 20 ก.พ. 65 เข็มที่ 1 สะสม 9,498,913 คน คิดเป็นร้อยละ 119.80 เข็มที่ 2 สะสม 8,792,190 คน คิดเป็นร้อยละ 110.88 เข็มที่ 3 สะสม 4,495,551คน คิดเป็นร้อยละ 56.70 และเข็มที่ 4 สะสม 544,442 คน คิดเป็นร้อยละ 6.87 จากจำนวนเป้าหมาย 7,929,189 คน
เนื่องจากปัจจุบันมีแนวโน้มผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น จึงได้มอบนโยบายให้กรุงเทพมหานคร เตรียมพร้อมศักยภาพการขยายเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ให้ได้อีก 50% ของจำนวนที่มีอยู่เดิม และเพิ่มขีดความสามารถในการรับส่งผู้ป่วยของศูนย์เอราวัณ ไม่ให้มีผู้ป่วยตกค้างหรือตกหล่น
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร ได้มีนโยบายเตรียมพร้อมศักยภาพการขยายเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 หากมีแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น โดยผู้ติดเชื้อไม่มีอาการหรืออาการน้อย เป็นผู้ป่วยระดับสีเขียว จะเข้าระบบการดูแลที่บ้านหรือชุมชน (HI/CI First) ซึ่งในส่วนของผู้ติดเชื้อที่เข้าระบบการรักษาแบบ HI จะได้รับการดูแลจากศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง คลินิกอบอุ่น และโรงพยาบาลทุกสังกัด ปัจจุบันมียอดสะสม 55,539 ราย อยู่ระหว่างรักษา 22,623 ราย จำหน่ายสะสม 32,916 ราย จากสถิติผู้ป่วยที่อยู่ระหว่าง HI ยังไม่มีผู้เสียชีวิตแต่อย่างใด (ข้อมูล ณ วันที่ 21 ก.พ. 65 เวลา 14.00 น.) ซึ่งประชาชนมั่นใจได้ว่าหากติดเชื้อโควิด-19 และเข้าระบบการรักษาแบบ HI/CI ก็จะได้รับการรักษาตามมาตรฐานที่ดี โดยมีการติดตามประเมินอาการจากแพทย์ทุกวันจนกว่าจะหายเป็นปกติ
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้ 50 เขตเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ในกลุ่ม 608 และกลุ่มเด็กให้ได้ตามเป้าหมายและครอบคลุมมากที่สุด ซึ่งการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 สามารถลดการแพร่ระบาด ลดความรุนแรงของอาการ และลดการเสียชีวิตได้ รวมทั้งเน้นย้ำช่องทางการติดต่อ หากพบว่าตนเองติดเชื้อ โดยสามารถโทรแจ้งได้ที่สายด่วน สปสช. 1330 กด 14 สายด่วนศูนย์เอราวัณ 1669 กด 2 และศูนย์ EOC ของ 50 สำนักงานเขต ได้ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ได้เพิ่มช่องทางในการประสานเข้าระบบรักษาเพิ่มเติม ผ่าน เพจเฟซบุ๊ก “เทศกิจอาสา” สำหรับผู้ป่วยที่เข้าสู่ระบบได้ยากกว่าผู้ป่วยรายอื่น เช่น ผู้ป่วยเด็ก และคนท้องที่มีความเสี่ยง สามารถประสาน “เทศกิจอาสา” เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาให้เร็วที่สุด โดยสามารถติดต่อได้ผ่าน inbox เพจเฟซบุ๊ก “เทศกิจอาสา” ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่รับประสานเพื่อเข้าระบบการรักษา ผู้ป่วยเด็กจะประสานเข้าศูนย์พักคอยเด็ก รวมทั้งอำนวยความสะดวกด้านต่าง ๆ ต่อไป.-สำนักข่าวไทย