จุฬาฯ 25 ส.ค.- รัฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดเสวนา “เข้าใจคนรุ่นใหม่ ท่ามกลาง โลกแห่งการเปลี่ยนแปลง”สะท้อนมุมมอง การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่กระแสแฟชั่น แต่คือการลุกขึ้นมาเพื่ออยากเห็นการเปลี่ยนแปลง
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวิชาการ “เข้าใจคนรุ่นใหม่ ท่ามกลาง โลกแห่งการเปลี่ยนแปลง” โดยมีนักเรียน นิสิต นักศึกษา และตัวแทนอาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ ครุศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมเสนอมุมมองและแนวคิดกับปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้น
นายวชิรวิทย์ เทศศรีเมือง นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น กลุ่มขอนแก่นพอกันที กล่าวถึงการเคลื่อนไหวในต่างจังหวัด ที่มีความหลากหลายตั้งแต่ระดับรากหญ้าจนถึงชนชั้นกลาง เงื่อนไขการเรียกร้องอาจแตกต่างจากกรุงเทพฯบ้าง เพราะมีวิถีและเพดานชีวิตที่ต่างกัน ซึ่งข้อเรียกร้องของคนต่างจังหวัด คือเรื่องปากท้อง มากกว่า เรื่องการร่างรัฐธรรมนูญ ต้องทำให้เห็นว่า หากร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ปากท้องจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร มีคำถามว่า ทำไมต้องจัดกิจกรรมต่อเนื่องแม้คนไม่เยอะ เพราะอยากทำให้เห็นว่า ทุกอย่างต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง อยากให้เปิดใจรับฟังคนเห็นต่าง พร้อมอยากฝากถึงรัฐบาล และผู้มีอำนาจ ให้ยุติการคุกคาม หวังว่าสักวันเราจะร่วมกันเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมและระบบที่ไม่ยุติธรรม
น.ส.นัญวา สันม่าหมูด นักเรียนมัธยมจากจังหวัดตรัง กล่าวว่า อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนและระบบการศึกษาของไทยเปลี่ยนแปลง เพราะโรงเรียนคือสถานที่แรกที่ต้องปลูกฝังบ่มเพาะเด็ก เยาวชนให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ เมื่อเด็กทำผิด ครูสามารถตำหนิได้ แต่หากครูทำผิดทำไมไม่สามารถบอกกล่าวครูได้ การศึกษาทำไมถึงเหลื่อมล้ำ รัฐบาลควรใช้ภาษีให้คุ้มค่า เพื่อให้การศึกษาที่เท่าเทียม
นายนัฐพงษ์ ตาแก้ว นักเรียนมัธยมจากจังหวัดพัทลุง กล่าวถึงสภาพสังคมในต่างจังหวัดที่ไม่สามารถกระจายความเจริญอย่างเท่าเทียม ส่วนเรื่องการศึกษาอยากเรียกร้องให้ผู้ใหญ่ฟังเด็กบ้าง เพราะเด็กยุคนี้ คืออนาคตของประเทศ อยากให้ครูเข้าใจ ไม่ปิดกั้นนักเรียนที่เห็นต่าง และไม่ปิดกั้นการแสดงออก การศึกษาไม่ตอบโจทย์ในหลายเรื่อง ทำไมถึงวัดเด็กด้วยเกรดและตัวเลข จำเป็นหรือไม่ที่ต้องทำการบ้าน 40-50 หน้า หรือต้องเรียน 7-8 ชั่วโมง หรือบางวิชาที่ไม่จำเป็น สามารถตัดออกได้หรือไม่
นายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี ผู้ก่อตั้งกลุ่มเยาวชนปลดแอก กล่าวถึงข้อเรียกร้องของกลุ่ม คือรัฐบาลต้องหยุดคุกคามประชาชน รวมถึงครูอาจารย์ในโรงเรียนต้องหยุดคุกคามนักเรียน ต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และยุบสภา 3 ข้อเรียกร้องนี้ ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ปัญหาไม่ได้เกิดจากปัจเจกบุคคล แต่เกิดจากโครงสร้างสังคมที่บิดเบี้ยวและทรัพยากรของประเทศอยู่ในมือของคนเพียง 10% เป็นที่มาของกานลุกขึ้นมาเรียกร้อง หยุดกล่าวหาว่าพวกเราก้าวร้าว การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ด้วยความไม่รุนแรง ต้องนำข้อเสนอของพวกเรานำไปเปลี่ยนแปลง
ด้าน ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล รัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ขณะนี้มีคำถามจากคนจำนวนมากว่า เด็กที่ออกมาเคลื่อนไหวว่า พวกเขาคือใคร เป็นแฟชั่นหรือไม่ ทำไมเพิ่งออกมาตอนนี้ จากการลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์ เด็กรุ่นใหม่ พบว่า คนรุ่นใหม่เติบโตในโลกที่หมุนอย่างรวดเร็ว และถึง ร้อยละ20 เติบโตในครอบครัวที่เปราะบาง ครอบครัวได้รับผลกระทบจากโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจ ทำให้ต้องลุกขึ้นมาปกป้องและเรียกร้องสิทธิ ความไม่เปลี่ยนแปลง เป็นสิ่งที่กดทับมาตลอด และความฝัน เชื่อว่าโลกข้างหน้าที่ต้องเผชิญต้องเปลี่ยนแปลง ซึ่งไม่เชื่อในระบบราชการ ครูบาอาจารย์เหมือนคนรุ่นเก่าแล้ว ผู้ใหญ่จะทำอย่างไรที่เรียกความเชื่อถือกลับมา จากการลงพื้นที่รับฟังจากเด็กรุ่นใหม่ มองว่าไม่ได้เป็นม็อบแฟชั่นแต่เป็นการลุกขึ้นมาเพื่อการเปลี่ยนแปลง
ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ตลอด 10ปีที่ผ่านมา จะพบเห็นโครงการของรัฐหลายอย่างที่ลงไปยังโรงเรียน และกระทบเด็ก ความเหลื่อมล้ำในโรงเรียน ไม่แปลกที่เด็ก ๆ จะออกมาส่งเสียง ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น กลายเป็นว่า โรงเรียนขนาดใหญ่ ออกมาเคลื่อนไหวมากกว่า โรงเรียนขนาดกลางและขนาดเล็ก เพราะสัดส่วนการพูดคุยระหว่างครูนักเรียนมีช่องว่าง การเปิดพื้นที่ให้เด็กออกมาพูด และคุยกันคือโอกาส นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง และพลังของนักเรียน นักศึกษา เป็นสัญญาณ สำคัญของสังคมไทย ที่จะมีคนหน้าใหม่ ออกมากระตุ้นเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม .-สำนักข่าวไทย