20 มี.ค. – กรมอนามัย แนะวิธีเช็กโซเดียมสำหรับประชาชนใน 1 วัน ไม่ควรบริโภคเกิน 2,000 มิลลิกรัม คิดอย่างไร ให้ไม่งง ย้ำลดการบริโภคอาหารหวาน มัน เค็ม ตามหลัก 6: 6:1 คือ น้ำตาล น้ำมัน ไม่เกิน 6 ช้อนชา/วัน เกลือ ไม่เกิน 1 ช้อนชา/วัน
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีกรมอนามัยเผยข้อมูลประเทศไทย เป็น 1 ใน 5 ประเทศที่มีอัตราการเกิดโรคไตสูงที่สุด แนะวิธีการป้องกันโรคไตเริ่มต้นง่าย ๆ แค่ลดการบริโภคโซเดียม ร่างกายคนเราไม่ควรได้รับโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ส่งผลให้ประชาชนอยากให้ช่วยขยายความ “กินโซเดียมไม่เกิน 2,000 ต่อวันนั้น คือ ประมาณเท่าไหร่? จะชั่ง ตวง วัด ได้อย่างไร?” ผ่านกระทู้ในหนังสือพิมพ์ กรมอนามัยจึงขอแนะนำวิธีเช็กโซเดียมใน 1 วัน เพื่อให้ประชาชนไม่สับสนและเข้าใจง่าย สำหรับดูแลสุขภาพตนเอง และคนรอบข้างเพื่อการมีสุขภาพที่ดี
นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า การป้องกันตนเองเพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับโซเดียมต่อวัน ในปริมาณที่มากเกินไป หรือเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน คือ 1. เช็กเครื่องปรุงอาหาร โดยปกติการปรุงอาหาร มักจะใช้เครื่องปรุงหลากหลายชนิดเพื่อความอร่อยและกลมกล่อม ทั้งนี้ เครื่องปรุงแต่ละชนิดมีปริมาณโซเดียมที่แตกต่างกัน เมื่อเทียบปริมาณโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม จึงเท่ากับ เกลือ 1 ช้อนชา เทียบกับ น้ำปลา 4 ช้อนชา ซีอิ๊วขาว ซอสปรุงรส 6 ช้อนชา หรือซอสหอยนางรม 4 ช้อนโต๊ะ เป็นต้น แต่การปรุงอาหารในแต่ละครั้งจะใส่เครื่องปรุงรสมากกว่า 1 ชนิด และอาหารบางชนิดอาจมีการเติมเครื่องปรุงรสต่างๆ เพิ่มเติม ซึ่งอาจส่งผลให้ได้รับปริมาณโซเดียมในแต่ละวันเกินได้ 2.อ่านฉลากโภชนาการ ด้วยการสังเกตปริมาณโซเดียมบนบรรจุภัณฑ์ ทั้งแบบที่เป็นฉลาก GDA (Guideline Daily Amount) หรือฉลากหวาน มัน เค็ม เป็นฉลากนอกกรอบขนาดเล็กที่จะแสดงข้อมูลโภชนาการ โดยแสดงค่าพลังงาน (กิโลแคลอรี) น้ำตาล (กรัม) ไขมัน (กรัม) และโซเดียม (มิลลิกรัม) มาแสดงที่ฉลากด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ และจะระบุค่าร้อยละของที่ร่างกายให้ได้รับต่อวันด้วย หากบนฉลากระบุปริมาณโซเดียม 500 มิลลิกรัม คิดเป็นร้อยละ 25 ของปริมาณที่ร่างกายได้รับต่อวัน ดังนั้น หากกินอาหารนั้นจนหมดร่างกายจะเหลือปริมาณโซเดียมที่ควรได้รับอีกเพียง 1,500 มิลลิกรัม
“ทั้งนี้ การระบุปริมาณโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม มีความชัดเจนในทางวิชาการเพื่อดูแลและป้องกันโรค สำหรับประชาชนการนับปริมาณโซเดียมที่ได้รับจากอาหารในแต่ละวันอาจเป็นเรื่องสลับซับซ้อน เช่น โซเดียมแฝง ในอาหารบางชนิดที่ไม่สามารถระบุได้ หรือการปรุงอาหารในปริมาณมาก แบ่งกินหลายมื้อ หรือแบ่งกินหลายคน ก็จะช่วยแบ่งปริมาณโซเดียมปริมาณโซเดียมที่ได้รับออกไป กรมอนามัยจึงอยากขอให้ประชาชนหันมาใส่ใจในการ
ปรับพฤติกรรมการบริโภค ลดการกินอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม ลดการปรุงอาหารรสจัด และเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูง รวมทั้งเพิ่มการกินผักและผลไม้ เพิ่มการออกกำลังกายเพื่อการมีสุขภาพที่ดี” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว. -สำนักข่าวไทย