สธ.6 พ.ย.-อธิบดีกรมวิทย์ แจงการตรวจหาภูมิคุ้มกัน ใช้การตรวจร่วมในการลดการกักตัว 10 วัน หาทั้งภูมิตอบสนอง IgM และภูมิคุ้มกัน IgG
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ล่าสุด กรมวิทย์ฯได้พัฒนาชุดตรวจหาแอนติบอดีต่อเชื้อ SARS-CoV-2 เป็นผู้ผลิตแรกของประเทศไทยที่ผ่านการทดสอบว่ามีความไว ความจำเพาะและความแม่นยำต่อโรคโควิด-19 มากกว่าร้อยละ 90 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1เดือน หากผ่านกรมวิทย์ฯจะผลิตเพื่อนำ มาใช้ในการสุ่มตรวจหาภูมิคุ้มกันคนไทย 60,000 คนทั่วประเทศ กระจายไปใน 12เขตสุขภาพ พื้นที่ละ 5,000 ชุด ใช้ตรวจได้ 5,000 คน เพื่อสรุปข้อมูลความชุกของโรคโควิด-19 ของไทย หากผลออกมาความชุกต่ำแสดงว่าต้องคงการ์ดสูงต่อไป เพราะแสดงว่าอัตราติดยังต่ำ ซึ่งกรมวิทย์ฯ มีกำลังการผลิตชุดตรวจหาแอนติบอดีต่อเชื้อ SARS-CoV-2ได้ 3,000 เทสต่อสัปดาห์ นอกจากนี้ยังพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เอกชนที่สนใจ นำไปผลิตเพื่อจำหน่ายได้ ซึ่งการผลิตได้เองในประเทศทำให้ต้นทุนต่ำเพียงกว่า 150 บาทต่อเทสเท่านั้น ขณะที่หากนำเข้าจากต่างประเทศ มีราคาอยู่ที่ 300-500 บาท
นพ.ศุภกิจ ยังกล่าวว่า ปัจจุบันการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ใช้วิธีการตรวจหาเชื้อไวรัสด้วยวิธี RT-PCR โดยพบว่ามีความแม่นยำเมื่อพบว่ามีอาการป่วย แต่การตรวจเพื่อลดวันกักตัวจะมีการตรวจเลือดเพิ่มเพื่อตรวจหาภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทั้ง IgM ที่เป็นภูมิตอบสนองเพื่อพบว่าป่วย เป็นการแสดงว่าเพิ่งป่วยไม่นานและมีโอกาสที่ยังแพร่โรคได้และการตรวจหาภูมิคุ้มกันหรือ IgG ที่แสดงว่า เคยป่วยมาแล้ว และไม่สามารถแพร่โรคได้
“การตรวจหาIgM จะพบเมื่อป่วยและมีการป่วยไม่นาน ส่วนการตรวจหา IgG แสดงว่าเคยป่วยมากนานมากว่า ซึ่งหากพบว่า เป็น IgM ต้องมีการตรวจเพิ่มด้วยวิธี RT-PCR เก็บตัวอย่างเชื้อที่โพรงจมูกไปตรวจซ้ำ” นพ.ศุภกิจ กล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ถ้าตรวจRT-PCR ให้ผลบวก แล้วภูมิคุ้มกัน IgG ไม่ขึ้น แสดงว่าเพิ่งป่วยไม่นาน สามารถย้อนไทม์ไลน์ผู้ป่วยได้ไม่ยาก แต่ตรวจ RT-PCR เป็นบวก และพบ IgM ภูมิตอบสนองขึ้น แสดงว่าติดเชื้อไม่นาน ยังมีโอกาสแพร่โรคได้ หากตรวจRT-PCR ผลเป็นบวก และเจอIgG ภูมิคุ้มกัน แสดงว่าป่วยมานานแล้ว เช่นกรณีแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมาใน จ.พัทลุง .-สำนักข่าวไทย