กทม. 10 ธ.ค. – บรรยากาศบริเวณกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เครือข่ายคนพิการเข้ามาจัดกิจกรรมเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมในสังคม เนื่องในวันสิทธิมนุษยชน มีแกนนำกลุ่มราษฎรร่วมชุมนุม
นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน กล่าวถึงการมาร่วมชุมนุมในวันนี้ว่า เพื่อสะท้อนปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ไม่ได้ให้สิทธิกับผู้พิการอย่างทั่วถึง และความเข้าใจไม่ตรงกันระหว่างรัฐกับผู้พิการ แม้จะมีความบกพร่องทางร่างกาย แต่ผู้พิการทุกคนก็ต้องการใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี แต่การจะใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีได้อย่างไรนั้น รัฐบาลต้องทำให้ผู้พิการได้มีชีวิตที่ดีและมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับผู้อื่น ทำให้เกิดความเท่าเทียม เข้าถึงสิทธิต่างๆ พร้อมย้ำว่าการมาชุมนุมเรียกร้องวันนี้ไม่ได้มาเพราะความสงสาร แต่อยากเห็นผู้พิการมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ปัจจุบันการออกแบบสังคมไม่ได้เอื้ออำนวยให้กับผู้พิการ ดังนั้น การมีรัฐธรรมนูญที่ดีจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่และมีศักดิ์ศรีความเท่าเทียม หากวันนี้จะให้การรับรองสิทธิผู้พิการเราต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญ และต้องร่วมกันแก้รัฐธรรมนูญ การมาในวันนี้เหมือนมาช่วย เพราะคิดว่าเป็นประเด็นสำคัญ พร้อมทั้งเห็นว่าประเด็นต่างๆ ในสังคมไทยเหล่านี้เป็นเรื่องของความยุติธรรม เพราะรัฐผลักคนที่มีความบกพร่องทางร่างกายออกไปจากการมีส่วนร่วมทางการเมือง
ทั้งนี้ วันนี้เป็นวันสิทธิมนุษยชนสากลด้วย หากมองในมุมมองสากลจะเห็นว่าได้รองรับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่ทุกประเทศให้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกทางการเมือง ปกป้อง คุ้มครอง และรับรอง ไม่มีประเทศไหนที่ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพเหมือนประเทศไทย พร้อมทั้งมองว่าสิทธิการแสดงความคิดเห็นถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน รวมถึงสิทธิด้านอื่นๆ ด้วย วันนี้การที่กลุ่มเครือข่ายผู้พิการออกมาชุมนุมเป็นการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งกฎหมาย เพราะอยากเห็นรัฐธรรมนูญที่ทุกภาคส่วนได้มาร่วมกันร่าง
ส่วนจะมีการปราศรัยประเด็นยกเลิกมาตรา 112 หรือไม่นั้น ไผ่ ดาวดิน ระบุว่า จะมีการพูดถึงการยกเลิกมาตรา 112 อยู่แล้ว เพราะเป็นเรื่องที่ต้องพูดทุกการชุมนุม เนื่องจากเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม
ด้านน้ำพุ คนพิการปลดแอก กล่าวเรียกร้องขอสวัสดิการ 6 ข้อ ประกอบด้วย 1.เรียนฟรีถึงปริญญาตรีทุกคน 2.ให้นำข้อ 1 บรรจุในรัฐธรรมนูญ หมวดคนพิการ 3.รถเข็นและอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้พิการต้องมีรองรับทุกคน 4.ถนนสาธารณะและทางสาธารณะผู้พิการต้องใช้เดินทางได้สะดวกเช่นคนปกติ 5.รัฐต้องจัดเตรียมสถานประกอบอาชีพให้คนพิการ และ 6.ตลาดนัดเอกชนต้องมีพื้นที่ให้คนพิการประกอบอาชีพ โดยเก็บค่าเช่าครึ่งเดียวกับคนปกติ
นายน้ำพุยังกล่าวอีกว่า ตนเป็นผู้พิการขั้นรุนแรง ได้รับสวัสดิการจากรัฐเป็นเงินเบี้ยพิการเพียง 800 บาทต่อเดือน ซึ่งไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย แต่สำหรับตนถือว่ายังโชคดีกว่าผู้พิการคนอื่น เพราะยังมีบริษัทเอกชนให้งานทำ มีรายได้อีกเดือนละ 9,000 บาท แต่คนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ไม่เพียงพอ ค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนจึงสูงมาก อยากของบประมาณเรื่องสวัสดิการคนพิการเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตได้สะดวกมากขึ้น และให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน.-สำนักข่าวไทย