ยธ.27ม.ค.-ปลัด ยธ.แจงโครงการราชทัณฑ์ปันสุขเป็นโครงการพระราชทานความช่วยเหลือ ไม่ได้ใช้งบของราชการ ปี 63 พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ 190ล้าน ปี64 อีก 118ล้านเพื่อให้ผู้ต้องขังมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดทำกระทำผิดซ้ำ
นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม แถลงข่าวกรณีมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับโครงการราชทัณฑ์ปันสุข จนอาจนำไปสู่ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของประชาชน โดยชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องว่า โครงการ “ราชทัณฑ์ปันสุข ทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์” เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิรลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า โรงพยาบาลราชทัณฑ์เป็นโรงพยาบาลแห่งเดียวในสังกัดกระทรวงยุติธรรมต้องให้บริการแก่ผู้ต้องขัง ในกรณีเจ็บป้วยเป็นจำนวนมาก ยังขาดแคลนบุคลากร เครื่องมือแพทย์ และเวชภัณฑ์ การดูแลสุขภาพของผู้ต้องขัง ซึ่งถือเป็นหน้าที่สำคัญของกรมราชทัณฑ์ ในการที่จะให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรับการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียมตามหลักมนุษยธรรม
ทั้งนี้ เมื่อพันโทษจะได้มีสุขภาพสมบูรณ์ทั้งกายและใจ ออกมาสู่สังคมภายนอก และประกอบอาชีพสุจริตได้อย่างมีคุณภาพ โดยจะพระราชทานความช่วยเหลือในเรื่องการจัดหาอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ ตลอดจนการให้จิตอาสาพระราชทาน เข้าไปมีบทบาทในการช่วยเหลือทั้งด้านการแพทย์ การพยาบาล การอบรมให้ความรู้ในเรื่องต่างๆ
นอกจากนี้ผู้ต้องขังที่กรมราชทัณฑ์ต้องดูแลในปัจจุบันมีจำนวนมาก ประกอบกับข้อจำกัดด้านงบประมาณ บุคลากร เครื่องมือแพทย์ และเวชภัณฑ์ที่ไม่สอดคล้องกับจำนวนผู้ต้องขังที่แออัดส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดูแลสุขภาพอนามัยทั้งร่างกายและจิตใจของผู้ต้องขังและส่งผลต่อประชาชนภายนอกด้วย เช่นกรณีผู้ต้องขังป่วยเป็นวัณโรค โครงการ ราชทัณฑ์ปันสุขฯจึงเป็นโครงการพระราชทานความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ โดยพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ในการจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ไว้ใช้ทั้งในเรือนจำและโรงพยาบาลภายนอก ซึ่งได้พระราชทานมาตั้งแต่ปี 2563จำนวน 190,072,863 บาท และในปี 2564 นี้อีก จำนวน 118,547,200 บาท
ปลัด ยธ.กล่าวอีกว่า ครุภัณฑ์ที่โรงพยบาลภายนอกได้รับจะเป็นประโยชน์กับประชาชนทั่วไปด้วย พร้อมยืนยันโครงการพระราชทานนี้ สอดคล้องตามหลักสากล หลักสิทธิมนุษยชน หลักมนุษยธรรม และมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นปฏิญญากรุงเทพ และข้อกำหนดแมนเดลา และไม่ได้ใช้
งบประมาณของทางราชการแต่อย่างใด
เมื่อเป็นโครงการพระราชทานความช่วยเหลือ การตั้งคณะกรรมการ ไม่ใช่การบริหารราชการแผ่นดิน ไม่จำเป็นต้องอาศัยข้อกฏหมาย และคณะกรรมการไม่มีกรอบระยะเวลาไม่มีอำนาจสั่งการใด แต่มีหน้าที่เพียงให้ข้อมูลว่าจุดใดต้องการความช่วยเหลือเพื่อให้ความช่วยเหลือเข้าถึงตรงจุด และเมื่อผู้ต้องขังมีคุณภาพชีวิตที่ดี พัฒนาพฤตินิสัยที่ดีขึ้นก็มีผลในการลดการกระทำผิดซ้ำได้ ที่ผ่านมาโครงการลักษณะนี้มีมาแล้วหลายโครงการ อาทิ โครงการห้องสมุดพร้อมปัญญา ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อให้ผู้ต้องขังได้อ่านหนังสือมากขึ้น และ โครงการกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และอีกหลายโครงการตั้งแต่รัชสมัยของรัชกาลที่9
สำหรับรายชื่อคณะกรรมการมาอย่างไร ปลัดยธ.กล่าวว่า ยธ.เป็นหน่วยรับการช่วยเหลือจึง ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้เสนอแต่งตั้ง แต่เมื่ได้รับการแต่งตั้งก็ดำเนินการช่วยเหลือให้เข้าถึงผู้ต้องขัง -สำนักข่าวไทย