กรุงเทพฯ 30 ก.ย. – รมช.สาธารณสุข หารือกลุ่มพนักงาน ก.สาธารณสุข ที่ได้รับผลกระทบลดสัญญาจ้าง 4 ปี เหลือ 1 ปี เหตุเชื่อมโยงกับการขอกรอบอัตรากำลังใหม่ ได้ข้อสรุประยะเวลาจ้างงานไม่จำเป็นต้องสัมพันธ์กับกรอบอัตรากำลัง ให้รองปลัด สธ. แจ้งหน่วยงานและโรงพยาบาล จ้างคนทำงานเดิมด้วยสัญญา 4 ปี จ้างงานใหม่ 1 ปี
วันนี้ (30 กันยายน 2564) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมหารือร่วมกับกลุ่มพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ที่เดินทางมาเรียกร้องกรณีได้รับผลกระทบจากกรอบอัตรากำลังบุคลากรสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2565 ส่งผลต่อสัญญาการจ้างงานจากระยะเวลา 4 ปี ลดเหลือเพียง 1 ปี เนื่องจากระยะเวลาการจ้างงานต้องสอดคล้องกับระยะเวลาของกรอบอัตรากำลัง ทำให้ขาดความมั่นคงทางอาชีพ และลิดรอนสิทธิ เนื่องจากพนักงานกระทรวงสาธารณสุขที่ยังเหลือสัญญาจ้าง 1-3 ปี ต้องทำสัญญาจ้างใหม่เป็น 1 ปีด้วยนั้น
ดร.สาธิต ให้สัมภาษณ์ภายหลังการหารือร่วมกันว่า วันนี้ได้รับมอบหมายจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้มารับข้อมูล จากการหารือพบว่ามีการปรับสัญญาจ้างพนักงานกระทรวงสาธารณสุข จาก 4 ปี เหลือ 1 ปี เนื่องจากนำไปผูกโยงกับกรอบอัตรากำลังปี 2565 ที่จะมีการขออัตรากำลังเพิ่ม ซึ่ง นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้พิจารณาแล้วว่า เรื่องสัญญาจ้างและกรอบอัตรากำลังที่จะเสนอกระทรวงการคลัง อาจจะไม่ต้องใช้ในการพิจารณาร่วมกัน เนื่องจากหากมีการปรับสัญญาจ้างเพื่อขออัตราเพิ่ม อาจจะกระทบและลิดรอนสิทธิพนักงานกระทรวงสาธารณสุขเดิมที่มีการจ้างงานแตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา อาจเกิดผลกระทบกับอายุงานและความมั่นคง
ดร.สาธิต กล่าวต่อว่า ในที่ประชุมเห็นตรงกันว่า พนักงานกระทรวงสาธารณสุขที่มีการจ้างงานอยู่เดิม หากสัญญายังเหลืออยู่ก็ให้ใช้สัญญาเดิมต่อไป ส่วนที่หมดสัญญาวันที่ 30 กันยายนนี้ ก็ให้ต่อสัญญาจ้างอีก 4 ปีตามเดิม ส่วนการจ้างงานคนใหม่ให้จ้างตามกรอบอัตรากำลัง 1 ปี และเมื่อจัดทำกรอบอัตรากำลังปี 2566-2568 แล้วเสร็จ ก็ให้กลับมาทำสัญญา 4 ปี ทั้งนี้ ได้มอบให้ นพ.สุระ ที่รับผิดชอบในการดูแลด้านกำลังคนของกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการทำหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานและโรงพยาบาลต่างๆ ที่จะต้องแก้ไขประกาศเดิม เพื่อให้ปฏิบัติตามมติที่มีในวันนี้
“ยืนยันว่า ไม่ใช่ว่าเดินทางมาเรียกร้องแล้วถึงได้รับการช่วยเหลือตามที่ต้องการ แต่เราพิจารณาตามหลักเหตุและผล กฎระเบียบที่ต้องปฏิบัติ สิ่งใดทำได้หรือไม่ได้ ซึ่งกรณีมีข้อมูลและเหตุผลที่เสนอมาชัดเจน และพิจารณาจากระเบียบแล้วเห็นว่าไม่ควรนำสัญญาจ้างมาเชื่อมโยงกับการขอกรอบอัตรากำลัง จึงได้ข้อสรุปดังกล่าว” ดร.สาธิต กล่าว. – สำนักข่าวไทย