กทม. 20 ก.พ.- เตรียมเสนอ “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นมรดกวัฒนธรรมต่อยูเนสโก พร้อมส่งเสริมมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (ICH) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
(20 ก.พ.66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมหารือร่วมกับนายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เรื่อง การจัดงานประเพณีสงกรานต์ ประจำปี 2566 และการดำเนินงานด้านมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (ICH) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
การประชุมหารือในวันนี้สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ดำเนินการเสนอสงกรานต์ในประเทศไทยเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (The Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) ต่อองค์การยูเนสโก โดยขณะนี้กระบวนการดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาขององค์การยูเนสโก กรมส่งเสริมวัฒนธรรมจึงได้หารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็นพื้นที่ที่มีการเฉลิมฉลองประเพณีสงกรานต์อย่างโดดเด่นตามภูมิหลังทางวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมที่แตกต่างกัน 4 ภูมิภาคไปเรียบร้อยแล้ว คือ ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช และภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดชลบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ รวมถึงกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีภูมิหลังทางวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมที่มีความโดดเด่น และมีการจัดงานประเพณีสงกรานต์ที่ยิ่งใหญ่มาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เป็นที่รับรู้ต่อสาธารณชนในวงกว้างทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ที่ประชุมคณะกรรมการการบูรณาการเพื่อกำหนดแนวทางการจัดงานสงกรานต์ พุทธศักราช 2566 ได้มีมติเห็นชอบแนวทางและมาตรการรณรงค์เพื่อสืบสานคุณค่าทางวัฒนธรรมเนื่องในประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช 2566 ว่า “สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจสู่สากล”
นอกจากนี้ ได้มีการหารือถึงการดำเนินงานด้านมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (ICH) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครตามที่องค์การยูเนสโกเห็นความจำเป็นในการสงวนรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม จึงได้ออกอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003 ขึ้น เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจและความร่วมมือจากนานาประเทศ รัฐบาลไทยจึงได้ตราพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. 2559 ขึ้น และได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003 เพื่อเป็นการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติทั้งในระดับประเทศและระดับสากลต่อไป ซึ่งที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร ได้ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ พ.ศ. 2560 – 2564 แล้ว 6 สาขา รวมจำนวน 29 รายการ อาทิ ตำนานแม่นากพระโขนง (เขตสวนหลวง) ตำนานท่าเตียน ยักษ์วัดโพธิ์ ยักษ์วัดแจ้ง ตำนานจระเข้ดาวคะนอง (เขตธนบุรี) ประเพณีชักพระวัดนางชี (เขตภาษีเจริญ) ประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือ วัดสุทธาโภชน์ (เขตลาดกระบัง) ขนมฝรั่งกุฎีจีน (เขตธนบุรี) ขันลงหินบ้านบุ (เขตบางกอกน้อย) เป็นต้น
ในการนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรมเสนอให้ร่วมกันสนับสนุนส่งเสริมงานด้านมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (ICH) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร สภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมในการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมประเพณีร่วมกันตลอดทั้งปี เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจในเนื้อหาสาระของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมให้แก่ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครให้ตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมร่วมกัน พร้อมทั้งจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของกรุงเทพมหานครและของชาติ และนำไปสู่การขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเสนอต่อองค์การยูเนสโกต่อไป
“สำหรับการคัดเลือกงานด้านมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในพื้นที่กรุงเทพฯ ควรเลือกวัฒนธรรมที่ร่วมสมัย คนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วมได้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยอาจเลือกวัฒนธรรม อาหาร หรือสินค้าที่เก่าแก่สมัยปู่ย่าตายาย แต่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันหรือสามารถจำหน่ายในโลกปัจจุบันได้ก็จะน่าสนใจขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยในเรื่องของการตลาด เศรษฐกิจ และแรงบันดาลใจให้ผู้ผลิต นอกจากนี้อาจจะต้องจัดให้มีการประกวด การแสดงของชุมชนที่ส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น ซึ่งเป็นการส่งเสริม Soft Power และการมีส่วนร่วมในชุมชน โดยอาจจะให้สภาวัฒนธรรมของ 50 เขตร่วมนำเสนอวัฒนธรรมท้องถิ่นในย่านของตน ก็จะเป็นการรักษามรดกวัฒนธรรมภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของกรุงเทพฯได้อย่างยั่งยืนต่อไป ซึ่งจะมีการดำเนินงานด้านส่งเสริมวัฒนธรรมของกรุงเทพฯ ด้วยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) ระหว่างกรมส่งเสริมวัฒนธรรมกับกรุงเทพมหานครอีกด้วย” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวในการประชุมหารือ .-สำนักข่าวไทย