สธ.5 เม.ย.-“หมอยง” ชวนคนไทยเร่งฉีดวัคซีน สร้างภูมิคุ้มกันกลุ่ม ยกอังกฤษ ฉีดเร็ว ทำให้ผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตลดอย่างเห็นได้ชัด ชี้ทั่วโลก แม้ฉีดวัคซีนแล้ว แต่สถานการณ์ยังระบาด เพราะสายพันธุ์อังกฤษ แพร่เร็ว ติดต่อง่าย
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงเชิญชวนประชาชนร่วมฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้โรคนี้สงบลง ว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยโควิด-19 มากกว่า 120 ล้านคน เสียชีวิต 2.7-2.8 ล้านคนทั่วโลก ถือเป็นวิกฤติสำคัญในรอบร้อยปี ซึ่งเดิมจำนวนผู้ป่วยต่อสัปดาห์เพิ่มขึ้นตลอด แต่เมื่อมีวัคซีนมากขึ้น ก็มีแนวโน้มผู้ป่วยลดลง แต่เนื่องจากมีการระบาดหนักด้วยสายพันธุ์อังกฤษ ที่แพร่เร็ว ติดต่อง่ายไปเร็วกว่าการเร่งฉีดวัคซีน มีการระบาดเข้าสู่อเมริกา และยุโรปอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ป่วยต่อวันกลับมาเพิ่มขึ้นอีก ทำให้หลายประเทศต้องล็อคดาวน์ทั้งฝรั่งเศส และเยอรมัน รวมทั้งประเทศไทยก็มีการระบาดในคลัสเตอร์ใหม่ ทั้งสถานบันเทิงและเรือนจำ
นพ.ยง กล่าวอีกว่า การจะให้โรคสงบต้องมีการฉีดวัคซีนในประชากรทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านคน จาก 7 พันล้านคน หรือ 1 หมื่นล้านโดส แต่ขณะนี้ทั่วโลกมีการให้วัคซีนไป 650 ล้านโดส เท่ากับ 6.5 เปอร์เซนต์ของประชากรโลก ถ้าฉีดวันละ 15 ล้านโดส ต้องใช้เวลาถึง 2 ปีจึงจะคุมโรคให้ยุติได้ ต้องเร่งวันละ 30 ล้านโดสซึ่งจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 ปีถึงจะบรรลุเป้าหมาย ส่วนไทยถ้าจะให้โรคทุเลา ประชาชนต้องได้ภูมิป้องกันโรคจากวัคซีนให้มากที่สุด
ขณะนี้อิสราเอลฉีดวัคซีนต่อประชากรสูงที่สุด รองลงมาคืสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งจะเห็นผลของการให้วัคซีนหมู่มาก ในอิสราเอล ทำให้ อัตราตายลดลงมาก และขณะนี้ อิสราเอลการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมกลุ่มประชากรวัยต่างๆให้มากขึ้น ซึ่งเมื่อมีการฉีดวัคซีนเข็มสอง ทำให้ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นมากและลดอัตราเสียชีวิตในอิสราเอลเหลือแค่หลักสิบถึงหลักหน่วยเท่านั้น ดังนั้น หากอยากให้โรคสงบลงคนไทยต้องรับวัคซีนเร็วที่สุดเพื่อจะเปิดประเทศไทยได้
นพ.ยง ยังได้เปรียบเทียบการให้วัคซีนป้องกันโควิดในอังกฤษกับฝรั่งเศส เยอรมัน ว่าอังกฤษฉีดต่อเนื่องทำให้ผู้ป่วยลดอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ ฝรั่งเศส เยอรมันรีรอ จึงมีอัตราป่วยและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นระลอกใหม่
ส่วนในกลุ่มประเทศเอเชีย สิงคโปร์มีการฉีดวัคซีนโควิดมากสุด ไทยเพิ่งเริ่มไต่ขึ้น จึงอยากเชิญชวนให้ประชาชนร่วมฉีดให้ถึงเป้าหมายภายในปลายปีนี้
ทั้งนี้ เรื่องกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงหรืออาการแทรกซ้อนของวัคซีน หากเทียบกับผลข้างเคียงวัคซีนไข้หวัดใหญ่แล้ว มีความเสี่ยงที่ 1 ใน 5 แสนโดสเช่นกัน จึงอยากย้ำว่าหากชั่งน้ำหนักระหว่างความเสี่ยงของวัคซีน จะเห็นว่า ประโยชน์ยังมีมากกว่า มาก
นพ.ยง กล่าวอีกว่า ปัจจุบันทั่วโลก เริ่มมีข้อมูลการฉีดวัคซีนในกลุ่ม 12-18 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มแพร่โรคง่ายแต่ไม่มีอาการ และจะมีการใช้วัคซีนในกลุ่ม6-12 ปี และกลุ่มสุดท้ายต่ำกว่า 6 ปีลงไป นอกจากนี้ มีการศึกษาว่าการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน เกือบทั้งหมดเกิดในผู้หญิง อายุน้อยกว่า 55 ปี วัยฮอร์โมนสูง ในอนาคตจะพิจารณาว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มเสี่ยงอาจต้องดูวิธีหลีกเลี่ยง ต้องรอการพิสูจน์ก่อนว่าเกี่ยวข้องหรือไม่ มีปัจจัยอะไร หลีกเลี่ยงได้หรือไม่
“วัคซีนผ่านการวิจัยระยะ 1 2 3 ขอให้มั่นใจว่าคนไทยไม่ใช่ประชากรกลุ่มแรกที่ฉีด วัคซีนที่เอามาใช้ในไทย ใกล้ร้อยล้านโดส หลายสิบล้านโดสแอสตราเซเนกาก็ขึ้นทะเบียนแล้ว ทั่วโลกมากกว่า 60 ประเทศ ลักษณะวัคซีนเหมือนที่เคยใช้ในอีโบลา ขอให้สบายใจได้” นพ.ยง กล่าว และว่า ต่อไปเด็กต่ำกว่า 18 ปี ต้องฉีด เพราะคงไม่อยากให้อยู่ในสภาพการเรียนแบบปัจจุบัน เรียนออนไลน์หรือครูตู้ เด็กเป็นกลุ่มแพร่กระจายเป็นแล้วอาการไม่มาก ถ้าไม่ฉีดเด็กก็ได้ แต่ผู้ใหญ่ต้องฉีดให้ครบ ภูมิคุ้มกันกลุ่มจะเกิดไม่ได้ ถ้าไม่ครบทุกกลุ่ม บ้านเรายังต้องเร่งฉีดโดยเฉพาะในวัยสูงอายุ .-สำนักข่าวไทย