กทม. 19 ก.ย.-สปสช.แถลงยกเลิกคลินิกอบอุ่นใน กทม.อีก 66 คลินิก คาดมีประชาชนได้รับผลกระทบ 8 แสนคน เตรียมหาหน่วยบริการรองรับ เน้น 3 กลุ่มก่อน ได้แก่ ผู้ป่วยในที่ต้องผ่าตัด, หญิงตั้งครรภ์ และผู้ป่วยฟอกไต ส่วนกลุ่มคนทั่วไป รับบริการในทุกสถานพยาบาลที่เข้าร่วมกับ สปสช.
นายแพทย์การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการ สปสช. พร้อมด้วย ทันตแพทย์ อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. แถลงความคืบหน้ากรณีทุจริตคลินิกสวมสิทธิบัตรทอง ว่า ขณะนี้จากการตรวจคลินิกเพิ่มเติม พบมีคลินิก 66 แห่ง ส่อทุจริต ทำผิดสัญญาและมีการสวมสิทธิ์ประชาชน ทำให้ต้องยกเลิกสัญญาและปิดหน่วยบริการ ซึ่งจะมีประชาชนได้รับผลกระทบ 800,000 คน ความผิดนี้แม้จะเล็กน้อย แต่ระยะยาวกระทบต่อประชาชนแน่นอน เพราะการสวมสิทธิ์เข้ารับบริการทำให้ประชาชนไม่ได้รับการตรวจคัดกรองเบาหวาน ความดันโลหิต และยังมีผลต่อองค์กรเรื่องงบประมาณการเบิกจ่าย
นายแพทย์การุณย์ กล่าวว่า ส่วนการแก้ไขปัญหาประชาชนถูกยกเลิกบริการนี้ ระหว่างนี้สามารถไปรับบริการที่ไหนก็ได้ทุกแห่งใน กทม. ทั้งรัฐและเอกชนที่ร่วมกับ สปสช. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกันประสาน กทม.เร่งจัดหาหน่วยบริการทดแทน โดย สปสช. และ กทม.ได้รวบรมรายชื่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบ 800,000 คน ไว้เรียบร้อย อยู่ระหว่างการติดต่อเพื่อขึ้นทะเบียนและจัดหาหน่วยบริการใหม่ให้ หากประชาชนสงสัยสอบถามได้ที่หมายเลข 1330 หรือ @ LINE 1330_2 ส่วนการหาผู้ประกอบการรายใหม่มาทดแทนนั้น คาดว่าต้องใช้เวลาอีกสักระยะ เพราะอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลและเชิญชวนผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาเป็นหน่วยบริการ
ทันตแพทย์ อรรถพร กล่าวว่า สำหรับคลินิกที่พบทุจริตจำนวน 66 แห่งนี้ แบ่งเป็นคลินิกเวชกรรม 53 แห่ง คลินิกทันตกรรม 3 แห่ง และโรงพยาบาล 10 แห่ง ก่อนหน้านั้นมีคลินิกที่ถูกยกเลิกไปแล้ว 18 แห่ง รวม 84 แห่ง ขณะเดียวอยู่ระหว่างการตรวจสอบในคลินิก 107 แห่ง ว่าจะมีความผิดหรือปิดหน่วยบริการหรือไม่
สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่มีความสำคัญเร่งด่วนในการจัดหน่วยบริการ เน้นใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.ผู้ป่วยในที่นัดผ่าตัด ซึ่งตรงนี้ทาง รพ.กทม.รับไปดูแลแล้ว 2.กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ มีหน่วยบริการของ กทม.เข้าไปดูแลเช่นกัน และ 3.ผู้ป่วยฟอกไต ซึ่งถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วน โดยสปสช.ส่งรายชื่อให้กับ กทม.ร่วมดูแลแล้ว หากไม่รับการติดต่อ ขอให้ติดต่อมาที่หมายเลข 1330
ทั้งนี้ หากรวมคลินิกที่ถูกยกเลิกสัญญา รวม 84 แห่ง คาดมีประชาชนได้รับผลกระทบเกือบ 1 ล้านคน
ข้อมูลสิทธิบัตรทอง หรือ “สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” เป็นสิทธิตามกฎหมายที่รัฐบาลจัดให้คนไทยทุกคนตั้งแต่แรกเกิดและตลอดช่วงชีวิตโดยจะต้องลงทะเบียนไว้กับสถานพยาบาลที่ต้องการเข้ารับการรักษาซึ่งทั่วไปมักจะเลือกสถานพยาบาลใกล้บ้าน และล่าสุดได้ยกเลิกเก็บ 30 บาทในกลุ่มผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กรณีที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน ผู้ใช้สิทธิบัตรทองกับสถานพยาบาลอยู่คนละพื้นที่ สามารถใช้สิทธิบัตรทองแบบฉุกเฉินกับสถานพยาบาลนอกเขตพื้นที่ได้ แต่ถ้าเจ็บป่วยทั่วไปใช้สิทธิข้ามเขตต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง
คุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้บัตรทอง
1.เป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย
2.มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก
3.ไม่มีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลอื่นใดที่รัฐจัดให้ อาทิ
-ผู้มีสิทธิตามพระราชบัญญัติประกันสังคม
-ผู้มีสิทธิตามพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล
-ผู้อยู่ในความคุ้มครองของหลักประกันสุขภาพอื่นที่รัฐจัดให้.-สำนักข่าวไทย