สธ.12 ต.ค.-กระทรวงสาธารณสุข สยามไบโอไซเอนซ์ เอสซีจี และแอสตร้าเซนเนก้า ผนึกกำลังผลิตวัคซีนโควิดสำหรับไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งเป้าพร้อมใช้กลางปีหน้า
กระทรวงสาธารณสุข สยามไบโอไซเอนซ์ เอสซีจี และแอสตร้าเซนเนก้า บริษัทผู้ผลิตชีวภัณฑ์ชั้นนำสัญชาติอังกฤษ-สวีเดน ร่วมลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) ในการผลิตและจัดสรรวัคซีนวิจัยป้องกันโควิด-19 AZD1222 ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด
ในหนังสือแสดงเจตจำนงระบุว่า ทุกฝ่ายตกลงจะทำงานร่วมกัน เพื่อเสริมศักยภาพด้านกำลังการผลิตของ บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ให้พร้อมรองรับการผลิตวัคซีนจำนวนมาก เพื่อให้ประเทศไทยและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเท่าเทียมและทันเวลา ทั้งนี้ แอสตร้าเซนเนก้า จะจัดสรรวัคซีนวิจัยดังกล่าวโดยไม่มุ่งหวังผลกำไรในช่วงแพร่ระบาดของโควิด-19 พร้อมกันนี้จะถ่ายทอดเทคโนโลยีและร่วมมือกับสยามไบโอไซเอนซ์ ในการติดตั้งกระบวนการผลิต
ความร่วมมือดังกล่าวเกิดจากการผลักดันโดยกระทรวงสาธารณสุข ที่สร้างความเชื่อมั่นต่อการผลิตในประเทศไทย ทั้งนี้ กระทรวงฯ จะได้รับวัคซีนวิจัย AZD1222 หลังจากผ่านการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด โดยมีเป้าหมายเริ่มจัดสรรวัคซีนสำหรับประชาชนชาวไทยได้ภายในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564
หนังสือแสดงเจตจำนงดังกล่าวลงนามโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พล.อ.อ. สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ประธานกรรมการ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ที่กรุงเทพฯ และมร. เจมส์ ทีก ประธานประจำประเทศไทย แอสตร้าเซนเนก้า ผ่านการประชุมออนไลน์จากกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร โดยมีนายพิษณุ สุวรรณะชฎ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน มร. ไบรอัน เดวิดสัน เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย มร. นิโคลัส วีคส์ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย และ มิส โจ เฟง รองประธานอาวุโสประจำภูมิภาคเอเชีย แอสตร้าเซนเนก้า ร่วมเป็นสักขีพยาน
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งที่แอสตร้าเซนเนก้า ได้เลือกประเทศไทยเป็นหนึ่งในฐานการผลิตของโลกผ่าน บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ การลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงแสดงถึงความคืบหน้าไปอีกขั้นในการจัดหาวัคซีนวิจัยมาใช้ในประเทศ ซึ่งจะเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ รัฐบาลยังสนับสนุนการกระจายวัคซีนวิจัยไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้ทั้งภูมิภาคกลับมาเป็นปกติได้โดยเร็ว
พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ประธานกรรมการ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เปิดเผยว่า ศูนย์การผลิตของบริษัทฯ มีเครื่องจักรที่เป็นเทคโนโลยีชั้นสูงสำหรับผลิตยารักษาโรคมะเร็งและโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง เครื่องจักรดังกล่าวสามารถประยุกต์ใช้ผลิตวัคซีนวิจัย AZD1222 เพื่อป้องกันโควิด-19 จากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด และแอสตร้าเซนเนก้า โดยหลังจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากแอสตร้าเซนเนก้ารวมทั้งขั้นตอนของ อย. คาดว่าวัคซีนชุดแรกจะพร้อมใช้ในกลางปีหน้า ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนดังกล่าวได้สำเร็จเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัทฯ จะใช้ความพยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้คนไทยและประชาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ใช้วัคซีนเร็วที่สุด
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า มีความยินดีที่ได้เป็นผู้ประสานความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด ซึ่งเป็นพันธมิตรร่วมงานด้านงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมกับเอสซีจีมายาวนาน เราเชื่อมั่นว่าความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยให้ประเทศไทยได้ใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 เร็วขึ้น รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านด้วย ซึ่งจะช่วยในการส่งเสริมให้เศรษฐกิจและสังคมไทยและอาเซียนฟื้นกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง ซึ่งต้องขอขอบคุณทีมวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าที่ได้ประสานงานความร่วมมือนี้ด้วยดีมาตลอด ทั้งนี้ มูลนิธิเอสซีจี ได้ร่วมสมทบทุนวิจัยพัฒนาวัคซีนในประเทศ 100 ล้านบาท
มิส โจ เฟง รองประธานอาวุโสประจำภูมิภาคเอเชีย แอสตร้าเซนเนก้า กล่าวว่า การเปิดกว้างให้คนจำนวนมากสามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเท่าเทียม และทันเวลา เป็นปัจจัยสำคัญแห่งความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 วันนี้จึงเป็นก้าวสำคัญสู่เป้าหมายดังกล่าว ความเป็นผู้นำและการสนับสนุนของรัฐบาลไทย ความร่วมมือของเอสซีจี และความเชี่ยวชาญด้านการผลิตระดับโลกของสยามไบโอไซเอนซ์ สร้างความเชื่อมั่นว่าจะสามารถผลิตวัคซีน AZD1222 รองรับทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนแบบนี้เป็นทางเดียวที่จะยับยั้งการแพร่ระบาดได้ และบริษัทฯ จะเสริมสร้างความร่วมมือให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเพื่อประโยชน์ด้านสาธารณสุขต่อไป
ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย สยามไบโอไซเอนซ์ เอสซีจี กับแอสตร้าเซนเนก้าและมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด นับเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือที่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ องค์กรด้านสาธารณสุขชั้นนำของโลก อาทิ องค์การอนามัยโลก กลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด (CEPI) องค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีน (GAVI) และผู้ผลิตวัคซีนทั่วโลก ผนึกกำลังเพื่อช่วยกันกระจายวัคซีนวิจัยให้ทั่วถึงโดยเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ หลังจากการทดลองทางคลินิกประสบความสำเร็จและหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องได้รับรองวัคซีนวิจัยดังกล่าวแล้ว
ทุกฝ่ายที่มาร่วมมือครั้งนี้มุ่งหวังให้การใช้วัคซีนวิจัยมีความปลอดภัยสูงสุด โดย แอสตร้าเซนเนก้าและ มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด มุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมขั้นสูงสุดภายใต้หลักปฏิบัติอันเป็นที่ยอมรับทางวิทยาศาสตร์ และทำงานร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลที่เชี่ยวชาญ อาทิ หน่วยงานกำกับดูแลยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพแห่งสหราชอาณาจักร (MHRA) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของไทยเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสำคัญ.-สำนักข่าวไทย