กรุงเทพฯ 19 ก.พ. – อย. เตือนการใช้ผลิตภัณฑ์ย้อมผม อ่านฉลากให้ละเอียดก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ ทดสอบการแพ้ก่อนใช้ เพื่อความปลอดภัย หลังมีผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ย้อมผมแล้วผมร่วงแสบร้อนทั้งหัว
กรณีผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ย้อมผม ซื้อผ่านช่องทางออนไลน์แล้วเกิดอาการผมร่วงขาดเป็นจำนวนมาก แสบร้อนไหม้พอง เป็นแผลบนหนังศีรษะ เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา สั่งการตรวจสอบ พบว่าผลิตภัณฑ์ย้อมผมที่ผู้เสียหายใช้ มีใบรับจดแจ้ง โดยสถานะใบรับจดแจ้งถูกยกเลิกโดยผู้ประกอบการเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 (ตรวจสอบวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566)
ทั้งนี้ อย. ได้เข้าตรวจสอบสถานที่นำเข้าและเก็บตัวอย่างเครื่องสำอางเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์แล้ว สำหรับผู้ที่ซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปใช้หรือขาย ให้สังเกตวันเดือนปีที่ผลิต ต้องเป็นรุ่นที่มีการผลิตและนำเข้าก่อนวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 (วันที่ยกเลิกใบรับจดแจ้ง) หากพบเป็นรุ่นการผลิตหลังจากวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 อย่าใช้ให้รีบติดต่อร้านค้าแหล่งขายเพื่อขอคืนสินค้าต่อไป
ผู้บริโภคควรตรวจสอบข้อมูลการได้รับอนุญาตที่เว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th หัวข้อ ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ ข้อมูลต้องตรงกับที่ปรากฎบนฉลาก และมีสถานะใบรับจดแจ้งคงอยู่ และก่อนซื้อให้พิจารณาว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมีฉลากภาษาไทย ระบุชื่อ ประเภทเครื่องสำอาง แสดงชื่อสารทุกชนิดที่ใช้เป็นส่วนผสม มีชื่อ – ที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า ปริมาณสุทธิ ครั้งที่ผลิต เดือนปีที่ผลิต เดือนปีที่หมดอายุ (สำหรับเครื่องสำอางที่มีอายุการใช้น้อยกว่า 30 เดือน) คำเตือน และเลขที่ใบรับจดแจ้ง ควรซื้อจากร้านค้าที่น่าเชื่อถือและมีชื่อ – ที่ตั้งแน่นอน หากใช้แล้วเกิดปัญหาสามารถติดตามย้อนกลับได้ ทั้งนี้ การใช้ผลิตภัณฑ์ย้อมผมจะต้องปฏิบัติตามวิธีใช้และคำเตือนที่ระบุบนฉลากอย่างเคร่งครัด และเพื่อความปลอดภัยแนะนำให้ทดสอบการแพ้ก่อนใช้ โดยการทาเครื่องสำอางในปริมาณเล็กน้อยที่บริเวณท้องแขนหรือหลังใบหู แล้วทิ้งไว้ 24 – 48 ชั่วโมง หากเกิดความผิดปกติ เช่น ผื่นคัน ระคายเคือง ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์นั้น
อย. ขอย้ำเตือน ผู้นำเข้าเครื่องสำอางต้องมีความรับผิดชอบต่อสินค้าที่นำเข้ามาขาย คัดเลือกผลิตภัณฑ์จากโรงงานที่น่าเชื่อถือ ผู้ขายต้องตรวจสอบการจดแจ้งและจัดทำฉลากภาษาไทยที่ครบถ้วน ถูกต้องก่อนจำหน่ายแก่ผู้บริโภค หากมีการแสดงฉลากด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง ผู้นำเข้า/ผู้ผลิต / ผู้รับจ้าง จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ขายจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กรณีเครื่องสำอางไม่มีฉลากภาษาไทย หรือมีข้อความอันจำเป็นไม่ครบถ้วน ผู้นำเข้า/ผู้ผลิต / ผู้รับจ้างผลิตจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ขายจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ดังนั้นผู้ขายเครื่องสำอางทางออนไลน์จึงมีหน้าที่ตรวจสอบด้วยว่าเครื่องสำอางที่ขายได้รับการจดแจ้งอย่างถูกต้อง มีการแสดงฉลากภาษาไทยครบถ้วนถูกต้อง เพราะผู้บริโภคที่ซื้อทางออนไลน์ไม่มีโอกาสได้เห็นสินค้าและฉลากของผลิตภัณฑ์จริง หากผู้บริโภคพบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่สงสัยว่าจะไม่ปลอดภัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line@FDAThai, .-สำนักข่าวไทย