สธ.21 ต.ค.-สธ.ส่งหนังสือถึง รพ.ทั่วประเทศ เตรียมความพร้อมรับมือให้ บริการประชาชนในสถานการณ์ชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นการกำชับตามปกติ ส่วนการแสดงความเห็นทางการเมือง บุคลากรทำได้ในนามส่วนตัว ให้ระมัดระวังไม่อ้างอิงหน่วยงาน
วันนี้ (21ต.ค.)ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2563 เรื่องการให้หน่วยงานในสังกัด เตรียมพร้อมรับเหตุจากการชุมนุม ว่า เป็นมาตรการปกติที่ต้องเตรียม พร้อมไว้ก่อน ทั้งการปฐมพยาบาล การสำรองเลือด เพราะการประชุมขนาดเล็กกว่านี้ ยังต้องสั่งการให้เตรียมพร้อม เมื่อมีคนมาก โอกาสเกิดอุบัติเหตุสูงตามมาด้วย ในความคิดเห็นส่วนตัวต้องการเห็นหมอ พยาบาลรอเก้อ เพราะไม่อยากให้เกิดเหตุร้ายขึ้น แต่ก็ขอให้ผู้ชุมนุมสวมหน้ากาก และพกเจลแอลกอฮอล์ติดตัว ที่ผ่านมาเมื่อมีการชุมนุม หากไม่ใช่แฟลชม็อบ กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งหน่วยแพทย์ พยาบาล เข้าไปดูแลเรื่องสุขภาพตลอด สำหรับการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเป็นสิทธิ์ที่สามารถทำได้ หากกระทำภายใต้กรอบกฎหมาย
ด้าน นพ.ธงชัย กีรติหัตยากร รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ทำหนังสือถึงผู้บริหารสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค กำชับใน 2 เรื่อง คือ การเตรียมความพร้อมให้บริการประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมือง หากเกิดเหตุฉุกเฉินสามารถรองรับได้ เป็นการดำเนินการตามปกติ ไม่ใช่แค่การเคลื่อนไหวทางการเมือง เทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ หรือเทศกาลต่างๆก็มีการออกหนังสือและซักซ้อมสถานการณ์เช่นเดียวกัน ถือเป็นบทบาทหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขในการดูแลการเจ็บป่วยของประชาชน สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินฯ ที่บูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานคร พร้อมรองรับการดูแลประชาชนเช่นกัน
ส่วนเรื่องที่2 การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไม่ได้ห้ามในนามส่วนตัว เนื่องจากเป็นสิทธิส่วนบุคคล ไม่ควรใช้ตำแหน่งในหน่วยงานหรือองค์กร อาจกลายเป็นการดึงหน่วยงานองค์กรของทางราชการไปเกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งมีระเบียบกฎหมายอยู่ว่า ข้าราชการต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง จึงมีความเป็นห่วงบุคลากรทุกคน ขอให้มีความระมัดระวัง
“การมีหนังสือกำชับดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าต้องเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น แต่การเจ็บป่วยทั่วไปก็สามารถพบเจอได้ เช่น เป็นลม หมดสติ หรือเจ็บป่วยจากโรคประจำตัว จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือดูแลประชาชน ส่วนการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไม่ได้ห้าม แต่ในฐานะข้าราชการ ควรกระทำอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดียหรือสื่อออนไลน์ เนื่องจากอาจเข้าข่ายการกระทำที่ผิดกฎหมาย” นพ.ธงชัย กล่าว.-สำนักข่าวไทย