กรุงเทพฯ 22 พ.ค.-องค์การเภสัชกรรม (จีพีโอ) เผยวัคซีนทางเลือกอยู่ในขั้นตอนสมาคมโรงพยาบาลเอกชนรวบรวมจำนวนความต้องการเบื้องต้น และยืนยันผู้ผลิตวัคซีนเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขให้ภาครัฐเป็นผู้จัดซื้อวัคซีนทางเลือก
ภญ. ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ตามที่มีสื่อสังคมออนไลน์นำเสนอข่าว ข้อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งนำเข้าวัคซีนทางเลือกเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่า วัคซีนทางเลือกเป็นวัคซีนที่นอกเหนือจากวัคซีนที่อยู่ในแผนการจัดซื้อของรัฐบาลที่ต้องการให้มีการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ซึ่งประชาชนสามารถได้รับการฉีดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วนวัคซีนทางเลือกนั้น องค์การเภสัชกรรมได้ร่วมมือกับโรงพยายาลเอกชน โดยสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการฉีดวัคซีนโควิด 19 ที่หลากหลายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งวัคซีนยี่ห้อที่จะจัดหามาในช่วงแรกนี้คือโมเดอร์นา ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนไปเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมาซึ่งยังต้องมีรายละเอียดในการดำเนินการจัดหาอีกหลายขั้นตอน และอยู่ในระหว่างที่สมาคมโรงพยาบาลเอกชนรวบรวมจำนวนความต้องการเบื้องต้นก่อนดำเนินการในขั้นตอนต่อไป โดยการฉีดวัคซีนทางเลือกนี้ผู้รับบริการจะเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายค่าใช้จ่ายให้แก่โรงพยาบาลเอกชนเอง
รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมกล่าวต่อไปว่า การจัดซื้อวัคซีนทางเลือกนั้น มีเงื่อนไขการขายของผู้ผลิตวัคซีนในต่างประเทศเองที่ต้องการให้หน่วยงานภาครัฐของประเทศผู้ซื้อวัคซีน เป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อและบริหารจัดการตามแนวทางของการขึ้นทะเบียนแบบมีเงื่อนไขในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ Conditional Approval for Emergency Use ซึ่งในส่วนวัคซีนของบริษัทโมเดอร์นานี้ ผู้ผลิตต้องการให้ภาครัฐเป็นผู้ดำเนินการ องค์การเภสัชกรรมจึงเข้ามาร่วมดำเนินการ ส่วนยี่ห้ออื่นนั้นขึ้นกับอยู่เงื่อนไขการขายของผู้ผลิตว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ผลิตจะให้หน่วยงานรัฐเป็นผู้ดำเนินการเช่นกัน ไม่ได้มีการปิดกั้นช่องทางการนำเข้าวัคซีนทางเลือกผ่านโรงพยาบาลเอกชน หรือภาคเอกชนอื่นๆ แต่อย่างใด ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ซึ่งขึ้นอยู่กับรายการกิจกรรมต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการดำเนินงานของแต่ละยี่ห้อ อาทิ ค่าจัดส่ง ค่าคลังจัดเก็บ ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ และอื่นๆ นอกจากนั้นจะเป็นค่าบริหารจัดการของแต่ละโรงพยาบาลเอง ซึ่งจะมีการกำหนดราคาควบคุมที่เป็นมาตรฐาน ในระดับที่สมเหตุสมผล ส่วนเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น ก็เป็นไปตามกลไกของระบบภาษีของประเทศ ไม่ได้มีการคิดซ้ำซ้อน ซึ่งรายละเอียดที่ถูกต้องนั้น กรมสรรพากรได้ออกมาชี้แจงแล้ว ท้ายสุดนี้ ในเรื่องปริมาณที่จะสั่งซื้อนั้น สมาคมโรงพยาบาลเอกชน ได้คาดการณ์ว่าในเบื้องต้นนี้จะมีการสั่งซื้อประมาณจำนวน 5 ล้านโดส ขณะนี้อยู่ในระหว่างการทบทวนร่วมกันกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชนอีกครั้ง .-สำนักข่าวไทย