กรุงเทพฯ 30พ.ย.-ผอ.สถาบันโรคทรวงอกชี้โรคหัวใจกำเริบเฉียบพลัน แม้ไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า แต่ทุกคนสามารถเฝ้าระวัง โดยเฉพาะเมื่อเวลาออกกำลังกายหายใจไม่อิ่มแน่นหน้าอก
นพ.เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ ให้สัมภาษณ์ว่า โรคหัวใจกำเริบเฉียบพลัน หรือ heart attack เป็นคำเรียก แสดงอาการของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด พบได้ทุกช่วงวัยโดยมากในผู้มีอายุ 40 ปีขึ้นไป สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกขณะในเวลาพักนอนหลับหรือออกกำลังกาย แต่การพบเห็นภาวะนี้ในขณะออกกำลังกายเป็นส่วนมาก เนื่องจากเมื่อออกกำลังกายจะเกิดความเครียดจะเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดการปริแตกของผนังด้านในของหลอดเลือดหรือพลาค(plaque)หรือตะกรันในหลอดเลือดมีการปริแตก แล้วทำให้มีเม็ดเลือดหรือเกล็ดเลือดมาจับกันเป็นก้อน แล้วมาอุดตันเส้นเลือดหรือจุดที่อุดตันนั้น อาจมีรอยโรคเดิมอยู่ ซึ่งคนไข้ส่วนใหญ่จะไม่เคยสังเกตหรือรู้ว่าตนเองมีรอยโรคอยู่เพราะไม่มีอาการใดๆ เนื่องจากเกิดด้านในของผนังหลอดเลือด ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจส่วนที่หลอดเลือดเส้นนั้นไปเลี้ยง เกิดอาการ ขาดเลือดเฉียบพลัน
สำหรับอาการเตือนเบื้องต้นอาจอึดอัดแน่นหน้าอก ปวดร้าวไปถึงบริเวณกรามและไหล่ในบางคนอาจมีอาการวิงเวียนและคลื่นไส้ เป็นลมเหงื่อแตก ซึ่งบางคนหากวิ่งอยู่แล้วเกิดอาการเช่นนี้อาจคิดว่าเป็นอาการเหนื่อย แต่เป็นอาการเตือนของหัวใจกำเริบเฉียบพลันก็ไม่ควรฝืน
คำถามที่ว่าเมื่อวอร์มร่างกายก่อนวิ่งแล้ว แต่ยังสามารถเกิดอาการหัวใจกำเริบเฉียบพลันได้ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ผอ.สถาบันโรคทรวงอก กล่าวว่ายังไม่มีใครทราบสาเหตุที่แน่ชัดเพราะไม่ว่าจะออกกำลังกายหนักหรือ เบาก็อาจเกิดอาการนี้ได้ทั้งนั้น
นอกจากนี้ยังกล่าวต่อว่าบางคนอาจเพิ่งอิ่มจากมื้ออาหารหรือนอนพักก็เกิดอาการจุกเสียดแน่น บางคนวิงเวียนศีรษะขอไปนอนพักและเกิดอาการวูบไป กลายเป็นโรคหัวใจขาดเลือดก็มี อย่างไรก็ตามหากมีอาการหายใจไม่อิ่มและหายใจแล้วเจ็บหน้าอก ควรตั้งข้อสังเกตว่าเข้าข่ายโรคหัวใจกำเริบเฉียบพลัน รีบไปพบแพทย์ทันที
โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดยังมีแบบเรื้อรัง กล้ามเนื้อหัวใจมีการอุดตันอยู่บางจุดแล้ว ส่วนใหญ่คนไข้จะไปพบแพทย์ มีการสวนหัวใจและกินยาอยู่แล้ว คนที่มีอาการเหล่านี้จะไม่ออกแรงมาก แตกต่างจากคนที่เป็นกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและเข้าสู่ภาวะหัวใจกำเริบเฉียบพลันที่จะไม่รู้ตัวมาก่อน เกิดแบบกระทันหันไม่รู้ตัวคาดเดาไม่ได้
ส่วนวิธีหลีกเลี่ยงป้องกันไม่ให้เกิดโรคหัวใจกำเริบเฉียบพลันไม่มีวิธีที่แน่ชัด แม้ข้อมูลจะบอกว่า เบาหวาน ความดัน จะเป็นตัวเสี่ยงให้เกิด กล้ามเนื้อหัวใจตีบแต่ในปัจจุบันเราก็ยังเจอคนเป็นโรคนี้โดยไม่มีภาวะเสี่ยงเหล่านั้น มาก่อนเลย หรือบางคนเป็นนักกีฬานักวิ่งมาราธอนก็อาจเกิดโรคนี้ได้
ข้อแนะนำสำหรับผู้จะไปออกกำลังกายหรือวิ่งมาราธอนควรตรวจร่างกายให้อยู่ในสภาพที่พร้อม ส่วนผู้จัดกิจกรรมการวิ่งต้องเตรียมทีมกู้ภัยกู้ชีพฉุกเฉินสามารถส่งผู้ป่วยที่โรงพยาบาลได้อย่างรวดเร็วให้พร้อม
ผอ.สถาบันโรคทรวงออก ยังกล่าวว่าการกู้ชีพพื้นฐานหรือซีพีอาร์ เป็นการเปลี่ยนจังหวะการเต้นของหัวใจห้องล่างที่บีบตัวเร็วและที่รุนแรงจากการขาดเลือด จนกระทั่งไม่มีเลือดออกไปเลี้ยงอวัยวะส่วนอื่นๆของร่างกายให้กลับมาเต้นในจังหวะปกตินั้น เป็นเพียงการซื้อเวลาเท่านั้น เมื่อกูชีพพื้นเบื้องต้นแล้วต้องรีบส่งคนไข้ต่อไปยังโรงพยาบาล ที่มีศักยภาพสูงทันที เพื่อให้การวินิจฉัยและรักษาต่อ เช่น ให้ยาละลายลิ่มเลือด หรือต้องสวนหัวใจทำบอลลูน ซึ่งระยะเวลาตั้งแต่เกิดอาการจนแพทย์จนถึงมือแพทย์เป็นช่วงโกลเด้น period กินเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง หรือถ้าไม่มีข้อห้ามอันตรายรุนแรงก็ควรให้ยาละลายลิ่มเลือดกับผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปก่อน
สำหรับสถาบันโรคทรวงอกให้บริการผู้ป่วยหัวใจกำเริบเฉียบพลัน ต้องทำการสวนหัวใจ เปิดทำการตลอด 24 ชั่วโมงทุกวันไม่มีวันหยุดตั้งแต่ปี 2552 มีอัตราผู้ป่วยเสียชีวิตน้อยกว่า 5%
สำหรับคนแนะนำผู้ที่จะวิ่งในกิจกรรมต่างๆ ที่จัขึ้นมากในช่วงปลายปีควรทดสอบตัวเองหากมีอาการแน่นหน้าอกหายใจไม่อิ่มให้สังเกตว่าอาจเป็นโรคหัวใจกำเริบเฉียบพลันได้ ส่วนผู้ที่ไม่เคยออกกำลังกายไม่เคยซ้อมไม่แนะนำให้ไปงานวิ่ง แต่ขออย่าวิตกกังวลและตื่นตระหนกเกินไป.-สำนักข่าวไทย