สำนักข่าวไทย 6 ส.ค.-จิตแพทย์ ชี้ไบโพลาร์รักษายากกว่าซึมเศร้า หากช่วงเวลาเกิดขั้วอารมณ์ที่รุนแรง มั่นใจตัวเองสูง หากมีการทะเลาะวิวาท ผู้ชายเสี่ยงทำร้ายคนอื่น แต่หากเป็นหญิงก็เสี่ยงทั้งกระทำคนอื่น และถูกกระทำรุนแรง เพราะอารมณ์ช่วงนี้จะไม่รับฟังคนอื่น ส่วนพฤติกรรมทำร้ายมากถึง 20 แผล ปัดวิเคราะห์ ปล่อยเป็นหน้าที่ตำรวจ
นพ.ธรณินทร์ กองสุข ผู้อำนวยการสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กล่าวถึงกรณีเหตุสลดคู่รักทะเลาะวิวาทและแทงแฟนสาวป่วยไบโพลาร์ถึง 20 แผล และเสียชีวิต ว่า โรคไบโพลาร์เป็นโรคอารมณ์ 2 ขั้วที่มีทั้งซึมเศร้า และ แมนเนียร์ อารมณ์พลุ่งพล่านคึกคัก รุนแรง ทั้งดีใจขั้นสุดยอด โกรธรุนแรง มีความมั่นใจในตัวเองสูง ใครพูดอะไรไม่ฟัง ต่างกันกับโรคซึมเศร้าที่จะมีอาการซึมเศร้าหดหู่อย่างเดียว ปัจจุบันไทยพบว่าคนซึมเศร้ามากกว่าไบโพลาร์
จากการศึกษาติดตามตัวเลขผู้ป่วยเมื่อ 5-6 ปี ทีผ่านมา พบว่ามีผู้ป่วยซึมเศร้า ประมาณ 1 ล้านคน ส่วนไบโพลาร์พบได้น้อยกว่า มีเฉลี่ย100,000 คน ทั้งนี้ โรคไบโพลาร์จะมีอาการสลับเป็นช่วงๆ บางคนมีภาวะอารมณ์ที่เป็นแมนเนียร์ เฉลี่ยปีละ 6-7 ครั้ง แต่ละช่วงเวลาไม่เท่ากัน บางครั้งมีภาวะแมนเนียร์นานถึง 1-3 เดือน และมีช่วงเวลาซึมเศร้า 1-2 เดือน ช่วงเวลาที่ภาวะทางอารมณ์ แต่ละขั้วแสดงอาการก็แตกต่างกัน โดยช่วงซึมเศร้า หดหู่ อาจคิดฆ่าตัวตาย ส่วนช่วงแมนเนียร์ มั่นใจในตัวเองสูง ร่าเริง ไม่หลับไม่นอน นอนน้อยแต่ก็สดชื่น และ ความมั่นใจในตัวเอง ส่วนนี้เมื่อมีการทะเลาะวิวาท จะเป็นคนไม่ยอมคน และเสี่ยงที่จะใช้ความรุนแรง
นพ.ธรณินทร์ กล่าวว่า ถ้าคนเป็นไบโพลาร์เป็นผู้ชาย ช่วงอารมณ์แมนเนียร์ เสี่ยงทะเลาะวิวาทและทำร้ายผู้อื่น แต่หากเป็นผู้หญิง ด้วยสรีระก็มีความเสี่ยงที่จะทั้งทำร้ายคนอื่น และถูกคนอื่นทำร้ายได้ง่าย เพราะอารมณ์ที่สุดขั้วรุนแรง ทำให้ไม่ยอมคนหรือฟังใครง่ายๆ ดังนั้น คนที่ใกล้ชิดต้องเข้าใจ และโอนอ่อน เพื่อให้ภาวะอารมณ์รุนแรงนั้นคลี่คลาย หากรู้ว่า ผู้ป่วยมีการแสดงอาการในช่วงนั้น ส่วนการรักษาในคนป่วยซึมเศร้า เป็นการแสดงอาการซึมเศร้าหดหู่แบบเพียวๆ เกิดจากสารสื่อประสาทในสมอง แพทย์จะจ่ายยาต้านซึมเศร้าเพื่อบรรเทาอาการ ส่วนคนเป็นไบโพลาร์ก็มีการจ่ายยาเช่นกัน เพราะเกิดความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง แต่รักษายากกว่า
ทั้งนี้ สำหรับโรคนี้ในคนทั่วไป หากเป็นคนช่างสังเกต สามารถสังเกตได้ถึงความผิดปกติของคนใกล้ชิด ว่ามีอาการของโรคไบโพลาร์หรือไม่ โดยดูจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ในช่วงเป็นแมนเนียร์ จะทำอะไรผิดปกติ กว่าที่เคยทำ แสดงออกอย่างมั่นใจในตัวเอง หลุดจากความจริง เช่น พูดเก่งกว่าปกติ แต่งตัวสีสันสดใส มั่นใจในตัวเอง มีความจริงจัง มีไอเดียเยอะ ไม่ฟังความเห็นใคร จากปกติที่อาจเคยพูดน้อย ทั้งนี้หากพบคนที่มีอาการ ควรหยุดโต้เถียงด้วย
นพ.ธรณินทร์ กล่าวว่า ในภาวะโควิด โรคทางจิตเวช หากได้รับยาอย่างสม่ำเสมอไม่มีอะไรน่ากังวล มีเพียงบางโรค ที่เสี่ยงได้รับความกระทบกระเทือน จากภาวะความเครียดของจิตใจ เช่น ถ้าเกิดตกงาน หรือเกิดป่วยเป็นโควิด ก็อาจทำให้เกิดความเครียดกังวลขึ้นได้ ส่วนกรณีการทำร้ายร่างกายแทงถึง 20 แผล ในลักษณะนี้ไม่สามารถประเมินหรือวิเคราะห์ได้ เนื่องจากเป็นเรื่องทางคดีและต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ .-สำนักข่าวไทย