สธ. 15 ม.ค.- สธ.ประชุมนัดแรกบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 เห็นชอบตั้งคณะกรรมการ 6 ชุด ดูแลติดตาม ครอบคลุมอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีน ย้ำฉีดในกลุ่มเสี่ยงด้วยความสมัครใจ เพื่อป้องกันโรค ได้แก่ บุคลากรแพทย์ คนทำงานหน้าด่านในการป้องกันและควบคุมโรค ผู้มีโรคประจำตัว และผู้สูงอายุ ไม่ฉีดในคนอายุต่ำกว่า 18 ปี และหญิงตั้งครรภ์

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค และกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นที่ปรึกษาสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 แถลงผลการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ที่ประชุมนัดแรก ครั้งที่ 1/2564 ว่า วันนี้ ที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบเรื่องการจัดตั้งคณะทำงาน 6 ด้าน ขึ้นมาดูแลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้แก่
1. คณะที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และแผนงาน
2. คณะทำงานด้านการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และสื่อสารประชาสัมพันธ์
3. คณะทำงานด้านการให้บริการวัคซีน ฝึกอบรม และกำกับติดตามผล
4. คณะทำงานด้านการประกันคุณภาพวัคซีนและติดตามอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับ
5. คณะทำงานด้านระบบข้อมูลการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
และ 6. คณะทำงานด้านวิชาการ เนื่องจากวัคซีนนี้เป็นของใหม่ ยังขาดความรู้ จำเป็นต้องมีคณะทำงานขึ้นมาศึกษาและติดตาม เพื่อให้เหมาะสมกับการรับวัคซีนโควิด-19 ที่ตอนแรกมีอย่างจำกัด และจะเริ่มฉีดในเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม และเมษายน จากนั้นจะมีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม
นพ.โอภาส กล่าวว่า การฉีดวัคซีนนี้จะทำให้กลุ่มเสี่ยงตามแผนเดิมที่ทางคณะกรรมการโรคติดต่อฯ กำหนดไว้ บุคลากรการแพทย์ คนทำงานหน้าด่านในการป้องกันและควบคุมโรค ผู้มีโรคประจำตัว และผู้สูงอายุ ซึ่งจะต้องเป็นการรับวัคซีนด้วยความสมัครใจ และมีการติดตามอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้น โดยหากพบว่ามีอาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นในระดับรุนแรง ก็จะมีการยกเลิกการฉีดวัคซีนในลอตนั้นทันที จากนั้นจะมีการติดตามสอบสวนโรค พร้อมเยียวยาปัญหาที่เกิดขึ้น คล้ายกับกลไกการเยียวยาใน สปสช. แต่จะต้องมีการหารือในรายละเอียดอีกครั้ง พร้อมกล่าวว่า การฉีดวัคซีนโควิดนี้จะไม่ทำในคนอายุต่ำกว่า 18 ปี รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ เพราะวัคซีนมีการศึกษาและทดลองในผู้ใหญ่เท่านั้น

นพ.ทวี กล่าวว่า สำหรับนิยามคำว่า กลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับวัคซีน จะมี 2 ส่วน คือ เสี่ยงเป็นกับเสี่ยงตาย โดยเสี่ยงเป็น หมายถึง หนุ่มสาวที่ไม่มีโรคประจำตัว แต่อาจติดเชื้อได้ ส่วนเสี่ยงตาย ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ซึ่งการที่ต้องมีการฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยงตาย เพราะเมื่อมีอาการเจ็บป่วยแล้ว จะมีอาการรุนแรง รัฐต้องใช้ทรัพยากรมหาศาลและค่าใช้จ่ายสูง หาก 1 คน ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ จะต้องมีค่าใช้จ่าย 1 ล้านบาท และใช้บุคลากรในการดูแลไม่ต่ำกว่า 20 คน ดังนั้น คนที่มีโรคประจำตัวมาก จำเป็นต้องรับวัคซีน เพื่อป้องกันความรุนแรงจากโรค
ศ.นพ.ยง กล่าวว่า การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรค ลดการติดเชื้อ และป้องกันไม่ให้เกิดอาการรุนแรง แต่ละวัคซีนในขณะนี้ สามารถเกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้ เบื้องต้นคนที่ได้รับวัคซีนจะต้องมีอาการเจ็บเฉพาะจุดแน่นอน จากต้นแขนที่ได้รับวัคซีน ส่วนอาการไม่พึงประสงค์ก็แตกต่างกัน ที่มีรายงานและเป็นข่าว อย่าง แอสตราเซเนกา มีภาวะไขสันหลังอักเสบเกิดขึ้น, โมเดิร์นนา ทำให้ปากเบี้ยว ส่วน ไฟเซอร์ ผลข้างเคียงมีตั้งแต่เป็นไข้ มีอาการแพ้รุนแรง ที่แคนาดามีฉีดวัคซีนไปแล้ว การแพ้ยา หรือส่วนประกอบ อาจเกิดขึ้นได้ 9 ในล้านคน เป็นต้น ซึ่งทุกอย่างต้องมีการตรวจสอบและสอบสวนโรค เพราะอาการไขสันหลังอักเสบ สามารถเกิดขึ้นในคนธรรมดา อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นวัคซีนใหม่ ต้องมีการติดตามอาการอย่างน้อย 2 ปี.-สำนักข่าวไทย