ศธ.27 ต.ค.-ศธ.เดินหน้าแก้ไขระเบียบทรงผมนักเรียน วาง 3 แนวทางแก้ ปัญหา ปัญหาที่เกิดจากตัวระเบียบ ปัญหาการตีความ และการลงโทษนักเรียน

กระทรวงศึกษาธิการ จัดประชุมคณะกรรมการพิจารณาข้อร้องเรียนของนักเรียน นักศึกษา ครั้งที่ 2 ณ ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยนายสมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI)ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาข้อร้องเรียนของนักเรียน นักศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยหลังการประชุมว่า คณะกรรมการแยกประเด็นที่มีปัญหาออกเป็น 3 ส่วน คือปัญหาที่เกิดจากตัวระเบียบเอง ปัญหาเรื่องการตีความในตัวระเบียบ และการลงโทษนักเรียน กรณีที่ครูหรือโรงเรียนเห็นว่านักเรียนไม่ได้ทำตามระเบียบ

โดยมีแนวทางแก้ปัญหาทั้ง 3 เรื่องดังต่อไปนี้
1.ข้อความระเบียบที่เป็นปัญหา คือระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 ข้อ7 ที่เขียนไว้ว่า “สถานศึกษาโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษา หรือคณะกรรมการบริหารโรงเรียนวางระเบียบเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนที่มีความเฉพาะ เจาะจงได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้”
ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้มีมติที่จะปรับปรุงแก้ไขให้เป็น “โรงเรียนไปออกกฎเฉพาะได้ แต่ระเบียบดังกล่าวจะใช้ได้ก็ต่อเมื่อผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมของนักเรียนผู้ปกครอง และชุมชนท้องถิ่น” โดยเป็นการใช้คำพูดที่เน้นการมีส่วนร่วมมากขึ้น
ขณะเดียวกันเมื่อมีการปรับปรุงแก้ไขระเบียบแล้ว ก็จะพิจารณาให้เกิดความยืดหยุ่นและคำนึงถึงเรื่องอื่นๆ ที่สำคัญด้วย เช่น การออกระเบียบใหม่เฉพาะเจาะจงจะต้องยึดเรื่องของสิทธิของเด็กเป็นตัวตั้ง และคำนึงถึงความหลากหลายทางเพศสภาพด้วย เพื่อให้รองรับกับความแตกต่างของนักเรียนมากขึ้น

2.ปัญหาเรื่องการตีความในตัวระเบียบ ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับระเบียบข้อ 4 เช่น ผมสั้นหรือผมยาวได้แค่ไหน มีผมเปียหรือผมหน้าม้าได้หรือไม่ ซึ่งไม่มีทางที่จะเขียนระเบียบทั้งหมดให้ละเอียดได้ จึงจะใช้วิธีออกแนวทางปฏิบัติ แนะนำว่าให้ทำอย่างไร มีตัวอย่างในการปฏิบัติ เช่น โรงเรียนรัตนาธิเบศร์ ใช้วิธีการออกระเบียบเฉพาะเจาะจงเรื่องทรงผม โดยมีกระบวนการปรึกษาหารือกับนักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน รวมถึงเชิญเทศบาลมาร่วมด้วย และเมื่อมีร่างกฎออกมาแล้ว ก็ให้มีระยะเวลาในการรับฟังความเห็นคัดค้านได้อีก ดังนั้น หากทำตามกระบวนการแบบนี้ได้ ทุกคนจะเข้าใจตรงกันและไม่เกิดปัญหาขึ้นอีก


3.เรื่องการลงโทษนักเรียน คณะกรรมการมีแนวทางที่จะเสนอ รมว.ศึกษาธิการ สั่งการให้ชัดเจนว่าการลงโทษ หากเห็นว่านักเรียนผิดระเบียบ จะต้องทำตามระเบียบที่มีอยู่เท่านั้น เช่น การตักเตือน การทำทัณฑ์บน ให้ทำกิจกรรมปรับพฤติกรรมต่างๆ ซึ่งต้องไม่ใช่การไปกล้อนผมเด็ก ไปคุกคามทำให้เด็กอับอาย เสื่อมเสียศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเด็ดขาด


นายวีระ แข็งกสิการ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้มีตัวแทนผู้ปกครอง ตัวแทนครู ตัวแทนผู้บริหารและตัวแทนนักเรียนเข้ามา ร่วมจำนวนมาก ถือเป็นการประชุมร่างระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งฟังประชาพิจารณ์ไปพร้อมกัน ทำให้ได้รับข้อมูลที่มีประโยชน์จากนักเรียน ครูและผู้บริหาร ส่งผลให้คณะกรรมการสามารถตัดสินใจได้รอบคอบและตรงประเด็นมากยิ่งขึ้น .-สำนักข่าวไทย